|
 |
หลังจากอีสป, ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน และสองพี่น้องตระกูลกริมม์ ปรึกษาหารือและทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่พักเล็กๆ
ด้วยเหตุที่ไม่แน่ใจว่าจะจัดเรื่องราวต่อไปนี้เป็นนิทานดีหรือไม่ แม้ว่านิทานของสองพี่น้องตระกูลกริมม์มักจะเจือความมืดอยู่บ้าง
แต่เรื่องราวต่อไปนี้พวกเขาก็ไม่อาจยอมรับว่าเป็นเรื่องตามแนวทางที่ตนถนัด แต่สุดท้าย นักเล่านิทานระดับโลกทั้งสี่ก็ลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า เรื่อง 'เด็กน้อยกับตู้เย็น' พอจะกล้อมแกล้มให้เป็นนิทานได้
เป็นนิทานแห่งศตวรรษที่ 21 ที่พวกเขาทั้ง 4 คนยังหาบทสรุปของ 'นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...' ไม่ได้
..........................
กาลครั้งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ บนผืนแผ่นดินของประเทศสารขัณฑ์ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ละครหลังข่าว คอร์รัปชัน และอำนาจนิยม
ณ เมืองหลวงของประเทศที่มีชื่อว่า 'บางกอกมหานคร' ถอยออกไปในย่านที่เรียกว่า อ่อนนุช ที่ชุมชนแห่งนี้มีบ้านหลังเล็กกะทัดรัดมากๆ
ก่อขึ้นจากอิฐบล็อก หลังคาสังกะสีสีเขียวตั้งอยู่บนพื้นที่ของรัฐที่องค์กรสาธารณกุศลแห่งหนึ่งมาสร้างไว้ให้
เขยิบไปหน่อยมีลำคลองที่ป่วยกระเสาะกระแสะวิ่งผ่าน (แต่ยังไม่ตายเหมือนแสนแสบ)
บ้านเล็กๆ หลังนี้เป็นแหล่งพักพิงของ 3 ชีวิต แม่ 1 ลูก 2 (ชาย 1 หญิง 1) มีความอัตคัดขัดสนเป็นเพื่อนที่คุ้นเคยที่สุด
ผู้ที่เชื่อในอำนาจเงินตรา คำพูดว่าเมื่อเงินเดินเข้าทางประตู ความรักก็โบยบินออกทางหน้าต่าง คำพูดนี้ไม่เป็นความจริงสำหรับบ้านเล็กหลังนี้
เหตุผลที่เข้าใจง่ายๆ คือมีเงินแค่ 180 บาทต่อสัปดาห์ บวกกับเงินที่ทางสมาคมแห่งนั้น มอบให้อีกเดือนละ 1,500 บาทเท่านั้นที่เดินเข้าบ้านหลังนี้
อีกทั้งแม่ลูกทั้ง 3 คนก็ไม่เชื่อนักว่าเงินจะทำให้ความรักในครอบครัวโงนเงน เพราะยามนี้นอกจากเงินแล้ว
ความรักคือสิ่งสำคัญที่สุดที่คอยค้ำจุนชีวิตผู้เป็นแม่และลูกชายคนโตวัย 13 ปี
ตั้ม (นามสมมติ) เด็กชายวัย 13 ปีที่ดูจะตัวเล็กเกินไปสำหรับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน ใบหน้าตอบๆ ที่ดูแก่กว่าวัยและร่างกายผอมๆ ของเขา
มันดูขัดกับความร่าเริงของวัยเด็ก ก็คงเพราะความร่าเริงของวัยเด็กนี่เองที่พอจะช่วยปกปิดความผิดปกติของตั้มไว้ได้
