Main Menu
  Home
  login / Join member
  Edit your profile
  Artists Biography
  Webboard
  Review & Test
  Hot Shots & Lessons
  Interview
  Classifieds (OLD)
  Classifieds (New)
  Cools Links
  About Thinking
  About Us
  Finger Shot
  Download
  New Releases
  Music News
 
 Interview:     "Mr. Pig & Ae' Wizard"
"พี่น้องเล่นกีตาร์" วันนี้เราจะพาคุณไปพบกับงานบรรเลงกีตาร์ดีๆที่ห่างหายไปจากวงการเพลงไทยมาสักพักใหญ่ๆแล้ว งานนี้นำเสนอโดย 2 มือกีตาร์คือ "Mr. Pig & Ae' Wizard"

Mr. Pig หรือพี่หมู คาไลฯ (ศิริศักดิ์ ศิริโชตินันท์) ชื่อนี้หลายคนคงรู้จักกันดี พี่หมูเป็นมือกีตาร์ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในแวดวงคนดนตรีและวงการห้องบันทึกเสียง เคยออกผลงานของตัวเองในชื่อว่า Mr. Pig & Big Moo ร่วมกับพี่หมูตาวันเมื่อหลายปีก่อน และเนื่องจากพี่หมูเคยรับหน้าที่เป็นมือกีตาร์ให้กับวงคาไลโดสโคปซึ่งเป็นตำนานร็อควงหนึ่งของเมืองไทยมาหลายปีจึงทำให้เราเรียกว่า "พี่หมูคาไลฯ" กันจนติดปากเรื่อยมา และวันนี้พี่หมูกลับมาอีกครั้งพร้อมกับผลงานมินิอัลบั้มชุดล่าสุดชื่อว่า "Fresh" โดยได้พ่วงเอามือกีตาร์หนุ่มรุ่นน้องไฟแรงคือคุณเอ๋ (เอกชัย กรายอานนท์) จากวง Wizard มาร่วมงานด้วย สำหรับรายหลังนี้ก็ไม่เบาเหมือนกัน เขาเคยออกผลงานของตัวเองในนามวง Wizard ใช้ชื่ออัลบั้มว่า "พ่อมด" เมื่อหลายปีก่อน นอกจากนี้เขายังเป็น music instructor และรับจ็อบเป็นมือปืนห้องอัดด้วย เดี๋ยวเราจะมาคุยกับ Mr. Pig & Ae' Wizard กับอัลบั้มชุด "Fresh" กัน…

ทักทาย : ตอนนี้นอกจากงานชุด "Fresh" นี้แล้วแต่ละคนตอนนี้ทำอะไรกันอยู่บ้างเห็นบอกว่ารับสอนกีตาร์และเป็นคอลัมนิสต์กันทั้งคู่ ?

พี่หมู
: ถูกต้อง ตอนนี้พี่ก็เขียนอยู่ Guitarist แล้วก็สอนกีตาร์บ้างสำหรับเด็กบางคน และก็ทำอัลบั้มใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งชุดซึ่งก็จะเป็นการสานต่อจากชุดนี้แต่จะออกดิบๆกว่าชุดนี้

คุณเอ๋
: เหมือนกันครับตอนนี้ก็สอนอยู่ สำหรับคอลัมนิสต์ช่วงนี้พักไว้ก่อนครับพอดีงานยุ่งเรื่องอื่น ก็เหมือนพี่หมูครับ ก็ยังคงต้องออกไปเล่นผับบ้างเล็กน้อย เล่นประจำทั้งเอ๋และพี่หมู และที่สำคัญก็ยังมีงานของ Wizard ต่างหากนะครับ แล้วก็กำลังจะมีงานที่ทำกับพี่หมูต่อด้วยนะครับ คิดว่าคงสำเร็จ ต้องสำเร็จ !
 
คิดว่าหลายคนคงสงสัยว่ามาเจอกันและทำงานร่วมกันในชุดนี้ได้ยังไง?

พี่หมู
: เราเจอกันมาเกือบ 10 ปีแล้วนะ บังเอิญที่มาทำกันได้เพราะพี่จะเลือกคนที่มาทำคือไอเดียตรงกันไง คุยกัน แต่ถ้าอีกคนเฮฟวี่จัด ก็อย่างพี่ช่วงนี้ยังไม่ค่อยเฮฟวี่ใช่ไหม ที่คิดอยู่น่ะ…แนวดนตรี ก็เลยมาเจอกับเอ๋นี่ ซึ่งเอ๋เขาชอบเครื่องเป่า พี่ก็ชอบเครื่องเป่าด้วย ก็เลยเกิดงานชุดแรกคือชุด "Fresh" นี้ขึ้นมา เพราะว่าเรา…พอคนหัวไปในทางเดียวกันทำงานอะไรมันก็จะง่าย feel เพลงแต่ละเพลงที่ออกมามันก็จะคล้ายๆกัน ก็เป็นเรื่องเดียวกัน ส่วนไส้ในจะแปลกยังไงก็ค่อยว่ากันอีกที

คุณเอ๋
: ครับ ก็เจอพี่หมูมาเป็น 10 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยแข่งดนตรีครับ (พี่หมูแซว : ตั้งแต่ยัดเงินตอนได้รางวัล) (หัวเราะ) แต่เจอก่อนหน้านั้นอีกคือผมไปแอบดูพี่หมูเขาเล่น ก็ชอบมาก ไม่มีสตางค์ก็ไปเกาะหน้าต่างดู แล้วก็ติดพันกันมาเรื่อย บางคนก็ถามว่าพี่หมูเป็นอาจารย์หรือเปล่า สอนเราหรือเปล่า เราก็บอกว่าแกไม่ค่อยมีเวลาสอนแต่ว่าเท่าที่ได้คุยหรือที่ได้ถามอะไรอยู่ตลอด เหมือนได้ความรู้อยู่ตลอดแล้ว มันก็เลยมีความสนิทสนมกันอยู่ แล้วก็งานตรงนี้นี่มันก็เกิดขึ้นมาโดยฟลุ้คๆ แต่ว่าคิดว่าอยากจะทำมาตั้งนานแล้ว ก็ถือเป็นโชคดีของผมด้วย
 
การทำเป็นเพลงบรรเลงคิดว่าเป็นการสื่อสารที่คนฟังสามารถรับรู้และเข้าใจได้ยากง่ายกว่าเพลงร้องยังไง?

พี่หมู : อันนี้เราจะสื่อสาร… เดิมทีนี่เราตั้งใจจะสื่อสารเฉพาะมือกีตาร์ แต่บังเอิญพอเราทำไปนี่คนที่ซื้อไปบางทีก็เป็นคนที่ไม่ได้เล่นกีตาร์ก็มี เท่าที่ได้เจอนะ ส่วนหนึ่งเป็นคนที่ติดตามผลงานกันมา ทั้งสองคน เหมือนแบบนานๆออกทีขอเก็บไว้สักหน่อย เหมือนเราไปเก็บเทปของวงต่างประเทศซึ่งแบบว่านานๆจะออกที แต่ถ้าออกถี่ก็อาจจะไม่ค่อยได้เก็บ แต่อย่างนี้นานๆออกที (หัวเราะ) เราก็มีไอเดียกันเยอะนะ แต่ละคนเนี่ย คิดว่าคนอื่นก็คงมีแบบเรา แต่ว่าช่วงนี้เรามีโอกาสได้นำเสนอ ก็โอ.เค.นะ ถือว่าได้เป็นการเปิด เปิดอะไรซะมั่ง แล้วก็เพลงบรรเลงของเราเนี่ยบางคนอาจจะคิดว่าจะเป็นแบบที่เราเล่นไง คือพอบอกร็อคทุกคนก็ต้องมองถึงมนต์ดำ ต้องหนักขนาดโน้นหนักขนาดนี้ ซึ่งมันก็ไม่จำเป็นน่ะ ร็อคมีตั้งแต่ หนึ่ง สอง สาม…ไปถึงสิบ ชุดนี้เราก็ทำดนตรีให้มันมีฟีล funk มั่ง เครื่องเป่าปน อาจจะอยู่ในสไตล์ที่ 5 นะ ไม่ใช่ความสามารถที่ 5 นะ สไตล์ที่ 5 เดี๋ยวชุดหน้าอาจจะเล่นเป็นแบบสไตล์ที่ 2 ก็ได้ ซึ่งแบบโบราณหน่อย เก่า มาถึงก็อัดกันเลย หรือสไตล์ที่ 10 ตอนนี้ก็มีพวกกลอง loop หรือเล่นกันแบบฮาร์ดคอร์ ซึ่งยังไม่รู้นะว่าสองคนนี่ใครจะร้อง (หัวเราะ) ก็คงจะร้องได้นะ

