Thailand Web Stat
    








(เพจ: โรงเรียนกีตาร์ไทย)


(เพจ: Guitarthai.com)
  ต้องการทราบประวัติของกีตาร์ PRS ครับ  
 
ได้ไปเจอกีต้าร์ตัวนี้ที่ร้านขายเครื่องดนตรีแห่งหนึ่งในกรุงเทพ เลยมีความสงสัยครับ ว่าคำSEกับCustom 24 มันมีที่มายังไง และอยากรู้ว่าตัวที่ถูกที่สุดกับแพงที่สุด ที่ราคาเท่าไหร่ครับ


markkysaw   14 พ.ย. 62   เวลา 19:49:00       พิมพ์   แจ้งลบ      IP = 183.88.61.11
 


  คำตอบที่ 1  
 
กีตาร์ PRS – ความเป็นมาและกีตาร์รุ่นต่างๆ

ผมไม่ได้เล่นกีตาร์เป็นอาชีพ แต่เคยมีกีตาร์รุ่นสูงๆในครอบครองอยู่บ้าง จากที่เคยเก็บข้อมูลก่อนซื้อไปจนถึงช่วงเวลาที่ใช้งาน ก็ทำให้ได้รู้จักกีตาร์บางรุ่นบางยี่ห้อพอสมควร ผมจึงอยากจะแชร์ประสบการณ์นั้นกับเพื่อนๆ เผื่อจะมีประโยชน์สำหรับคนที่กำลังหาข้อมูลหรือกำลังตัดสินใจเลือกซื้อ ผมจะทยอยเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจของกีตาร์พวกนั้นนะครับ

ผมขอเริ่มจากแบรนด์กีตาร์ที่ผมชอบมากที่สุดและเคยซื้อหามาเล่นครับ มันคือ Paul Reed Smith หรือที่เพื่อนๆรู้จักกันในชื่อ PRS นั่นเองครับ

PRS ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1985 โดย Mr. Paul Reed Smith ที่เมือง Stevensville รัฐ Maryland สหรัฐอเมริกา เป็นยี่ห้อที่มีดีไซน์และงานตกแต่งที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะ inlay รูป “นก” บนฟิงเกอร์บอร์ด ก่อนจะมาเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์กีตาร์ที่นักกีตาร์ใฝ่ฝันอยากครอบครองมากที่สุดแบรนด์หนึ่งนั้น ลุงพอลสร้างชื่อเสียงจากช่างทำกีตาร์โนเนมด้วยการสร้างกีตาร์แฮนด์เมดงามๆ เอาไปให้ศิลปินดังๆ ของยุค 70s เล่น หนึ่งในนั้นคือ Carlos Santana, Peter Frampton, Howard Leese, Neal Schon ได้เล่น ซึ่งเมื่อผู้คนเห็นกีตาร์ของคุณลุงที่ศิลปินดังเล่น ก็เกิดความสนใจอยากรู้จักและพากันไปสั่งทำบ้าง จนลุงพอลแกผันตัวจากการเป็นช่างทำกีตาร์ตามสั่งมาเป็นแบรนด์ผู้ผลิตจริงจังด้วยการเปิดตัวกีตาร์รุ่น Custom 24 เมื่อปี ค.ศ. 1985 จึงมีเงินทุนสำหรับขยายกิจการตั้งโรงงานผลิตเล็กๆ จากนั้นกิจการโตวันโตคืน จนในปี 1995 แบรนด์ PRS ก็มีโรงงานแห่งใหม่ขนาดใหญ่ที่มีเครื่องจักรทันสมัย ผลิตกีตาร์ PRS USA สวยๆมาให้คนรักกีตาร์น้ำลายหกกันจนถึงทุกวันนี้
แม้ PRS จะเริ่มต้นจากการผลิตกีตาร์ hi-end ในอเมริกาและมีราคาสูง (ปัจจุบัน รุ่นเรือธงอย่าง Custom 24 ราคา ณ เดือนกันยายน 2560 อยู่ที่ประมาณตัวละหนึ่งแสนบาทต้นๆ) แต่ PRS ก็ใส่ใจความต้องการของลูกค้าซึ่งมีหลากหลายความต้องการ PRS จึงแยกไลน์ผลิตกีตาร์เป็นหลายระดับราคา เรียงลำดับราคาจากต่ำไปสูงได้ดังนี้ครับ