ท่านผู้อ่านคงกำลังอยากรู้ว่าตั้มเป็นอะไร ลองไปฟัง แดง (นามสมมติ) แม่ของตั้มกัน
"ตอนที่ตั้งท้องน้องคนเล็กของตั้ม ไปตรวจเลือด แล้วผลเลือดมันออกมาก็เลยรู้ว่าเราติดเชื้อ (เอชไอวี) ตอนแรกๆ ใจไม่ค่อยดี
ทานข้าวไม่ค่อยได้ เพราะไม่มียารักษา คิดว่าตัวเองต้องตายแน่ๆ แต่พอดีปี 43 มียาต้านไวรัสเข้ามา"
เมื่อแดงรู้ว่าตนเองติดเชื้อ ด้วยความกังวลเธอจึงพาตั้มซึ่งตอนนั้นอายุได้ 4 ขวบครึ่ง กับลูกสาวคนเล็กไปตรวจเลือด
ผลที่ออกมาคือลูกสาวของเธอโชคดี แต่ตั้มโชคร้าย ยังไม่จบแค่นั้น ผ่านไปได้อีกปีเศษพ่อของตั้มก็สู้กับโรคร้ายไม่ไหวและจากไป
เหลือเพียงแดง ตั้ม และ ตุ๊ก (ลูกสาวคนรอง-นามสมมติอีกเหมือนกัน) ที่ยังแบเบาะ
เธอเล่าว่าช่วงที่สามีนอนป่วยอยู่ที่บ้าน ตั้มเองก็ล้มป่วยบ่อยแทบจะไม่รอดเหมือนกัน แม้ว่าตอนนั้นตั้มจะได้รับยาต้านไวรัสแล้ว
และกำลังต่อสู้กับเชื้อร้ายในตัวอย่างแข็งขัน ขณะที่แดงยังไม่ได้รับยาต้านไวรัส พอดีมีนายแพทย์จากโรงพยาบาลบำราษฎร์นราดูรมาตรวจที่บ้าน
และแนะนำให้เธอไปรับยาที่โรงพยาบาล เธอยังจำวันแรกที่รับยาได้ 5 สิงหาคม 2543 เกือบ 7 ปีแล้วที่ยาต้านไวรัสยื้อชีวิตของเธอเอาไว้
"ตั้มเขาตัวเล็ก ตอนเกิดมาหนักแค่โลครึ่งเอง คิดว่าจะไม่รอดแล้ว ต้องเปลี่ยนสูตรยาบ่อยมาก จนหลังสุดนี่ได้ยาคาเล็ตตร้า (Kaletra) ก็ดีหน่อย
แต่ก่อนทำงานคนเดียวได้เงินมาก็เอามารักษาตั้มหมด แล้วยังเช่าบ้านอยู่ด้วย ค่าห้องก็พันสาม ค่าพาลูกไปรักษาแต่ละครั้งเป็นพัน"
ยังดีตรงที่เธอใช้สิทธิประกันสังคมได้ และตั้มมีบัตร 30 บาทรักษาทุกโรคคอยช่วยเหลือ มิเช่นนั้น นิทานเรื่องนี้อาจจบตั้งแต่ยังไม่ทันได้เล่า พูดถึงยาคาเล็ตตรา หลายคนน่าจะคุ้นๆ ชื่อนี้อยู่บ้าง เพราะมันคือยา 1 ใน 3 ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ มาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing) เป็นยาที่ผลิตโดยบริษัท แอ็บบอต ลาบอแรตอรีส ...และแล้วตัวละครสำคัญตัวเดิมในนิทานเรื่องยาก็ปรากฏ ส่วนตัวละครตัวนี้จะมีบทบาทในนิทานเรื่องนี้อย่างไร โปรดติดตาม
เพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไป ตั้มจำเป็นต้องกินยาคาเล็ตตราวันละ 8 เม็ด เช้า 4 เย็น 4 ซึ่งถ้าใครเคยประสบพบเจอคาเล็ตตราจะรู้ว่ามันเป็นยาที่มีขนาดเม็ดใหญ่มาก