คุณเอ๋ : เพลงบรรเลงนี่…เมื่อกี้ถามว่ามันจะสื่อยังไงใช่ไหม ความจริงเพลงบรรเลงในต่างประเทศนี่มันเป็นเรื่องอิสระในการที่ผู้ฟังหรือผู้เล่นจะสามารถจินตนาการไป มันไม่เหมือนเพลงร้องซึ่งเราจะต้องเชื่อตามที่เขาเขียนมาเลยว่า เขาเขียนเรื่องเล่าเรื่องยังงี้ๆ ซึ่งบางครั้งผู้แต่งอาจจะแต่งแล้วอาจจะไม่ตรงกับเนื้อเรื่องของดนตรีจริงๆก็ได้ แต่พอเพลงบรรเลงเนี่ย ผู้แต่งรู้สึกว่ามัน fresh นะ แต่คนฟังอาจจะรู้สึกว่ามันหมองหม่นก็ได้ เพราะฉะนั้นมันจะกว้างมาก ซึ่งความจริงแล้วเพลงอย่างนี้นี่ในต่างประเทศเขาถือว่ามันเป็นเพลงที่ฟังได้กว้าง กว้างกว่าเพลงร้องด้วยซ้ำ
 
พี่หมู : เพลงบรรเลงนี่มันเป็นสื่อจากใจเลย เราชอบเล่นยังไงมันก็จะลงไปแบบนั้น คือ แบบนี้เราก็จะมีแฟนเพลงในแบบฉบับของเราเองเพิ่มขึ้นๆ ถ้าเราทำบ่อยๆ คือมือกีตาร์แต่ละคนเขาจะมีแฟนเพลงของเขาอยู่แล้ว เมืองไทยก็เพิ่งจะเริ่มๆกันนี่เอง ส่วนฝรั่งนี่เรา… เหมือนเราไปติดตามมือกีตาร์คนนี้ๆ เราจะชอบเขาเล่นอย่างนี้ๆ มันจะไม่เหมือนกัน คนไทยช่วงนี้ก็ดีขึ้น เริ่มแยกออกว่าเป็นร็อคแบบไหน 1 2 3 4 5
 
สังเกตจากตรงไหน?

พี่หมู : สังเกตจากมีแฟนฮาร์ดคอร์ก็จะเป็นแฟนฮาร์ดคอร์ ไม่สนใจพวกเฮฟวี่เลย เขาจะมีกลุ่มของเขา บางทีไปดูมือกีตาร์เก่งๆเล่นเฮฟวี่เขาก็นั่งเฉย เพราะเขาสนใจฮาร์ดคอร์ หรือพวกที่เล่นเฮฟวี่จริงๆก็จะบอกว่าฮาร์ดคอร์ไม่ค่อยชอบ คือเขาเริ่มแยกแล้วไง อย่างสมัยก่อนเนี่ยเขาบอก "ฮาร์ดคอร์มันไม่โซโล ต้องโซโลนะถึงจะนั่น…" คือ จะไปเจาะจงให้ทุกวงเล่นเหมือนที่ตัวเองเคยชอบมาเหมือนเมื่อก่อน
 
อย่างของพี่หมูนี่เคยทำงานบรรเลงออกมาก่อนแล้วซึ่งเรารู้สึกได้ถึงความแตกต่าง มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้างในชุดนี้?

พี่หมู : จากชุดแรกที่ทำพี่ทำ Mr. Pig กับ Big Moo ก็ออกจะขี้เล่น ชุดนี้ก็จริงจังขึ้นมาหน่อย เอ่อ…เป็นในทาง เขาเรียกว่า(กีตาร์)เนื้อๆ ชุดที่แล้วจะเป็นเอฟเฟกต์อะไรเยอะแยะไปหมด แบบเล่นไอ้โน่น ไอ้นี่ แต่ในชุดนี้ก็เล่นกีตาร์กันแบบเนื้อๆ คันโยกแทบจะไม่ได้แตะ ชุดที่แล้วก็เฟี้ยวฟ้าว ชุดนี่ก็เอาจริงเอาจัง
 
สำหรับคุณเอ๋นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้ยินทำเพลงบรรเลง ไม่ทราบว่าจะยังมีงานอย่างนี้อีกไหมในชุดต่อๆไป?

คุณเอ๋ : ครับ ความจริงอยากทำมาตั้งนานแล้ว แต่ว่าด้วยศักยภาพของตัวเองนี่ผมก็ไม่ได้คิดว่าเราเป็นคนที่เล่นกีตาร์…คือเราก็ไม่ได้คิดว่าเราจะทำเพลงบรรเลงได้ดีที่สุด แต่ก็คิดว่า ความสำคัญมันไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าเราที่สุดหรือเปล่า แต่มันสำคัญตรงที่ว่า เราทำนี่มันเหมาะสมในเพลงๆนั้นหรือเปล่า หรือว่าถ่ายทอดความเป็นเราชัดเจน ซาวน์ดของเราอะไรอย่างนี้ ตรงนี้ ณ วันนี้อาจจะมานั่งคิดว่า เล่นยังไงแล้วให้ฟังเป็นเรามากกว่าที่จะมานั่งคิดว่าเล่นยังไงแล้วให้มันเป็นใคร หรือเล่นให้ยาก อันนั้นไม่ใช่เรื่อง เพราะฉะนั้นจุดสำคัญเลยก็คือพอได้ทำแล้วนี่…คืออยากทำมาตั้งนานแล้ว พอได้ทำเราก็รู้สึกว่า เออ…มันเป็นอะไรที่สนุกเหมือนกัน น่าจะทำต่อไปเรื่อยๆ คือน่าจะมีแทรกอยู่ในเพลงที่เราทำอยู่ตลอด ความจริงคือน่าจะมีอย่างนี้ แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง คือ นักร้องหายาก (หัวเราะ)
 
ให้พูดถึงเพลงที่คิดว่าเป็นตัวแทนของแต่ละคนในชุดนี้เล็กๆน้อยๆ

คุณเอ๋ : เพลงแรกของอัลบั้มเลยชื่อ "Oh! Ye!" คือจำได้ว่าพี่หมูบอกว่าให้มาอัด เราก็อัดเลย และระหว่างที่อัดอยู่นี่ก็นั่งอยู่กับพี่ท็อปซึ่งเป็นเอ็นจิเนียร์ พี่ท็อปก็บอกว่าคีย์ E เราก็อัดไปจนจะเสร็จละ พอพี่หมูมาถึง พี่หมูก็บอกว่า "เฮ้ย! เพลงนี้มันคีย์ D นะ" อ้าว เราก็ต้องยกทั้งหมดย้ายลงมา แล้วพี่หมูก็บอกว่า "เอ๋ เอาประมาณแบบว่าไม่ต้องคิดมากแล้วเล่นเลย ช่วงนั้นพี่หมูเขาก็จะเล่นไวหน่อย ตอนแรกผมก็เล่นไวไปด้วย พี่ท็อปบอกว่า "อืม…มันก็ดีนะ แต่มันฟังแล้วมันไม่เป็นเอ๋ว่ะ" เอาใหม่ เอาแบบว่าต้องให้คนเขาฟังแล้วรู้ว่าเป็นเอ๋ ก็เลยได้ออกมาเป็นลูกนั้น ก็ประทับใจ คือหมายถึงว่า ได้ทำอะไรที่แบบว่าสดๆตรงนั้น แล้วก็ลองดู

พี่หมู : คนเรามันจะเป็นตัวเราก็อีตอนนี้แหละ คือแบบ "เอ้า! เอาเลย! อัดเลย ลองดูเด๊ะ" แล้วอัดไว้เลย เทคแรกกับเทคสองนี่มันจะเป็นสิ่งที่เราถนัดจริงๆแล้วเล่นออกมาน่ะจะเป็นตัวเรา โดยมากพี่ก็จะเอาเทคหนึ่งเทคสองนี่แหละ เอามาฟัง ถ้าดีแล้วก็เก็บไว้เลย หรือถ้ามันยังไม่ค่อยดีก็จะมาแก้ไขนิดหนึ่ง แล้วก็จะฟัง feel นั้นมาตลอดแล้วก็อัดใหม่ แต่ถ้าเราแบบ เอ่อ…มานั่งฟังและมานั่งวิเคราะห์แล้วมานั่งแต่งโน้ตไปเรื่อยๆมันจะดีในอีกแง่หนึ่ง แต่ถ้าต้องการสดๆเป็นตัวเราก็อัดเลยดีกว่า

คุณเอ๋ : มันคนละแบบ เหมือนกับว่า…พลงที่ดีนี่มันมีแบบ…เพลงที่ประพันธ์เลย นั่งแต่งกันทุกกระเบียดนิ้วของเพลงนี่ก็ดี หรือเพลงอีกประเภทหนึ่งก็คือแบบสดๆตรงนั้นเลย ผมว่ามันก็ดีกันคนละแบบ ผมว่าเพลงที่ดีมันควรจะประกอบสิ่งพวกนี้อยู่ด้วยกัน

พี่หมู : พอดีเราตั้งชื่อชุดว่ามัน "Fresh" เราก็รอดเลย

คุณเอ๋ : ก็เลยได้ประสบการณ์ตรงนี้จากที่พี่หมูบอกว่า "ลองดู!"