SE Standard

กีตาร์ในไลน์ SE Standard (SE ย่อมาจาก Student Edition) เป็นรุ่นราคาประหยัดที่ผลิตในอินโดนีเซีย ราคาหมื่นกลางๆ จุดสังเกตหลักๆคือ กีตาร์ในช่วงราคานี้จะดูดิบๆ พวกอะไหล่ ปิคอัพ ส่วนประกอบหลักๆ จะแชร์กับไลน์ที่ผลิตในเกาหลี บอดี้ไม้มาฮอกกานีทำสีทับ แต่ไม่มีการแปะลายไม้ maple veneer บนบอดี้กีตาร์ สำหรับกีตาร์ในไลน์นี้จะเป็นพวก SE Standard 24, SE Standard 22, SE Standard 245 เป็นต้น ผมว่า กีตาร์ในกลุ่มนี้ ตัวที่ทำสีทึบก็สวยไปอีกแบบ และได้ความคุ้มค่าคุ้มราคาดีครับ

SE

เขยิบขึ้นมาอีกนิดกับรุ่นผลิตในเกาหลี (แต่ในปี 2018 เริ่มมีผลิตในอินโดนีเซียบ้างแล้ว ที่พบก็มี SE Custom 24) ซึ่งเป็นที่นิยมมากในบ้านเรา เนื่องจากงานสวยกว่าคู่แข่งหลายๆเจ้า ราคาคุ้มค่า และดูละม้ายคล้ายรุ่น USA มากขึ้น (ดูหรูขึ้นว่างั้นเถอะ ยิ่งปี 2017 นี้มีการอัพเกรด เพิ่มลายเซ็นลุงพอลบน headstock ให้ด้วย) ราคาประมาณสองถึงสามหมื่น กีตาร์ในกลุ่มนี้ก็จะมีรุ่น SE Custom 24, SE Custom 22, SE 245 รวมถึงรุ่นลายเซ็นของศิลปินส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในไลน์นี้ เช่น SE Tremonti Custom, SE Santana, SE Orianthi, SE Mark Holcomb นอกจากนี้ PRS SE ยังมีกีตาร์โปร่งด้วยนะครับ ซึ่งสำหรับในปี 2018 (2561) นี้ก็มีการเปิดตัวกีตาร์โปร่ง SE 6 รุ่น

S2

ย่อมาจาก Stevensville 2 เป็นไลน์ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2013 เป็นรุ่นราคาเริ่มต้นสำหรับ PRS ที่ผลิตในโรงงานเมือง Stevensville รัฐ Maryland สหรัฐอเมริกา เริ่มใช้อะไหล่ดีขึ้น เช่น ลูกบิดล็อกสาย control knobs แบบ USA และผลิตขึ้นโดยช่างของ PRS ที่โรงงานในแมรีแลนด์เลย ราคาเริ่มต้นของ S2 อยู่ที่ประมาณสี่หมื่นกลางๆ ดีไซน์ของ S2 ที่แตกต่างจากไลน์อื่นๆ คือ การใช้ไม้เมเปิลท็อปแท้ (สำหรับรุ่นที่ไม่ใช่ S2 Standard) แต่ไม่เน้นลวดลายมากนัก และใช้กรรมวิธีปาดเหลี่ยมบอดี้ (bevel) โมเดลหลักๆของไลน์นี้ก็เช่น S2 Custom 22 – 24, S2 Standard 22 – 24, S2 Vela