เรียกว่าต่อให้ผู้ใหญ่เองก็คงไม่มีความสุขนักกับการกินยาชนิดนี้ แต่ทำยังไงได้ ไม่ว่าตั้มจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ลองถ้ามีเชื้อเอชไอวีเข้าวิ่งเล่นในกระแสเลือด
ยาจะเม็ดขนาดไหนก็เลี่ยงไม่ได้ เป็นเรื่องโชคดีอีกเหมือนกันที่ตั้มเป็นคนกินยาง่ายและรักษาวินัยในการกินยาของตัวเองได้ดีพอใช้
....................................... แม่ของตั้มเล่าว่า "ตอนแรกเรียนไปแล้วพักหนึ่ง แต่มีปัญหากับคุณครูก็เลยต้องออกมา ครูเขาบอกว่าตั้มเป็นเอดส์ มีตุ่มใสๆ ขึ้นตามตัว
อย่ามาเข้าใกล้นะ เดี๋ยวติด ตั้มก็กลับมาบอกว่าครูพูดอย่างนี้ เขาก็ไม่อยากไปเรียน เราก็ทำใจ ไม่อยากบังคับ
แต่ใจก็อยากให้กลับไปเรียนใหม่ ถึงจะไม่สูงก็ไม่เป็นไร ให้พออ่านออกเขียนได้" หลังจากปรับตัวปรับใจสักพักใหญ่ๆ ตั้มก็พร้อมและได้กลับไปเรียนต่อ แม้ว่าวัยจะเลยมาจน 13 ปีแล้วก็ตาม
แดงบอกว่าอย่างน้อยที่สุดวันที่เธอไม่อยู่ ตั้มจะได้นั่งรถไปเอายาเองได้
ตั้มให้เหตุผลที่อยากกลับไปเรียนตามประสาเด็กว่า "เพราะแม่บอกว่าอย่างเวลาผมไปโรงพยาบาล ถ้าเราขึ้นรถไม่ถูก เดี๋ยวจะมีคนหลอกไปขาย เรียนหนังสือจะได้ขึ้นรถถูกว่าสายนี้ไปไหน
สายนั้นไปไหน ถ้าไม่เรียนเดี๋ยวจะโง่เป็นควาย" เมื่อถามตั้มว่าอยากเรียนถึงระดับไหน เขาตอบว่าเรียนจนจบ ป.6 ถามต่อว่าแล้วโตขึ้นอยากทำอะไร ยังไม่ทันที่ตั้มจะได้ตอบ
ตุ๊กน้องสาวก็ชิงตอบเสียก่อนว่าอยากขายกับข้าว ขายผลไม้ สักพักตั้มจึงตอบว่า "หนูจะหาปลาขาย"
ดูช่างเป็นความฝันที่เรียบง่ายของเด็กชายและเด็กหญิงสองคน หรือเพราะข้อจำกัดในชีวิตที่พวกเขาเผชิญอยู่ ทำให้ไม่กล้าแม้กระทั่งฝันในสิ่งที่ไกลเกินไป ทีนี้ ท่านผู้อ่านคงกำลังสงสัยอยู่ครามครันว่า แล้ว 'ตู้เย็น' มันมาเกี่ยวอะไรด้วย
คาเล็ตตราเป็นยาใจเสาะ มันไม่สามารถทนอยู่ในอุณหภูมิปกติธรรมดาได้นาน ดังนั้น นายแพทย์ที่จ่ายยาคาเล็ตตราจึงย้ำกับแดงว่า
จะต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิต่ำ ต้องแช่ตู้เย็นไว้ตลอดเวลา มิเช่นนั้นยาจะเสื่อมคุณภาพ
รู้ว่าท่านผู้อ่านกำลังเกิดคำถามตามมาว่า 'แล้วยังไง? ก็ถ้าต้องแช่ตู้เย็น ก็เอาไปแช่ตู้เย็นสิ' แต่ถ้าย้อนกลับไปอ่านเมื่อตอนต้นอีกครั้งหนึ่ง
ท่านผู้อ่านพอจะเดาได้หรือไม่ว่าตู้เย็นสำหรับครอบครัว 3 ชีวิตที่มีรายได้เพียงละ 2,220 บาท จากการเย็บริบบิ้นสำหรับร้อยพวงมาลัย ...