พี่หมู : แต่ชุดต่อไปก็อาจจะเป็นการแต่งเยอะขึ้น

คุณเอ๋ : ครับ…ส่วนอีกเพลงคือเพลง "Ya Ya Ya" พี่หมูเป็นคนตั้งชื่อให้ "อย่า อย่า อย่า" นี่น่ะครับ

พี่หมู : ก็เหมือนกับอย่าไปยุ่งกับของไม่ดี คือเอ๋จะร้องเตือนตลอด "อย่า อย่า อย่า" (หัวเราะ)

คุณเอ๋ : ครับ คืออย่างเพลงนี้ก็คือโอ.เค. มีคิดเมโลดี้กันเป็นเรื่องเป็นราว แต่ว่าเราก็พยายามหาว่าตรงไหนที่มันจะสามารถ feel เข้าไปได้เราก็พยายามจะ feel มันก็เป็นส่วนผสมหลายๆอย่าง ก็พยายามทำให้เพลงมันมีเมโลดี้ด้วยครับ ที่สำคัญคืออย่างเวลาที่เราดูอย่าง Joe Satriani นี่น่ะครับ เขาก็จะมีเมโลดี้ซึ่งเพลงเขาก็จะทำให้คนจำเพลงเขาได้ แล้วเขาก็จะมีโชว์ มันจะมีทั้งเมโลดี้ มีทั้งการอิมโพรไวส์ มีทั้งเรื่องของฟีลอะไรต่างๆอยู่ในเพลงๆเดียว เขาก็จะได้ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ดี
 
สำหรับพี่หมูนี่เป็นเพลงไหนที่คิดว่าเป็นตัวแทนของตัวเองได้ดีที่สุด?

พี่หมู : เอาที่พี่ชอบ ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะเป็นเพลงสุดท้าย (What's Right? What's Wrong?)นะที่ชอบ เดี๋ยวนี้เป็นเพลงที่สอง ชื่อเพลงว่า "Fresh" รู้สึกว่ามันเนิบนาบ สนุกดี แต่ถ้าเป็นเมื่อสี่ห้าปีที่แล้วชอบเพลงสุดท้ายนะ แต่ก็ยังชอบอยู่นะ เพียงแต่ไม่ได้ชอบมากที่สุดละ
 
เพราะว่า?

พี่หมู : เพราะว่าการฟังเพลงนี่ เราฟังเพลงจุดนั้นมาจนอิ่มตัวแล้ว หรือว่าเล่นจุดนั้นมาจนอิ่มตัวแล้ว ก็อยากจะเปลี่ยนบ้าง
 
อย่างการเล่นเร็วปรื๋ออะไรอย่างนี้?

พี่หมู : เล่นเร็วปรื๋อหรืออะไรบางทีมันก็เบื่อนะ ช่วงที่ยังเล่นไม่ได้นี่มันก็อยากเล่น พอเล่นได้แล้วมันก็ไม่อยากเล่น อยากเล่นอย่างอื่น ตอนนี้ฟัง อย่างพี่ไปซื้อ (อีริค) แคลพตันชุดรวมฮิตมาฟั เราก็ "เออ…เฮ้ย! อยากเล่นแบบเขา" เพลงเขาเพราะตลอดแล้วก็ พูดง่ายๆว่า ช้า เพราะ และฮิตได้ทั้งโลก เขาทำได้ยังไง ก็ไปคิดจุดใหม่ บางทีเราแค่อยากเล่นกีตาร์ให้ได้ตรงนั้น พอได้แล้วมันก็พอ คนเรา ก็ไปหาอีกจุด อีกจุด อีกจุด คือมือกีตาร์นี่ไม่ใช่แค่แสวงหาแต่เร็วขึ้น เร็วขึ้นนะ ควรจะแสวงหาในจุดว่า จุดนี้เขาเล่นได้ยังไง พอเสร็จแล้วมามองอีกจุดหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าจุดที่เร็วขึ้นนะ บางทีก็จุดที่เออเขาทำเพลงแบบโน้น หรือโซโลแบบนั้นยังไง แต่ตอนนี้พี่ยังสนใจพวกแคลพตันว่าเขาทำได้ยังไง เหมือนอย่างที่อัสนีทำเพลง เพลงอะไรนะ ด่า ดา ด๊า ดา ด่า ดา เอ้อ…ก็เคยสัญญา จุดนี้ซึ่งเราต้องค้น อยากสำเร็จจุดนี้เหมือนกัน คือโซโลนิดหน่อยแล้วคนจำได้ ได้จริงๆ ได้เป็นสิบปีเนี่ย คือส่วนที่มันยากที่สุด
 
ไม่ต้องไปเทคนิคอะไรหวือหวามากมาย?
พี่หมู : เทคนิคอะไรอย่างนี้บางทีเราศึกษามาเยอะแล้ว เราเล่นได้เสร็จ แต่เราก็รู้ว่ามันไม่ใช่จุดที่ทำให้เราสำเร็จน่ะ มันเป็นที่เป็นบันไดขั้นหนึ่งของเราเท่านั้นเอง แต่จุดสำเร็จอยู่ตรงไหนต้องไขว่คว้ากันต่อไป

คุณเอ๋ : ซ่อนอยู่ เทคนิคต่างๆมันซ่อนอยู่ในเมโลดี้หรือการเล่นที่ดีๆ

พี่หมู : ความสำเร็จมันไม่ได้อยู่ที่ว่ามือกีตาร์คนนี้เล่นได้ดีเลิศ
 
อย่างนี้ความเป็นเพลงที่ดีมันอยู่ที่ไหนล่ะ?

พี่หมู : ก็นี่แหละคือสิ่งที่ต้องค้นหาไง เราก็ค้นไปเรื่อยไง เพราะว่าคนอย่าง Steve Vai หรือ Van Halen เขาประสบความสำเร็จให้โลก แต่เราก็ต้องค้นไปเรื่อย เราก็มีมือกีตาร์เก่งๆในเมืองไทยเยอะแยะใช่ไหม เราก็ประสบความสำเร็จคือในจุดหนึ่ง เรารู้ว่าพวกเนี้เล่นเก่งแต่ก็อยู่ในจุดหนึ่ง คืออาจจะเราเป็นผู้ตามก็ได้ พอเล่นแล้วเรา อืม เราเคยได้ยินอันนี้มาแล้ว อะไรอย่างนี้ไง เราก็ต้องค้น คือเราก็ต้องทำแบบที่ญี่ปุ่นเขาทำไง ญี่ปุ่นเขาก็ตามฝรั่ง จนเรียกว่าน้องๆฝรั่งๆอยู่ช่วงนี้ เราก็ต้องน้องๆญี่ปุ่น แค่นั้นน่ะ พอแล้ว ในเมืองไทย เพียงแต่ว่าขอให้สำเร็จในประเทศก็พอ หรืออยู่ในแถบเอเซียนี่ก็ดีใจหลาย
 
อิทธิพลทางดนตรีของแต่ละคน?

พี่หมู : ของพี่นี่ พี่เริ่มจับกีตาร์ก็ได้ยิน Michael Schenker เล่นท่อนแยกเพลง Rock Bottom พี่ก็นึกว่า "มันเสียงอะไรวะ" ไม่นึกว่าเป็นเสียงกีตาร์ ที่มันไล่ปรื๋อ ปรื๋อ ๆๆเสียงกีตาร์มันจะเร็ว เพราะเคยได้ยินแต่แบบติ๊ว ดิว ดิ๊ว

คุณเอ๋ : The Shadow อะไรพวกนี้ใช่ไหมฮะ (หัวเราะ)

พี่หมู : โอโฮ ไอ้นี่เสียงกีตาร์มันเร็ว เร็วจัด ตอนนั้นก็เลยสนใจว่าเอ้อกีตาร์นี่ก็เล่นได้เร็วขนาดนี้เลยเหรอ ต่อมาก็ฟัง Van Halen ที่ไนท์สปอตเขาอัดมาจากเมืองนอก อัดจากในบาร์ ไม่มีเบสส์นะมีกลองกับกีตาร์ โอ้โห เล่นได้ยังไง เก่งมาก แล้วก็มี ตอนหลังเทปเขาออกแล้วก็มีพวกจิ้ม (tapping) หรือฮาร์โมนิกอะไรพวกนี้ แล้วก็มีคันโยก หันหลังเล่น เอ้อ…พี่ก็ไปไหว้พระพรหมมาจนได้หลายปีผ่านมา (หัวเราะ) แล้วก็มาเรื่อยๆจนมาอยู่กับบาร์ลาคูดัส ร็อคเคสตร้า ได้เจอพวกผู้ใหญ่ได้ศึกษาเพลงแนวอื่นด้วย ก็ไม่ได้เล่นแต่ร็อคอย่างเดียว ก็เล่นป็อบในหลายๆแนว แต่ใจจริงเราก็ชอบร็อค ตอนหลังก็เลย…มันมีหลายอย่าง เช่น Pink Floyd เรื่องคอร์ดเรื่องอะไรนี่ซึ่งเราต้องศึกษาด้วย เดี๋ยวนี้เลยยังต้องหันมาฟัง Joe Pass