Bolt-on

เป็นรุ่น USA ระดับสูงขึ้นมาจาก S2 หน้าตาดูใกล้เคียงกับ core models มากขึ้น คือใช้ไม้เมเปิลทอปที่มีส่วนโค้งมนมากขึ้นที่เรียกว่า modified carve มีขอบไบดิ้งเหมือนกัน แต่ลายไม้ท็อปจะเป็นเกรดเดียวกับ S2 (คือไม่เน้นลายสวย) เอกลักษณ์ของรุ่นนี้ก็ตามชื่อ คือคอทำจากไม้เมเปิ้ลและยึดคอกับบอดี้ไว้ด้วยน็อต (bolt) มีแผ่นเพลทโลหะประกบ (คล้ายกีตาร์ Fender) รุ่น Bolt-on สนนราคาอยู่แถวๆเจ็ดหมื่นกว่าบาท ปัจจุบันมีรุ่น CE 24, CE 24 Standard Satin (CE ย่อมาจาก Classic Electric) อันที่จริง CE เคยอยู่ในสายการผลิตเมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อนก่อน แต่เลิกผลิตไปในช่วงต้นปี 2000

Core

รุ่นมาตรฐานต้นตำรับของ PRS มีความสวยงามสมราคา (แต่มาปีหลังๆนี่ ต้องเลือกกันหน่อยครับ ไม้สวยๆหายากขึ้น ราคาสูงขึ้น จะหวังให้รุ่นมาตรฐานยังมีลวดลายอย่างสมัยห้าปีสิบปีก่อนนี่ ตอนนี้ยากแล้วครับ) ใช้ไม้เมเปิ้ลท็อปเกรดดี เก็บรายละเอียดดีมาก อะไหล่ USA ไม่มีเกาหลีปน พวกรุ่นเรือธงสร้างชื่อที่อยู่ในไลน์นี้ก็พวก Custom 24, Custom 22, Floyd 24, Hollowbody, McCarty, McCarty 594, SC 245, SC 594 พวกรุ่นลายเซ็นเวอร์ชั่นออริจินอล เช่น Tremonti, DGT, Santana รวมถึงรุ่นที่มีปิคอัพหรือการจัดวางระบบไฟฟ้าแหวกแนวอย่างพวก 509, 513, 408, Paul’s Guitar

Limited Edition

เป็นรุ่นผลิตจำนวนจำกัด บางครั้งก็จำกัดจำนวนที่จะผลิต บางครั้งจำกัดระยะเวลารับออเดอร์ กีตาร์ในกลุ่มนี้มีตั้งแต่เกาหลี USA Signature เท่าที่เห็นมาสเปคกีตาร์ลิมิเต็ดมักจะไม่ได้พิสดารอะไรมาก แต่มักจะเป็นการปรับเปลี่ยนสเปคบางอย่างจากมาตรฐาน เช่น ทำสีพิเศษ เพิ่ม/ลดสเกลคอ ลงปิคอัพตัวอเมริกา(กรณีเป็นกีตาร์ที่สเปคต่ำกว่า Core) และบางครั้งบริษัทก็ขยายการผลิตกีตาร์ลิมิเต็ดที่สเปคสูงๆบางรุ่น ลงไปสู่ไลน์ Core หรือ SE (โดยมีการลดสเปคลง) ซึ่งตรงนี้ผมเองก็ไม่แน่ใจนะครับว่าเขาได้แพลนไว้แล้วว่าจะทำ mass production หรือว่ารอดูการตอบรับของตลาดจากยอดขายเวอร์ชั่นลิมิเต็ดก่อน หรืออาจเป็นไปได้ทั้งสองกรณี

มันก็ยากเหมือนกันนะครับถ้าจะให้จัดกีตาร์ในกลุ่มนี้โดยเรียงตามลำดับราคา เพราะมันอาจจะเป็นรุ่นเกาหลีที่แค่แปะไม้ลายแปลกๆ อาจเป็น Custom 24 ที่แค่เพนท์สี fade หรืออาจไปถึงรุ่นพระกาฬตัวละล้านอย่าง Dragon 2002

อันนี้ผมจัดระเบียบของผมเองนะครับ เพราะค่ายนี้เขาก็ไม่ได้จัด grouping กีตาร์ชัดเจนเท่าไหร่นัก