ไม่ต้องพูดถึงตู้เย็นขนาดทั่วๆ ไปที่เราใช้กันอยู่ แค่ขนาดมินิๆ ก็เป็นเรื่องยากเย็น
วิธีแก้ไขคือแดงต้องหากระติกน้ำแข็ง (ซึ่งก็เป็นกระติกที่ได้รับบริจาคมา) มาคอยเก็บยาคาเล็ตตรา แต่กระติกเปล่าๆ ไม่อาจเย็นขึ้นเองได้ ใช่, แดงต้องซื้อน้ำแข็งทุกวัน วันละ 3 ก้อน รวมเป็นเงิน 12 บาท เพื่อใช้เก็บยาคาเล็ตตรา เดือนหนึ่งก็ราวๆ 360 บาท "เวลาคนมาขายน้ำแข็ง บางครั้งแม่ก็ออกไปซื้อ บางครั้งก็หนู" ตั้มเล่าพร้อมกับทำท่าแบกกระติกน้ำแข็งให้ดู ตั้มบอกว่า "หนัก" นี่หมายถึงกรณีที่มีคนขับเรือเอาน้ำแข็งมาขาย ตั้มก็จะเดินไปซื้อ แต่ถ้าวันไหนไม่มี ตั้มจะต้องปั่นจักรยานไปซื้อที่ร้านค้าซึ่งอยู่ไกลออกไป
แน่นอน เด็กวัย 13 และตัวเล็กอย่างตั้มแบกถังใส่น้ำแข็ง 3 ก้อนกลับมาไม่ได้ ถ้าไม่มีจักรยาน
"ถ้ามียาที่ไม่ต้องแช่ก็ดี จะได้ไม่ต้องไปซื้อน้ำแข็ง เพราะต้องเอาไปจ่ายค่าไฟ ค่ากินข้าว"
ภาพที่คนละแวกนั้นเห็นจนชินตาจึงเป็นภาพของตั้มเดินหิ้วน้ำแข็ง บางคนก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมวันหนึ่งๆ บ้านนี้กินน้ำแข็งกันเยอะจัง
ยังไม่ต้องพูดถึงเวลาไปรับยาที่โรงพยาบาลที่แม่ลูกต้องช่วยกันขนเอากระติกใส่น้ำแข็งไปด้วย
เพราะหากปล่อยให้คาเล็ตตราฝ่ารถติดมาโดยไม่มีกระติกกับน้ำแข็ง มันอาจตายก่อนถึงอ่อนนุช
....................... กลับมายังแอ็บบอต-ตัวละครที่เล่าค้างไว้ แล้วท่านผู้อ่านจะเห็นความเกี่ยวข้องระหว่างเด็กน้อย, ตู้เย็น และบริษัทยายักษ์ใหญ่ของโลก เรื่องมีอยู่ว่าหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศบังคับใช้สิทธิกับยาคาเล็ตตร้า ทำให้แอ็บบอตกล่าวหาว่านี่คือการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
เป็นการปล้นชิงทรัพย์สิน แอ็บบอตและบริษัทยาอื่นๆ จึงรวมตัวกันเรียกร้อง ล็อบบี้ ด้วยมาตรการหลายรูปแบบเพื่อกดดันให้กระทรวงสาธารณสุขยกเลิกการบังคับใช้สิทธิ
พร้อมๆ กับข้อเสนอลดราคายาให้ถูกลง โดยแอ็บบอตเสนอให้คือ ลดราคายาคาเล็ตตราและอลูเวีย (คาเล็ตตรา สูตรใหม่ที่ไม่ต้องแช่เย็น) ลง 55 เปอร์เซ็นต์
แต่ว่า... ก่อนหน้าที่แอ็บบอตจะลดราคายาลง แอ็บบอตได้ถอนการขึ้นทะเบียนยา 7 ชนิดออกไปก่อนแล้ว เพื่อตอบโต้มาตรการบังคับใช้สิทธิ
1 ในยาทั้ง 7 ชนิดนั้นมียาคาเล็ตตรา ตัวใหม่ รวมอยู่ด้วย เนื่องจากตามกติกาของประเทศสารขัณฑ์มีอยู่ว่า
ยาชนิดใดที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในประเทศย่อมไม่สามารถทำการจำหน่ายได้ จุดสำคัญอยู่ตรงนี้
องค์การหมอไร้พรมแดน ให้ข้อมูลว่า ยาคาเล็ตตราที่ประเทศสารขัณฑ์ใช้อยู่ในปัจจุบันคือยาคาเล็ตตราตัวเดิมที่ต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิต่ำ