คุณเอ๋ : โอ้…แจ๊สไปเลย

พี่หมู : คือเราไม่ได้ต้องการเล่นแจ๊ส คือเราต้องการรู้ว่าเขาคิดอะไรกันอยู่บ้าง จะได้เปลี่ยนๆบ้าง โอย…แนวมันก็เยอะแหละ พูดง่ายๆคือพยายามฟังไปเรื่อยๆ แต่เราก็ไม่ทิ้งความเป็นร็อค

คุณเอ๋ : เหมือนที่ Scott Henderson พูด คือคนเราทิ้ง root ของเราไม่ได้ เขาก็บอกว่าทุกวันนี้คนจะมองเขาเป็นแจ๊สไง แต่ความจริงเขาเริ่มมาจากร็อค อย่างตัวของผมนี่คือโอ.เค.ผมก็ฟังจำได้เลยว่าเริ่มจาก Van Halen เลย คือชอบ Van Halen แหละซื้อแล้วก็เก็บทุกชุดเลย คือตอนนั้นมีวง VH เลยวงเดียวตอนแรกที่เริ่มฟังร็อค Bon Jovi แล้วก็ VH แต่ว่าพอมาเจอที่มัน…คือ VH นี่ชอบมาก ใช่เลย แต่ว่าพอมาเจอพวก Vito Brata (วง White Lion) หรือมาเจอโดยเฉพาะ Nuno (Nuno Bettencourt วง Extreme) รู้สึกว่าเอ้อ ไอ้อย่างนี้มันเหมาะกับนิสัยใจคอเรา คือมันฟังแล้วสนุกสนานอย่างงี้นะ เราก็เคยเริ่มศีกษาเขามาเรื่อยๆ แต่ว่าจริงๆแล้วบางคนอาจจะมองผมว่า ผมไปหยุดอยู่แค่ตรงนั้นหรือเปล่า ความจริงไม่ ทุกวันนี้ก็คือก็ไม่ได้ฟัง Nuno อีกแล้ว คือแต่ว่าชอบยังคงชอบอยู่ ทุกวันนี้ก็มันก็ยิ่ง…พอเราอายุมากขึ้นมันก็ยิ่งเติบโต คือหมายถึงว่าเราก็ยิ่งกว้างขึ้น ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ผมจะฟัง ผมก็จะซื้อพวกแจ๊ส แจ๊สไปเลยนะ คือแบบเป็นแซ็กโซโฟน เป็น John Coltrane เป็น Miles Davis แต่ว่าผมไม่ได้คิดว่าตัวเองอยากจะเป็นนักกีตาร์แจ๊ส คือยังไม่ได้หาเวลาฝึกเลยด้วยซ้ำ แต่ว่าฟัง ฟังเพราะว่าชอบ ตอนแรกๆก็ฟังว่าเขาคิดอะไร ตอนแรกเราก็เอ๊ะเห็นเขาบอกว่า Ritchie Kotzen ทำไมต้องฟัง John Coltrane ด้วย ผมก็ "เอ๊ะ..แล้วเขาเป็นใคร" อะไรอย่างนี้ ทำไม Vinnie Moore ก็ฟัง Coltrane เราก็เลยไหนลองมาฟังดูซิ พอเริ่มฟังตอนแรกๆก็เสแสร้ง ฟังดู โอ้โห มันเพราะตรงไหน แต่ตอนนี้เนี่ยรู้สึกว่ามันเพราะจริงๆ แต่ว่ายังคงไม่ได้คิดที่จะไปเล่นจริงจัง แต่ว่าทุกวันนี้ก็ฟัง ฟังเพราะว่าชอบ เวลาเราฟังมากเนี่ย เหมือนกับว่าเราได้เปิดโลกทัศน์ตัวเอง พอเราเอากลับมาเล่นในสิ่งที่เราเล่นเนี่ย เราก็เล่น เล่นในแบบเสียงของเราเนี่ยแหละ แต่ว่าเราอาจจะขอยืมบางสิ่งบางอย่างจาก John Coltrane จาก Stevie Ray Vaughan จาก Jimi Hendrix เนี่ย ขอยืมมาไว้ในสิ่งที่เราเล่นอยู่ ผสมผสานออกมากับตัวเราแล้วมันก็อาจจะเป็นซาวน์ดในแบบของเรา เพราะฉะนั้นก็คือ อิทธิพลมันมีอยู่รอบตัวคุณเลย อยู่ที่คุณจะหยิบมันมาหรือเปล่า

พี่หมู : ที่เราหาหรือเราฟังเนี่ย เราหาความรู้ เท่านั้นเองไม่ได้ไปยืมตัวเขามาเป็นเรา เพราะฉะนั้นน้องๆที่ฟังเพลง อย่างบางทีพี่เห็น Van Halen เป็นพระเอก แต่พี่ไม่ได้หยิบเขามาทุกอัน หยิบมาบางอันเท่านั้นที่พี่ชอบเขาจริงๆ อะไรอย่างนี้เท่านั้นเอง ไม่ได้ก็อปปี้ร้อยกว่าเพลงน่ะนะ ไม่ใช่เลย คือเราฟังไปแต่เราเห็นเขาเป็นพระเอกของเรา

คุณเอ๋ : เพราะจริงๆแล้วอย่างทั้งผมทั้งพี่หมูนี่ก็มีสอนบ้าง ซึ่งเราก็จะเจอเด็กที่เขาฟังฮาร์ดคอร์ เขาฟังอะไรอย่างนี้ ซึ่งปัจจุบันนี้อย่างฮาร์ดคอร์ผมก็ฟัง หลายๆวง วง Creed วง Korn หรือ Limp Biskit ขาดไม่ได้ หรือเมื่อก่อนแม้กระทั่ง Yngwie นี่ไม่เคยซื้อครบทุกชุดเลย พอเดี๋ยวนี้พอเราโตขึ้นเราก็เริ่มมาเปิดใจ เมื่อก่อนแบบหมั่นไส้ไง ใครๆอะไรก็ Yngwie เราก็ เอ๊ะ เราเล่นร็อคผับใหม่ๆทำไมเขาอย่างนั้นนะ เราก็ไม่เอาละ เราเล่นอย่างนี้ดีกว่า พอทุกวันนี้เราก็กลับมาซื้อเขาใหม่ แต่บางครั้งก็เจอคนที่เขาเป็นคนที่ชอบเล่นดนตรีสไตล์ใดสไตล์หนึ่ง แล้วบางคนเขาบอก "โอ้ย ยังฟังอย่างนี้อยู่อีกเหรอ?" อะไรอย่างนี้ ซึ่งกลายเป็นว่าคนที่เล่นดนตรีสไตล์ดีๆนี่ อาจจะเป็นแจ๊ส เป็นคลาสสิคคัล เป็นฟิวชั่นหรืออะไรก็ตามกลับกลายเป็นตีกรอบตัวเอง แต่ไอ้คนอย่างเราซึ่งเราเป็นคนร็อคซึ่งมองกันว่าฉาบฉวย แต่เรากลับรู้สึกว่าเรากลับเปิดกว้างกว่า เพราะฉะนั้นจริงๆแล้วก็คือทุกอย่างเวลาเราบอกลูกศิษย์ เราบอก "เฮ้ย! พี่ก็ฟังอย่างสมัยเรา เราก็ลองมาฟังอย่างพี่บ้างซิ ลองสลับกัน พี่ยังฟังอย่างเราด้วยเลย มันก็จะดีกว่า แต่ว่าคราวนี้คุณจะทำเพลงหรือคุณจะเล่นแบบไหนนี่ก็ไม่เป็นไร ไม่จำเป็นต้องฟังทุกอย่างที่คุณเล่น และก็ไม่จำเป็นต้องเล่นทุกอย่างที่คุณฟัง ครับ อะไรประมาณนี้
 