Private Stock

ไลน์ที่เป็นที่สุดของแบรนด์ (ถ้าไม่นับพวกลิมิเต็ดสะสมขึ้นหิ้ง) จะเรียกว่าเป็น Custom Shop ของ PRS ก็ว่าได้ กีตาร์ในไลน์การผลิตนี้จะรับทำตามออเดอร์ของลูกค้าเป็นหลักซึ่งมักจะมีความแปลกแหวกแนว อาจเลือกใช้ไม้แตกต่างจากสเปคปกติของรุ่นนั้นๆ บางทีก็ใช้วัสดุประดับแปลกๆ ทำ inlay ตามใจฉัน ใช้เลย์เอาท์การวางคอนโทรลแปลกๆ จัดวาง/ผสมปิคอัพตามใจลูกค้า ใช้สเกลไม่ตรงรุ่น เพิ่มจำนวนสาย บลาๆๆๆ PS แต่ละตัวจึงมีความ unique เฉพาะตัวจนแทบไม่ซ้ำกัน

นอกจากรับทำตามออเดอร์ของลูกค้าแล้ว แผนก PS ยังผลิตกีตาร์รุ่นลายเซ็นให้กับศิลปินบางคนด้วย เช่น John Mayer Super Eagle, Al Di Meola, Dweezil Zappa เป็นต้น

ส่วนราคาเริ่มต้นก็มากพอจะเอาไปดาวน์รถยนต์ได้สบายๆ
นอกจากกีตาร์แล้ว PRS ยังมีเบสและแอมป์ด้วย ทั้งระดับ SE, Core, และ PS แต่รุ่นสินค้ายังมีไม่มากนัก และผมก็สังเกตว่าไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจสินค้าทั้งสองกลุ่มนี้ของ PRS เท่าไหร่นัก เพราะดูเหมือนหลายแบรนด์ที่เป็นเจ้าตลาดเบสและแอมป์ต่างก็ขยันพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาตอบโจทย์ลูกค้าอยู่ตลอดอยู่แล้ว ซึ่งสำหรับ PRS ผมคิดว่าคงต้องขยันทำตลาดกว่านี้หน่อย


   saran.14  15 พ.ย. 62   เวลา 1:26:00    IP = 182.232.246.88
 


  คำตอบที่ 2  
 
PRS – Bird Inlay Part 1 – ทำไมต้องนก?

พูดถึงกีตาร์ยี่ห้อนี้แล้ว ผมเชื่อว่าเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของมัน ที่เพื่อนๆหลายคนจะนึกถึงอันดับแรกๆ คือ อินเลย์รูปนกบนฟิงเกอร์บอร์ด แต่เคยสงสัยมั้ยครับว่า ทำไมต้องนก? ทำไมถึงเป็นรูปแมว หมา ปลาทอง ไก่ชน (แบบของน้าแอ๊ด) ไม่ได้ แล้วนกแต่ละตัวมันมีความหมายอะไรไหม หรือทำไว้สวยๆเฉยๆ วันนี้ผมมีเรื่องราวเกี่ยวกับฝูงนกของลุงพอลมาเล่าครับ


Why birds – ทำไมต้องเป็นนกล่ะ?
คุณลุงพอลในวัยเด็กมีความสนใจเรื่องนกตามคุณแม่ซึ่งเป็นนักดูนก สองแม่ลูกมักจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับนกด้วยกันเสมอ ดูนกด้วยกันบ้าง ยืมเทปเพลงเกี่ยวกับนกจากห้องสมุดมาฟังด้วยกันบ้าง บางทีตอนกลางคืนก็เปิดหน้าต่างเพื่อฟังเสียงนกที่ออกหากินเวลากลางคืน (ถ้าทำแบบนี้ที่บ้านเรา ลุงแกคงป่วยเป็นไข้เลือดออก) ด้วยเหตุนี้ลุงพอลจึงมีความผูกพันกับสัตว์ชนิดนี้มาตั้งแต่เด็ก และเมื่อต้องออกแบบอินเลย์กีตาร์ของตัวเองจึงไม่รีรอที่จะนำเอาความผูกพันกับนกที่มีมาตั้งแต่เด็กมาถ่ายทอดรังสรรค์ในงานออกแบบกีตาร์ของตัวเอง จนได้นก 10 ตัวมาอยู่บนฟิงเกอร์บอร์ดกีตาร์ PRS ที่เราต่างคุ้นตากันดี (สำหรับกีตาร์ที่มี 22 เฟรทจะมีนก 9 ตัว และมากสุด 11 ตัว สำหรับ 20th & 30th Ann. Custom 24)