ขณะที่ในประเทศอเมริกา แอ็บบอตได้นำยาคาเล็ตตราตัวใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิต่ำ ออกวางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2548
พูดกันอย่างบ้านๆ ก็คือคาเล็ตตราตัวเก่าที่ยังจำเป็นต้องแช่ตู้เย็นเป็นสินค้าที่ถูกโละออกจากร้านขายยาในอเมริกาและนำมาขายในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก
รวมถึงประเทศสารขัณฑ์แห่งนี้ ซึ่งว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้ว ยาคาเล็ตตราแบบที่ไม่ต้องแช่ตู้เย็นน่าจะเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของประเทศสารขัณฑ์มากกว่า
พูดให้ง่ายขึ้นอีกก็คือประเทศสารขัณฑ์เป็นที่ระบายสินค้าเก่าๆ ที่อเมริกาเขาเลิกใช้แล้วนั่นเอง
แต่ก็อย่างที่บอก ยาคาเล็ตตราตัวใหม่ที่ไม่ต้องแช่ตู้เย็นนี้ไม่สามารถวางขายในเมืองไทยได้ เพราะแอ็บบอตถอนการขึ้นทะเบียนยาไปแล้ว ล่าสุด แอ็บบอตต่อรองกับกระทรวงสาธารณสุขว่าจะนำยาคาเล็ตตราตัวใหม่เข้ามาจดทะเบียนในประเทศสารขัณฑ์ตามเดิม แต่มีข้อแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะต้องยกเลิกมาตรการบังคับใช้สิทธิ แม่ของตั้มเล่าย้อนไปถึงตอนที่หมอจ่ายยาคาเล็ตตราให้ว่า "คุณหมอบอกว่าซีดีโฟร์ (ระดับภูมิคุ้มกัน) ของน้องตั้มยังดีอยู่ เสียอย่างเดียวตรงที่ตัวเชื้อไวรัสของน้องตั้มมันขึ้นมาตั้ง 1,555
คุณหมอบอกว่าต้องได้รับยาต้านตัวใหม่เพื่อไปกดเชื้อไวรัสลง เพราะถ้าปล่อยไว้อย่างนี้คุณหมอบอกว่าน้องตั้มก็ต้องดื้อยาอีก
คุณหมอเลยต้องให้ยาคาเล็ตตรามา ก่อนจ่ายยาคุณหมอก็อธิบายว่า ยาคาเล็ตตราต้องแช่อยู่ในความเย็น ไม่อย่างนั้นมันจะเสีย
เราก็เอามาแช่น้ำแข็งตามที่คุณหมอบอก ก็ถ้าคุณหมอไม่ซื้อกระติกให้ เราก็ต้องรวบรวมเงินซื้อกระติกจนได้เพราะว่าบ้านไม่มีตู้เย็นเอาไว้แช่ยาคาเล็ตตรา"
คิดค่าใช้จ่ายสะระตะเอาจากคำบอกเล่าของแดง-ค่าประกันสังคม 500 บาท ค่าไฟต่อเดือนประมาณ 300 บาท ค่าน้ำ 75 บาท
และค่าน้ำแข็งอีก 360 บาท เบ็ดเสร็จแดงจะเหลือเงินสำหรับเลี้ยงปากท้องตัวเธอและลูกราวๆ 985 บาท
"ถ้าไม่มีเงินเราก็ต้องดิ้นรนขวนขวาย ช่วยเหลือตัวเอง จะไปรอสงเคราะห์อย่างเดียวก็ไม่ได้
คือเราทำงานไม่ได้ก็ต้องหางานพิเศษอยู่กับบ้าน ทำโบ แล้วก็ปักผ้าเลื่อม เขาให้ตัวละ 15 บาท 20 บาท ก็ต้องเอา ก็ต้องปัก"
(สาเหตุที่เธอทำงานนอกบ้านไม่ได้ เธอเล่าว่าก่อนนี้เธอทำงานเป็นแม่บ้านอยู่ในโรงงานแห่งหนึ่ง
ซึ่งเป็นงานที่ค่อนข้างหนักหนาพอสมควรกับผู้ติดเชื้ออย่างเธอ บางสัปดาห์เธอต้องหยุดงานถึง 5 วันเพราะป่วยไข้และต้องไปหาหมอ