มองวงการเพลงไทยบ้านเราตอนนี้เป็นอย่างไร

พี่หมู : วงการเพลงบ้านเราเหรอ จริงๆ ลึกๆแล้วเนี่ยพื้นฐานนักดนตรีเมืองไทยสูงขึ้น แต่การได้แสดงออกอะไรก็ยังอยู่ในจุดเดิม คือสมมุติว่า 1% ส่วนการตลาดก็ 99% การตลาดหมายถึงว่าเทปก็ได้ครองหมดทั้งสื่อทั้งหลายที่จะทำให้รู้ว่าคนนี้ร้องเป็นยังไง เล่นเป็นยังไง เอ่อ…ใครมีโอกาสได้ดีก็ได้ออก แต่คนที่ได้ออกนี่มันจะมีอยู่จุดหนึ่งคือ "จุดขาย" ไง ซึ่งจุดขายเมืองไทยมาตรฐานก็เป็นแบบที่เรารู้ๆกันอยู่ตอนนี้ เขาก็เลยต้องเลือกคนในจุดนั้นไปทำ อย่างเรามันไม่ใช่จุดขายของเขา จุดของเราอาจจะแบบว่า เต็มที่ก็ 50,000 คน สมมุตินะ ห้าหมื่นนี่ก็ยิ้มแล้วนะ เราก็เลยไม่โดนเลือกไปเป็นจุดขายตรงที่เขามีสื่อไง เพราะฉะนั้นเราก็เลยเลือกทางเดินว่า ถ้าเราคิดจะเป็นตรงนี้ เราก็เลือกที่จะมาทำเทปที่มันก็ไม่ถึงกับใต้ดินนะ อินดี้อะไรอย่างนี้ เท่ห์ดีเป็นอินดี้ จุดนี้เราก็พอใจไงว่าคนที่เขาชอบเราจริงๆนี่เขาก็ฟังอยู่ ส่วนเรื่องบนดินคนทั่วไป คนมันมีหลายหลากอาชีพไง เขาก็อาจจะชอบตรงนั้น ฟังเนื้อร้อง ฟังดนตรีสบายๆนั่นก็เป็นสิทธิ์ของเขา ส่วนคนที่จะฟังเราก็ต้องไปเสาะหานิดหน่อย ซึ่งเราไม่ได้ว่าวงการมันเป็นยังไงหรอก เพียงแต่ว่ามันเป็นอย่างนี้มานานแล้วมันก็ต้องยอมรับ จะไปว่าใครก็ไม่ได้ เพราะตรงนั้นเขาก็ต้องทำเพื่อความอยู่รอด เราก็ทำเพื่อให้ได้เพลงเราออกสู่หูคน

คุณเอ๋ : อยากให้วงการมันเป็นแบบ อย่างน้อยถ้าเกิดเราไปเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ก็อยากให้มันเป็นเหมือน หมายถึงว่าเป็นเทปเราเองน่ะนะ เหมือนเมืองนอกที่แบบว่า คือสมมุติว่าลูกศิษย์หรือน้องๆที่มาคุยกับเรานี่ ทุกวันนี้เราฟัง Steve Vai ชุด Flexible นี่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ทุกวันนี้เด็กเขาก็ยัง เอ๊ย! เพิ่งมาเริ่มซื้อ คือผมก็หวังไว้ว่าวันหนึ่งงานดีๆเนี่ยคืออาจจะเป็นพี่หมูหรืองานผมหรืองานอีกหลายๆวงที่ดีๆ อีก 20 ปีหรือ 15 ปี ก็อยากให้มันยังมีอยู่บนตลาด แล้วก็อยากให้เด็กที่เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานเนี่ยเขาได้หยิบมาฟัง อย่างน้อยให้มันไม่ได้หายไปเลย ถ้าเกิดเป็นอย่างนั้นนี่ ถ้าเราเริ่มจากเด็กๆที่เขาฟังและถ้าให้เขาได้มีส่วนร่วมในสิ่งที่ดีๆนี่ เขาก็จะเป็นรากฐานที่มั่นคง

พี่หมู : ฐานมันก็อาจจะใหญ่ขึ้นเป็นสัก 2-3-4-5 %

คุณเอ๋ : พอหมดรุ่นพวกเราไปพอเป็นรุ่นใหม่ๆเนี่ย พอเขามีความคิดที่ดีๆกว่าพวกเราแล้วเนี่ย วงการมันก็คงจะดีขึ้น แต่ตอนนี้ก็คืออยากให้งานดีๆมันไม่หายไปเลย ให้มันยังได้บ้าง
 
แต่ในเมื่อวงการบ้านเรา หมายถึงคนผลิตเพลงยังทำงานกันแบบที่เป็นอยู่อย่างนี้ แล้วคนฟังจะพัฒนาขึ้นไปได้อย่างไร

พี่หมู : คือจริงๆตรงนั้นหวังไม่ได้ เพราะพื้นฐานของคนในประเทศเรา ในเอเซียเราไม่เป็นเมืองขึ้นใครเราก็ฟังแต่ตรงนี้ไง แต่ถ้าเป็นอินโนนีเซีย หรือฟิลิปินส์ หรือมาเลเซียที่พี่เคยไปนะ เพลงใต้ดินนี่ขายดีนี่น้องๆกับเพลงข้างบนเลยนะ และฝีมือแต่ละวงก็ดีเพราะพี่ก็ซื้อเทปมา ก็พี่คิดว่า พื้นฐานของคนไทยเป็นตรงนี้มานานแล้ว มันเปลี่ยนกันยาก คนไทยนี่เปลี่ยนยากอยู่แล้ว แล้วก็ คือเรามีโอกาสได้ทำตรงนี้ ได้ออกมานี่ก็ดีใจแล้วนะ ถึงแม้ว่ามันจะเป็น 1% แต่ 1% ของ 60 ล้านคนถ้าได้เต็มๆนี่ก็…(หัวเราะ)

คุณเอ๋
: ครับก็อย่างที่พี่หมูบอก ใช่ ก็คือไปหวังอะไรมากไม่ได้ แต่ว่าทำตรงนี้แล้วก็ขอเป็นส่วน เป็นเม็ดกรวดเม็ดหนึ่งที่โรยให้พื้นถนนมันแข็งแรงขึ้นก็แล้วกัน ต่อไปมันก็จะโอ.เค.

พี่หมู
: เพราะว่าพี่ได้ฟังเพวกด็กที่ญี่ปุ่นนี่ อายุประมาณยี่สิบ สิบเก้า ไปถึงสามสิบกว่าเนี่ยเขาเล่นลง อัดเทปที่แบบศิลปินต่างประเทศอย่างเช่น Yngwie หรือ Paul Gilbert เว้นช่องไว้ให้โซโลแจมกัน เราฟังเสร็จแล้ว โอ้โห เค้าไปถึงไหนกันแล้วที่ญี่ปุ่น
คุณเอ๋ : มืออาชีพเรายังปาดเหงื่อเลย

พี่หมู
: ใช่ มืออาชีพเรายังต้องปาดเหงื่อ เพราะว่าทางโน้นมันมีแรงสนับสนุน เด็กเขาก็มีพลัง มีพลังใจที่จะทำ อย่างของเราแบบฝึกเสร็จก็ต้องออกไปเล่นบาร์กลางคืนละ เอาตังค์ในเพลงซึ่งแบบธรรมดาหน่อย กลับมาก็ไม่มีเพลงอย่างนั้นจะเล่นที่ไหน ก็ต้องยอมรับนะว่าคนที่มาเที่ยวบาร์กลางคืนก์เสาะแสวงหาเพลงพวกนี้น้อย อยากเพลง กินเหล้า สบายใจคุยกับแฟน นอกจากจะมี เราไม่หวังบริษัทเทป เราหวังว่าอาจจะมีใครทำผับซึ่งเป็นร็อคเนี่ย แต่ซึ่งได้มาตรฐานจริงๆ คือผับออกใหญ่นิดหน่อย มีเครื่องมาตรฐาน เสียงไม่หนวกหูแต่ฟังออกมาแน่น แล้วก็แสงสี บรรยากาศข้างในได้
 
มีความฝันอะไรที่อยากทำเกี่ยวกับดนตรีแต่ยังไม่ได้ทำบ้างไหม?

พี่หมู : ฝันเรามีเยอะแยะ เราจะค่อยๆทยอยออกมาทีละชุด จริง ฝันมันอยู่ในหัว ในหัวทุกคนนี่ล่ะ เพียงแต่ว่าใครจะมีโอกาสได้ทำ ช่วงนี้เรามีโอกาสได้ทำ ก็จะค่อยๆทยอยทำ พี่เคยดูคนใหม่ๆอยู่เหมือนกันนะ น้องๆที่มีฝีมือดีๆซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของเด็กรุ่นต่อไป ก็คิดว่าน่าจะมาทำ

คุณเอ๋ : ฝัน…มันเอ่อ ฝันก็คง…ใช่อย่างที่ที่หมูบอก ฝันก็คงกระจายอยู่ในงานทั่วๆไปของที่เราได้ทำ แต่ก็คิดว่า สำหรับผม ผมฝันอยากจะมีสักวันหนึ่งที่ ทำกับแบนด์ดีๆ หมายถึงว่ามือกลอง มือเบสส์ดีๆ หรือมีมือกีตาร์อีกคนหรือมีนักร้องแล้วแบบว่า เล่นแบบไลฟ์สดไปพร้อมๆกันเลย แล้วก็อัดมา ผมว่ามันคงจะ…อีกอย่างก็คือซาวน์ดที่เราฟังอยู่ทุกวันนี้บางทีซาวน์ดมันบีบๆน่ะ เราอยากฟังที่มันเป็นไลฟ์เหมือนเวลาที่เราฟังวงอย่างสมมุติว่าเป็นวง Extreme ชุดที่ 4 หรือฟัง Van Halen ชุดแรกๆที่เขาเล่นสดพร้อมๆกัน แล้วพอเขาเลิกจบเพลงยังมีเสียงขวดเบียร์ปุ๊ง เป๊ง ยังมีเสียงพูด หวังว่าวันหนึ่งตัวเองอยากจะทำอัลบั้มอย่างนั้น แล้วก็ทำออกมาแล้วมันได้เพลงที่ดีด้วยและถ้าได้ห้องอัดดีๆหรือนักดนตรีเล่นกันออกมาดีๆ มันก็คงจะเป็นงานที่ดีงานหนึ่ง หวังว่าอย่างนั้น