การออกแบบอินเลย์นกแต่ละตำแหน่งนั้นถือว่ามีความท้าทายอยู่ไม่น้อย เพราะต้องพยายามสื่อถึงเอกลักษณ์ของนกสายพันธุ์นั้นๆ ให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ซึ่งการสร้างอินเลย์จะว่าไปแล้วก็เหมือนการเล่นเงาให้เป็นรูปร่างต่างๆ ที่รูปร่างจะต้องถ่ายทอดอย่างชัดเจนจึงจะสื่อสารได้ว่าเป็นรูปอะไร กว่าจะปิดจ๊อบการออกแบบนกแต่ละ position ได้ ลุงแกบอกว่าก็เหนื่อยนะ เพราะอยากออกแบบให้นกแต่ละตัวมีท่าทางที่สื่อถึงคาแรคเตอร์ของนกตัวนั้น ซึ่งลุงก็ไปเรียกเพื่อนๆมาช่วยออกแบบให้ ซึ่งนกที่ปิดจ๊อบยากที่สุดก็เฟร็ทที่ 15, 17 กับ 21 ส่วนตัวสุดท้ายซึ่งเป็นนกฮูกเกาะกิ่งไม้นั้น ลุงแกบอกว่ามีคนมองว่าเหมือนเต่าบินได้ 555

กีตาร์ที่ลุงพอลถือในรูปคือกีตาร์ที่ทำให้ Peter Frampton ในปี 1976 ซึ่งตอนที่ทำกีตาร์ตัวนี้ลุงพอลอายุ 20 ปี เป็นกีตาร์ตัวแรกที่ลุงเอาดีไซน์นกมาใช้ทำอินเลย์ นกทุกตัวตัดด้วยมือจากคีย์เปียโนเก่าที่ทำจากเปลือกหอยมุก (mother of pearl) ทีละตัวๆ ต่อมาทางบริษัท PRS ติดต่อขอซื้อคืนจากแฟรมพ์ตัน เพื่อเอามาโชว์ที่พิพิธภัณฑ์ของ PRS ลุงกล่าวถึงช่วงเวลานั้นว่า “เมื่อผมต้องออกแบบอินเลย์กีตาร์ของตัวเองเป็นครั้งแรก ผมไม่คิดอะไรมากมาย ก็แค่ตรงไปที่ร้านหนังสือเพื่อซื้อหนังสือคู่มือการดูนก แล้วก็เริ่มลงมือออกแบบอินเลย์เลย”



   saran.14  15 พ.ย. 62   เวลา 1:27:00    IP = 182.232.246.88
 


  คำตอบที่ 3  
 
แล้วมีนกอะไรบ้าง
เนื่องจากการออกแบบนกของลุงพอลนั้น เกิดจากความตั้งใจและมีที่มาที่ไปชัดเจน ไม่มโน ดังนั้น อินเลย์รูปนกทุกตัวจึงออกแบบตามนกที่มีอยู่จริง และมีชื่อตามจริงทั้งหมด

แล้วนกอะไรหน้าตาเป็นยังไงบ้าง ผมรวบรวมไว้ให้ตามนี้ครับ ไล่จากเฟรท 3 นะครับ

เฟรท 3: เหยี่ยวเพเรกริน (Peregrine falcon)

เฟรท 5: เหยี่ยวทุ่ง (Marsh Hawk)

เฟรท 7: นกฮัมมิ่งเบิร์ดรูบี้โธรท (Ruby Throated Hummingbird)

เฟรท 9: นกนางนวลแกลบธรรมดา (Common Tern)
เฟรท 12: เหยี่ยวคูเปอร์ (Coopers Hawk)