เจ้านายก็เอ่ยปากถามไถ่บ่อยครั้งว่าทำไมป่วยถี่เหลือเกิน ที่สุดแล้วเธอจึงตัดสินใจออกจากงานเพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่าย)
เพราะชีวิตต้องดำเนินต่อไป จะลำบากลำบนแค่ไหนก็ไม่ใช่ข้ออ้างให้นิ่งเฉยเพื่อรอวันแตกดับ
วันนี้ แดงและลูกทั้ง 2 คน มีความสุขดีและยิ้มให้กันได้ นอกจากยาแล้วก็คงมีรอยยิ้มและความรักนี่แหละที่ช่วยประคับประคองชีวิตของแดงและตั้มเอาไว้
......................... หลังจากอีสป, ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน และสองพี่น้องตระกูลกริมม์ช่วยกันเล่านิทานเรื่อง 'เด็กน้อยกับตู้เย็น' จนจบ
ทั้งสี่คนก็ยังไม่แน่ใจว่าควรจะหาตู้เย็นหรือควรจะหายาที่ไม่ต้องแช่ตู้เย็นให้เด็กน้อยดี
ที่น่าปวดหัวยิ่งกว่าคือพวกเขาไม่รู้จะสรุปข้อคิดเตือนใจจากนิทานเรื่องนี้อย่างไรดี เหตุนี้ทั้งสี่คนจึงตัดสินใจยกให้ผู้อ่านเป็นผู้ตัดสินเอาเอง
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า................???
************************ เรื่อง - กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล หมายเหตุ จากองค์กรหมอไร้พรมแดน-เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) เรียนทุกท่าน ขออภัยที่ไม่ได้แจ้งที่อยู่และวิธีการช่วยเหลือตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเช้านี้ หลังจากทราบความประสงค์ของผู้อ่านที่ต้องการช่วยเหลือ ทางองค์การฯได้ติดต่อทางครอบครัว และได้รับความยินยอมที่จะเปิดเผยชื่อด้วยการเปิดเบอร์บัญชีให้ทุกท่านสามารถบริจาคได้ที่ บัญชีออมทรัพย์ ชื่อ นางสาว สมบัติ กายตะขบ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาอ่อนนุช 69 เลขที่บัญชี 403-1236710 หรือ องค์กรหมอไร้พรมแดน-เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) 0-2370-3087-90 msfb-bangkok@brussels.msf.org ส่วนการบริจาคตู้เย็นน่าจะสร้างปัญหาให้กับครอบครัวมากกว่า เพราะจะเป็นภาระต้องจ่ายค่าไฟ หากทุกท่านต้องการช่วยเหลือที่มากกว่านี้ กรุณาโทรศัพท์ไปที่บริษัทแอ็บบอต ลาบอราตอรีส 02 252 2448 ให้กลับมาขึ้นทะเบียนยาคาเล็ตตร้ารูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องแช่ตู้เย็น ซึ่งก่อนหน้านี้แอ๊บบอตถอนการขึ้นทะเบียนไปเพื่อกดดันกระทรวงสาธารณสุขให้ถอนการประกาศบังคับใช้สิทธิ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยทำถูกกฎหมายทั้งในและกฎหมายระหว่างประเทศ ขอบพระคุณ กรรณิการ์ จิตติเวชกุล เจ้าหน้าที่องค์กรฯ
nacklover
12 พ.ค. 50
เวลา 19:07:47 IP = 220.127.219.200
|
|
|