พี่หมู : ก็คือเราอยากได้มาตรฐานแบบที่ฝรั่งเขาเคยทำไว้เมื่อสิบปีที่แล้ว เท่านั้นเองเท่าที่พอจะทำได้

คุณเอ๋ : ความฝันของเราก็คือมาตรฐาน (หัวเราะ) ทำให้งานเรามีมาตรฐานขึ้น ความจริงเป็นความฝันที่ดีนะ

พี่หมู
: มันอยู่ที่ทุนด้วยนะ เราทำชุด Fresh นี่ทุนเราน้อย ทุนจริงๆมันน้อยแต่ด้วยใจรักเราก็ทำในราคานี้มันได้

คุณเอ๋
: หลายๆคนได้ยินอาจจะตกใจว่าทำออกมาได้ยังไง

พี่หมู
: อาจจะไปทำเพลงในค่ายใหญ่ได้แค่หนึ่งเพลง (หัวเราะ) นี่รวมทั้งค่าผลิตปก ค่าอะไรด้วยนะ ก็คืออาจจะเป็นเพลงในค่ายใหญ่สักหนึ่งเพลงกว่าๆ (หัวเราะ)

คุณเอ๋
: บางคนบอกพี่มันน่าจะอย่างงี้ มันน่าจะอย่างงั้น แต่มีตังค์อยู่แค่นี้ มันออกมาได้ขนาดนี้ก็ถือว่าโอ.เค.แล้ว

พี่หมู
: บางคนถ้าเขารู้เบื้องลึกเบื้องหลังซึ่งเราไม่ได้เขียนไว้ไง เขาก็บอก อืม…มันน่าจะปึ้กกว่านี้หน่อย อย่างโง้นอย่างงี้ แต่เขาไม่รู้ว่าเรามีทุนอยู่สักเท่าหยิบมือนี่เราพยายามกลั่นกรองให้มันดีที่สุด มันได้ประมาณนี้ ซึ่งเราก็พอใจ เพราะเราก็ฟังงานที่ใช้ทุนเป็นแสนเป็นล้านเหมือนกันนะแล้วก็เปรียบเทียบ เราก็อื้ม…

คุณเอ๋
: ก็อย่างที่บอกว่างานนี่คือ จากพี่หมูหรือจากผมแล้วก็กีตาร์แล้วก็ตรงเข้า AX1500 แล้วก็เข้าอัดเลย เพราะฉะนั้นซาวน์ดที่ออกมาเนี่ย อย่างเด็กบอกว่า โอ๊ยผมต้องใช้ rack หรือ Mesa/Boogie ซึ่งพี่หมูกับผมตอนนี้อยากจะพรีเซนต์ให้เห็นตัวเราก่อน อย่างเด็กถาม "เอฟเฟกต์อะไรดีพี่?" ผมก็บอกว่ามันอยู่ที่นิ้วเรานั่นแหละและยิ่งถ้าเราได้เอฟเฟกต์ที่โอ.เค.อย่างที่เราใช้อัดเนี่ยมันก็โอ.เค.
 
นี่ถ้ามีเงินทุนมากกว่านี้ก็ต้องออกมาดีกว่านี้อีก

พี่หมุ & คุณเอ๋ : แน่นอน

พี่หมู
: อย่างมีสัก 3 แสน เราก็สามารถเช่าห้องใหญ่อัดเสียงมันก็จะออกเป็นไลฟ์มากกว่านี้ แต่อันนี้ก็โอ.เค.นะ พี่ก็ว่า เพราะว่าเราเคยผ่านประสบการณ์ตรงนี้มานานแล้ว และเราก็พยายามทำให้มันคล้ายตรงโน้นที่ผ่านมาตรงนี้ แล้วเอฟเฟกต์ตัวนี้มันก็โอ.เค.ด้วย คือคนบวกเอฟเฟกต์ก็จบ และเอ๋กับพี่เนี่ยบางทีก็เล่นเอฟเฟกต์โปรแกรมเดียวกัน แต่จะสังเกตเห็นว่าเสียงมันก็ไม่เหมือนกันนะ เพราะฉะนั้นเวลาน้องซื้อเอฟเฟกต์ตัวนี้ไปเล่น แลัวบอกว่าทำไมไม่เหมือน มันก็อยู่ที่มือน้องอยู่เหมือนกันนะ (หัวเราะ) ซึ่งถ้าเป็นนักดนตรีอาชีพมาถึงจุดนึงจะรู้ว่ามือแต่ละคนที่เล่นเอฟเฟกต์ตัวเดียวกันเนี่ย หรือกีตาร์ตัวเดียวกัน เสียงก็ไม่เหมือนกันนะ จะเป็นตัวของเขาไปเลยทันที นั่นคือเขาสอบผ่านละที่จะเป็นมืออาชีพ คือเล่นมาจนแบบว่าเข้าฝักแล้ว ก็จะมีเสียงประจำส่วนตัว ซึ่งสำเร็จไปในขั้นหนึ่งแล้ว ต่อไปก็คือสไตล์ส่วนตัว ต่อไปก็มีความสำเร็จส่วนตัว

คุณเอ๋
: อืม…ก็ต้องมีเสียงก่อนแล้วก็มีสไตล์ส่วนตัว อืม…คำพูดนี้ดี "มีเสียงก่อนแล้วก็มีสไตล์ส่วนตัว" บางคนถามว่า "อ้าว แล้วเสียงของตัวเองกับสไตล์?" คือเป็นเสียงการเล่นของเราไง แต่อาจจะยังไม่มีสไตล์ แล้วก็สไตล์ แล้วก็ความสำเร็จส่วนตัว แต่เรื่องความสำเร็จนี่ผมว่ามันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละตั้งไว้ อย่างสมมุติสำหรับผมเนี่ย ตัวอัลบั้มนี้ออกมาหรือแม้กระทั่งงาน Wizard ชุดแรกที่ทำออกมาเนี่ย ผมตั้งเป้าไว้ประมาณนี้ แล้วทุกอย่างมันเกินเป้านี่ผมถือว่า โอ.เค.แล้ว แต่บางตนอาจจะ "ทำไม คุณเอ๋ คุณไม่ได้สิบล้านแล้วคุณจะสำเร็จได้ยังไง?" ผมบอกว่า "สำหรับผมแล้วความสำเร็จมันขึ้นอยู่กับว่าเราตั้งเป้าไว้แค่ไหน"

พี่หมู
: แค่เราได้ทำ เราก็ถือว่าสำเร็จแล้ว แล้วก็ความสำเร็จนี่ มันต้องขึ้นอยู่กับ คือการที่แบบเราไม่ไปทำทับไลน์ใคร ในเมืองไทย เราตีกรอบแค่เมืองไทยก่อนนะ ทำไปเนี่ยไม่ต้องไปทับไลน์ใคร ไม่ต้องไปมองใคร มองตัวเรานี่ล่ะแล้วก็ทำออกไปเลย ไม่ต้องไปฟังใคร เพราะฉะนั้นน้องๆทุกคนที่จะทำเพลงอาจจะเป็นเด็กรุ่นใหม่ จะาฟัง "นี่ ดูวงโน้นซิ มันเล่นอย่างงี้ เราจะต้องอย่างโง้นอย่างงี้" ซึ่งแบบถ้าเรามองอย่างนี้มันจะแบบ บางทีก็หนีกันซะจนเละ บางทีก็ชอบเขาไปทำแบบเขาซะจนใกล้เคียง มันก็เกิดอาการแบบว่าออกมาแล้วก็ทับไลน์กัน หรือไม่ก็หนีกันจนเละขายไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นน้องอยากจะทำอะไรก็ทำไปเถอะ อยู่ในกลุ่มนั่นน่ะแล้วก็ทำออกมา แล้วถ้าเกิดน้องไม่ฟังใครเลยออกมางานมันก็จะแปลกกว่าคนอื่น ดีในจุดๆหนึ่งเลย จะมีจุดที่เราอยู่ ถ้าเป็นพี่จะฟัง พี่ฟังเออโอฬารเขาทำอย่างนี้นะ ลองดูซิ หรือว่า The Sun เขาทำอย่างนี้ ลองดูซิ หรือใครทำ ลองดูซิ อย่างนี้ก็ตายซิ ตามขี่กันไปเรื่อย เหมือนกันหมด
 