เฟรท 15: เหยี่ยวไคท์ (Kite hawk)

เฟรท 17: นกกระจอกบินโฉบ (Sparrow Landing)

เฟรท 19: นกโต้คลื่นสีคล้ำ (Storm Petrel)

เฟรท 21: เหยี่ยวบินโฉบ (Hawk Landing)

เฟรท 24: นกฮูกสครีทเกาะกิ่งไม้ (Screech Owl On A Branch)



เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนแบบรายตัว ลองดูตามรูปประกอบแบบบ้านๆ ที่ผมทำไว้ตามนี้เลยครับ



   saran.14  15 พ.ย. 62   เวลา 1:29:00    IP = 182.232.246.88
 


  คำตอบที่ 4  
 
ซึ่งก็แน่นอนว่าเขาจดสิทธิบัตรไว้แล้ว ชื่ออย่างเป็นทางการคือ PRS Bird Inlay Position Markers มีผลทางกฎหมายตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524)


เป็นยังไงกันบ้างครับกับเรื่องราวของฝูงนกบนฟิงเกอร์บอร์ดกีตาร์ PRS ส่วนตัวผมชอบตรงที่ลุงพอลแกเอาสิ่งที่ชอบจากงานทั้งสองอย่างที่ไม่ได้เกี่ยวกันเลยมารวมไว้ด้วยกันแล้วลงมือทำมันออกมาด้วยความตั้งใจ ไม่คิดเยอะ เจอปัญหาอะไรก็หาเพื่อนๆมาช่วยแก้ปัญหากันไป เอาจริงๆลุงแกก็ไม่ได้เทพถึงขนาดสร้างทุกอย่างได้โดยลำพังคนเดียวนะครับ แต่น่าจะเป็นคนที่กล้าคิดกล้าทำและแก้ปัญหาต่างๆได้ดีซะมากกว่า

ดูเรื่องราวของแกแล้วผมก็นึกถึงตัวเองเหมือนกันนะ เพราะผมเป็นคนคิดเยอะ คิดนาน เรื่องอะไรถ้าไม่มั่นใจตรงจุดไหนผมก็มักจะเอาแต่คิดๆๆ แต่ไม่ลงมือทำ อาจจะเพราะกังวลกับความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น กลัวคนล้อ หรือกลัวคำติเตียนผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

แต่พอเวลาผ่านไปเมื่อโตขึ้นผมเริ่มคิดได้ว่า คนเราคงไม่มีใครทำอะไรแล้วไม่เคยผิดพลาดเลย การเอาแต่หลบอยู่ใน safe zone ไม่ได้ช่วยอะไร ตรงกันข้าม การกล้าลงมือทำแล้วเผชิญกับอุปสรรคมากกว่า ที่อาจช่วยให้เราได้อะไรใหม่ๆ อาจเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ หรือสุดท้ายถ้ามันไม่สำเร็จจริงๆ อย่างน้อยผมก็สามารถบอกตัวเองได้ว่า ได้ทำแล้วนะ ก็จะได้หายคาใจ ได้ปลดล็อกตัวเองจากพันธนาการในใจ และได้รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง

ที่มา : https://www.moopanuwat.com/2018/01/14/%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C-prs-%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B5/

   saran.14  15 พ.ย. 62   เวลา 1:30:00    IP = 182.232.246.88
 


  คำตอบที่ 5  
 
ขอบคุณท่านsaran.14ครับ

   itti      18 ธ.ค. 62   เวลา 10:02:00    IP = 119.46.176.222
 
 

Bigtone.in.th Online Music Store

Yamaha



ตั้งกระทู้ Login ก่อน Click ที่นี่
ผู้ตอบ :
รูปภาพ:  ( ไม่เกิน 150 K )
ข้อความ :
 

any comments, please e-mail   guitarthai@gmail.com (นายดู๋ดี๋)
© All rights reserved 1999 - 2015. All contents in this web site are the properties of www.guitarthai.com and Saratoon Suttaket