อย่างพี่หมูกับเอ๋เห็นด้วยที่จะให้น้องๆรุ่นใหม่ๆพยายามค้นหาซาวน์ดของตัวเอง

พี่หมู : ก็คิดดู พี่กับเอ๋คุยกันบ่อยมาก เจอกันก็บ่อยแล้วก็นั่งเล่นกีตาร์ด้วยกันก็ไม่เห็นมันจะเล่นเหมือนกันเลย เพียงแต่ว่าสไตล์อาจจะชอบ เอ้ย มีเสียงเครื่องเป่า นี่แหละเอ้อ…แต่ว่าเสียงที่ออกมาก็ไม่เห็นจะเหมือนกันเลย

คุณเอ๋
: พยายามเล่นให้ดีเหมือนกัน แต่ว่าการเล่นก็เออ…ผมก็พยายามจะเล่นให้ดีเหมือนอย่างที่พี่หมูเขาเล่นดีไว้เหมือนอย่างที่เราได้ดูเขาเล่นตั้งแต่เด็กๆ อย่างผมดูพี่หมูเล่นเพลง Somewhere Over The Rainbow เงี้ย ซึ่งมันจะมี Impellitteri เขาเล่นไง ไอ้เราเนี่ยไม่ชอบ ไม่ใช่ไม่ชอบ ผมไม่ชอบแต่เค้าเก่งแหละ เพียงแต่ฟังเค้าเล่นแล้วมันไม่เพราะน่ะ เอ๊ะแต่ฟังพี่หมูเล่นแล้วเพราะกว่า

พี่หมู
: ว้าว (หัวเราะ)

คุณเอ๋
: ครับ กลายเป็นอย่างนั้นไป เราก็ว่า "เฮ้ย ทำไมพี่หมูเล่นดีกว่า Impellitteri อีกเหรอ? เค้าเล่นแล้วมันฟุ้งกระจายฟังไม่รู้เรื่องเลย บางครั้งมันเร็วเกินไป แต่พี่หมูเค้าแบบกำลังดี พอไปถามพี่หมู พี่เค้าบอกว่า "เนี่ยพี่ยังต้องค้นหาอะไรในเพลง" ซึ่งเราก็ได้ความรู้อะไรอีกหลายๆอย่าง

พี่หมู
: ซึ่งจริงๆแล้ว Chris น่ะมันเล่นจังหวะละ 9 ตัวไง ซึ่งเราไม่สามารถจะเล่นได้ (หัวเราะ) พี่ก็เลยเล่นแค่ 6 ตัวก็สุดแล้ว

คุณเอ๋
: นี่เรากล้าพูดเลยว่าเราเล่นไม่ได้ (หัวเราะ)

พี่หมู
: มันก็อาจจะมาฟังดู เออ…มันสบายหูกว่า

คุณเอ๋
: แล้วกันก็อาจจะมีเด็กต่อไปที่เขารู้สึก "เออ…พี่เอ๋เล่นไม่เร็วเท่าคนนี้เลย แต่ว่าเขาไม่ได้ตั้งใจมาดูผมเล่นเร็วไง เขาตั้งใจจะมาดูผมเล่นอย่างอื่นไง หรืออย่างพี่หมู ผมก็จะตั้งใจไปดูพี่หมูเล่นแบบอย่างเงี้ยที่เป็นพี่หมู

พี่หมู
: ถ้าเป็นพี่เนี่ย พี่ซื้อบัตรคอนเสิร์ตไปดู Van Halen เล่นเพลง Yngwie เล่นเพลงอะไรอย่างนี้ พี่เดินกลับดีกว่า (หัวเราะ)

คุณเอ๋
: ฟัง Yngwie ดีกว่าใช่ไหม (หัวเราะ)

พี่หมู
: หรือให้ Yngwie ไปเล่น Van Halen มันก็คงตลกนะ ยืนกางขาจิ้ม สูบบุหรี่ตัว

คุณเอ๋
: ไม่ได้ ไม่ได้

พี่หมู
: มันก็ไม่เหมือนกันสักนิดหนึ่ง เขาถึงได้มีจุดที่เขาเกิด แล้วก็เขาอยู่ได้เป็นสิบๆปี จุดนี้นี่แหละที่ก็เลย เออ…ที่ผู้ใหญ่เขาเคยบอกพี่มา จุดนี้นี่แหละ พี่ก็มาบอกน้องๆที่คุยได้ต่อไปว่า "พอล่ะ! You เล่นตรงนี้พอ แล้วก็ไปดำเนินชีวิตต่อไป ถ้า You ไปมองคนซ้ายคนขวา แล้วไปแกะตามเขาไปตลอดก็ตายซิ ไม่มีวันจบ ตัวเราอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ พี่ก็ไปเจอมือกีตาร์ซึ่งเก่งๆเยอะแยะ แต่เค้าเล่นแบบจุดโน้นก็ได้ จุดนี้ก็ได้ จุดนั้นก็ได้ แต่พอเล่นเสร็จแล้ว "ใครน่ะ?" ไม่รู้ว่าเสียงแบบนั้นมันคือใคร! สำเนียงงี้ก็ไม่ใช่ เดี๋ยวก็เป็นไอ้โน่น เดี๋ยวก็เป็นไอ้นี่ คือคนเรามีจุดไหนยืนได้ ยืนเลยแล้วก็เริ่มเดิน ไม่ใช่ยืนจุดนี้เสร็จแล้วเดี๋ยวก้าวหลัง ก้าวไปทางซ้ายทางขวา มันก็หกล้มกันพอดี ได้จุดนี้เสร็จแล้วก็เดินหน้า

คุณเอ๋
: เหมือน Crossroad ไง พอเราเจอทางแยกของเราแล้วเราก็เดินไป เหมือน Crossroad ในหนังไง
 
แล้วมีมือกีตาร์เมืองไทยคนไหนไหมที่พี่หมูคิดว่าเขามีซาวน์ดเป็นของตัวเอง?

พี่หมู
: มีๆ เท่าที่ฟังนะมี โอฬาร (พี่โอ้ โฮฬาร พรหมใจ), โอม ชาตรี คงสุวรรณ, ป้อบ The Sun แล้วก็ เอ๋ Wizard

คุณเอ๋
: พี่โอ้, พี่หมู, พี่โอม
 
พี่หมูกับคุณเอ๋ช่วยฝากข้อคิดอะไรดีๆถึงน้องๆมือกีตาร์รุ่นใหม่

พี่หมู
: เล่นไปตามที่ตัวเองชอบแล้วก็ไม่ต้องไปมอง…น้องๆบางคนสมมุติว่าเขามานั่งดูพี่เล่น "ทำไงถึงจะเล่นได้อย่างพี่หมู" ซึ่งพี่ก็บอกเขาว่า "ไม่จำเป็นต้องมาเล่นให้ได้แบบพี่หรอก" พี่ไปนั่งดูบางทีแบบ "เออ…คนนี้มันเล่นอีกสไตล์" พี่ยังนั่งดูเลย เออมันไม่เหมือนเราพี่ก็ยังชอบเลยนะ พี่ก็นั่งดู มันเล่นยังไงนะ ก็คือเราจะได้มีการสื่อสารกัน ถามกัน เออมันก็ทำให้ดูน่าสนใจ แต่พอพี่ไปดูมือกีตาร์ที่เล่นเหมือนแบบฝึกหัด ซึ่งมันเป็นสไตล์ที่เราเคยผ่าน เราก็จะรู้ "อ๋อ…มันแบบฝึกที่ 26 - 27" (หัวเราะ) แล้วก็ผ่านไป อย่างเอ๋บางทีพี่ก็รู้ว่าเค้าฝึกจากแบบฝึกหัด แต่เขาก็เอามาดัดแปลงเป็นของเขา จนเป็นตัวเขา จนพี่ฟังก็ "เอ้อ…เอ๋มันคิดเองแน่ๆ" พี่ก็มานั่งถาม "เออ…เอ๋ นี่มันเล่นยังไง" อันนี้คือตัวอย่างนะ คือแบบเราก็อปได้เสร็จเราก็เริ่มทำเอง คิดเองได้แล้ว คือน้องบางคนน่ะก็อป minor ก็เล่น minor ไอ้ลูกนี้อยู่อย่างนี้ แทนที่จะดัดแปลงเป็น major ให้มันเปลี่ยนเป็นเสียงอื่นบ้าง นี่คือเบสิคง่ายๆนะ ส่วนเปลี่ยนคีย์ โมด ก็อืกเรื่องหนึ่ง น่าจะเปลี่ยนได้นะ บางคนไม่ล่ะ พอ Em ปุ๊บ โอ้โห ปั่นแหลกเลยกร่ะทั่งจบเพลง พอบอก Fm แล้วกัน (หัวเราะ) พอ Fm ก็หยุดเล่นเลย เล่น ติ๊ว ไปติ๊วเดียว หรือ F# อะไรอย่างนี้เริ่มแบบผิดตำแหน่ง คือดนตรีมันไม่ได้ยึดติดอยู่กับตรงนั้น อยู่ที่ไอเดีย พอเรามาคิดอะไรเองได้ พอเริ่มมีการแจมกันมันก็จะสบายใจ อะไรก็เล่นได้เพราะเราฝึกอย่างอื่น ไม่ได้ก็อปอยู่ที่เดียว ก็คือบอกน้องๆง่ายๆว่า พอได้ในจุดหนึ่งแล้วก็แยกย้ายกันไปหาจุดอื่นได้เลย ไม่ต้องไปตามจุดนี้จนเป็นตัวคนนั้น เพราะว่ากว่าจะเป็นตัวคนนั้นน้องต้องใช้เวลาถึง 5 ปีซึ่งถึงตอนนั้นมันก็เลิกไปแล้วไง ทำยังไงล่ะ บางทีแบบนี้มันเลิกแล้ว

คุณเอ๋
: สำหรับของผมก็อยากจะฝากเรื่องเบสิค เบสิคสำคัญที่สุด ครับ basic is the best เลย นี่ก็ฟังมาจากพี่หมูด้วยพอเราเจอมา เราก็รู้สึกว่าเออ…อย่างฝรั่งทุกคนก็เพียงแค่ว่า อย่างมือกลองเค้าตีไวมากนั่นเป็นเพราะเค้าตีส่วนนั้นอย่างเข้าใจ และเค้าตีขาดแล้วเขาก็ตีมันอยู่จนเค้าทำให้มันคล่องเท่านั้นเอง แต่ความเป็นจริงแล้วก็คือเขาสามารถ เค้าก็รู้เบสิค เหมือนกัน กีตาร์ก็เหมือนกัน ก็คือเบสิค บางทีบางครั้งถ้าเกิดเราเล่นและเราเอาแต่หลอกตัวเอง เราเอาแต่เล่นเร็ว หรือเอาแต่เล่นยากๆ แต่เราเล่นแล้วมันไม่ได้ส่วน หรือเราเล่นได้แบบเดียว คือไปแพ็คตัวเองอยู่แค่ตรงนั้นเนี่ย ตรงนั้นมันก็จะไม่ดีแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องเบสิคสำคัญที่สุด คนเก่งก็คือคนที่เล่นเบสิคจนเค้าคล่องเท่านั้นเอง แค่นั้นเอง

พี่หมู
: พูดง่ายๆ Far Beyond The Sun กับ Wonderful Tonight นี่ยากเท่ากัน

คุณเอ๋
: (หัวเราะ) โอ.เค.
 
ทิ้งท้ายด้วยการกล่าวอะไรเล็กน้อยถึงงานชุดนี้

พี่หมู
: ก็ช่วยสนับสนุนกันหน่อย (หัวเราะ) ที่เราเสนอไปนั้นก็เป็นหนึ่งไอเดีย เป็นการ…พวกเรานี่เป็นรุ่นพี่ของเด็กรุ่นน้อง ซึ่งก็จะมีรุ่นต่อๆมา ขอให้น้องๆคิดว่าพี่คือบันไดขั้นแรกหรือขั้นที่สองก็แล้วกัน ถ้าเราไม่ช่วยกันตั้งแต่วันนี้น้องก็ไม่มีขั้นที่สองหรือขั้นที่สาม เพราะพี่ก็สู้กันมาเป็นสิบปีแล้ว จนกระทั่งทุกวันนี้ไอ้เสียงแตกมันก็ยังอยู่ในตลาดอยู่ ถ้าพวกพี่ไม่ดันทุรังฝืนเล่นหรือ เขาเรียกว่าอะไร…อุดมการณ์นี่นะ…เสียงแตกคงหายไปเป็นเสียงคีย์บอร์ดหรือเป็น samp (sampling) เป็นอะไรไปหมดแล้ว เดี๋ยวนี้เรายังสู้อยู่ เพราะฉะนั้น…ในวงการร็อคนี่มันก็แคบนิดเดียว อย่าไปแบ่งพรรคแบ่งพวกมากนักเลย เอ่อ…เรื่องแบ่งพรรคแบ่งพวกนี่ก็ยังมีอยู่เสมอ เพียงแต่ว่า…อย่าเลย…เรามาช่วยกันเป็นบันไดขั้นต่อไปๆให้เด็กรุ่นน้องดีกว่า เพราะว่าเราที่เป็นถ้าบันไดขั้นนี้พัง ขั้นต่อไปพัง น้องก็พังไปด้วย ขั้นที่หนึ่งพัง ขั้นต่อไปก็พัง…สมมุติอย่างพี่แหลมเป็นขั้นที่หนึ่งนะ พี่เป็นขั้นที่สอง เอ๋เป็นขั้นที่สาม เด็กรุ่นใหม่เป็นขั้นที่สี่ อะไรอย่างนี้ มาช่วยๆกันสร้างดีกว่า ไม่ใช่แบบ เห็นว่าขั้นที่หนึ่งเขาเก่ากัน อย่างพี่ทุกวันนี้ก็ยังเคารพรักพวกพี่แหลมหรือพวกเก่าๆเนี่ย เพราะว่า ถ้าไม่มีเค้าก็ไม่มีเราเหมือนที่พี่คิดน่ะ ถ้าเค้าไม่สื่อสารไม่อะไร…เด็กบางคนก็อาจจะมองข้ามตรงนี้ไป อย่างที่พี่เคยแอบฟังหรือแอบได้ยินมา คิดมากกันน่ะเด็ก เด็กคิดมากเกินไป โดยที่ลืมว่าตัวเองยังไม่ทันเป็นบันไดขั้นต่อไปเลยไม่รู้สึก คือ พอมีบันไดขั้นที่หนึ่ง เราก็ต้องทำตัวให้เป็นบันไดขั้นต่อไป คือส่งเสริมกัน

คุณเอ๋
: ทิ้งท้ายเกี่ยวกับอัลบั้มนี้ ก็อยากให้ช่วยกันสนับสนุน สนับสนุนไปเยอะๆเถอะ ตรงผมกับพี่หมูก็ไม่ได้เยอะเท่าไรหรอก เพราะว่ามันเป็นอัลบั้มที่ทำกันด้วยใจ แต่ว่าก็อย่างที่พี่หมูบอก หรืออย่างที่ผมพูด คือมันเป็นจุดที่ทำให้ มันเป็นโอกาสสำหรับเปิดกว้างสำหรับคนต่อๆไป พอมันมีฐานกว้างขึ้นทุกคนก็แฮปปี้หมด แล้วก็ตรงนี้มันเป็นเหมือนแบบว่า เป็นอีกอารมณ์หนึ่ง สนุกสนาน ซึ่งบางครั้ง เพลงดีๆเนี่ยอาจจะต้องใช้เวลาฟัง มันอาจจะไม่ใช่แบบว่า ชอบเลย แต่บางทีบางเพลงที่เราชอบเลยเราอาจจะสามสี่วัน สามสี่เดือนแล้วเดี๋ยวเราก็เบื่อ แต่เพลงบางเพลงเนี่ย เราเปิดเมื่อไรเราก็ยัง "อึ้ม…เค้าเล่นได้ยังไง" หรือว่า…ยังคงประทับใจอยู่น่ะ เพราะฉะนั้นเพลงตรงนี้มันก็ เอาเป็นว่า ผมคิดว่ามันยังไม่ได้ดีที่สุด มันดีที่สุดในตอนนี้ แต่ในเวลาต่อไปมันจะต้องดียิ่งขึ้น แต่ตัวงานมันจะต้องดียิ่งขึ้น แน่นอน ทั้งพี่หมูหรือว่าทั้งตัวผม หรือว่าเราก็อาจจะมีโอกาสมาทำด้วยกันอีก แล้วก็อาจจะแยกกันไปทำงานส่วนตัว ซึ่งก็เชื่อว่าพี่หมูหรือตัวผมก็คงเน้นเรื่องตรงนี้ออกมา มันเป็น…คือให้เราอยู่ตรงนี้ได้ ในขณะที่เรายังสามารถทำในสิ่งที่เราทำ ไม่ได้หลอกตัวเอง…ก็ฝากไว้

พี่หมู
: แล้วพวกคุณที่เป็นร็อคใหม่ๆก็จะอยู่ในวงการนี้ได้

คุณเอ๋
: ครับ แฮปปี้ ๆ enjoy music

"Fresh" ก็เป็นอีกหนึ่งงานกีตาร์ดีๆ ผ่านการกลั่นกรองออกมาจากหัวใจและจิตวิญญาณที่ซื่อสัตย์ต่อดนตรีที่ตัวเองรักของทั้งพี่หมู Mr. Pig และ เอ๋ Wizard ก็อยากให้พวกเราช่วยสนับสนุนกัน เราจะได้มีงานดนตรีดีๆออกมาให้ฟังไปเรื่อยๆ สำหรับชุดนี้ใครที่สนใจสามารถหาซื้อได้ตามร้านเทปหลักๆเช่น JU พันธ์ทิพย์, REX, Music One ฯลฯ หรือสอบถามได้ที่ร้าน Music Concept Tel. 0-2255-6448

any comments, please e-mail   webmaster@guitarthai.com (นายดู๋ดี๋)
All Rights Reserved (C) Copyright 2000

guitarlogo.gif (2893 bytes)