GT : การเริ่มต้นเล่นกีต้าร์ของพี่ เริ่มยังไงครับ
พี่โอ๊ต : เออ..เริ่มต้นจากพี่ชายพี่เลยครับ คือกีต้าร์ของพี่ชาย ซึ่งตอนที่เขาเป็นวัยรุ่น เราก็ยังเด็กอยู่ อายุก็ห่างกันเยอะ แล้วพอเขาวางเราก็แอบไปเล่น จริงๆแล้วเขาห่วงนะ เป็นกีต้าร์โปร่ง แล้วเราก็หัดเล่น ก็เริ่มเล่นประมาณ.. 11 ขวบ 12 ขวบอะไรอย่างนี้ครับ ก็เริ่มฝึกเพลงฝรั่งก่อน เพราะเมื่อก่อนพี่ชายกับญาติๆเขาจะเล่นเพลงฝรั่งกัน ก็เลยหัดจากเพลงพวกนั้นมาเรื่อยๆ
GT : เริ่มต้นจากการตีคอร์ดเล่นธรรมดาหรือเปล่าครับ
พี่โอ๊ต : ไม่ครับ เริ่ม “ลีด” เลย (หัวเราะ)
GT : แปลกกว่าคนอื่นเลยครับพี่
พี่โอ๊ต : (หัวเราะ) นั้นก็เพราะเราเป็นคนฟังเพลงมาเยอะตั้งแต่ยังไม่ค่อยรู้อะไรเท่าไหร่นัก เพราะว่าพี่ชายก็สะสมเพลง น้าก็นักฟังเพลงอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นเราก็รู้สึกว่าไอ้เมโลดีเหล่านี้มันอยู่ในหัว พอเราจะเริ่มหัดกีต้าร์โดยแอบเขาเล่นเนี่ยะ โดยที่เราจะนึกถึงเมโลดีของเพลงเหล่านั้นแล้วเราจะเล่นเมโลดีก่อน แล้วหลังๆก็พอจะมาเรียนรู้ว่า เออ..ควรจะต้องมาหัดเล่นคอร์ดก่อน ก็มากางหนังสือ โดยที่หนังสือเบสิคสมัยนั้นก็คือ The Guitar ครับ
GT : แล้วพี่ใช้หลักอะไรมาเป็นตัวกำหนดในการหัดลีด เพราะถ้าไม่ได้ศึกษามาก่อนมันค่อนข้างที่จะยากต่อการเล่น
พี่โอ๊ต : อืม..ใช่ๆๆ ก็จริงๆแล้วมันก็เหมือนกับเราหัด ear training ไปโดยไม่รู้ตัวนะครับ เพราะว่าบางที เราฟังมากๆเนี่ยะ พอเมโลดีมันอยู่ในหัวแล้วเนี่ยะ เราก็เริ่มจากเส้นเดียวก่อน แล้วก็ไปหลายๆช่องอะไรอย่างนี้
GT : หลักสูตร Berklee เลยนะพี่
พี่โอ๊ต : จริงดิ จริงเหรอ !! (หัวเราะ) เออ !! เราไม่รู้เลยนะ ทีนี้พอไปหลายๆช่อง เราก็รู้สึกว่าอย่างนี้มันก็น่าจะเคลื่อนที่ ขึ้นลง อะไรได้นะ ก็ค่อยๆเพิ่มจากเส้นเดียวมาเป็นสองเส้น ขยับขึ้น จากตรงนั้นเนี่ยะเราก็จะเริ่มรู้แล้วว่ามันน่าจะมีสูตร มันน่าจะมีวิธี แล้วเราก็จะรู้มัน คือพี่เป็นคริสเตียนนะ เลยเรียกว่าสิ่งนี้เป็นของประทาน เป็นภาษาของคริสเตียน คือสิ่งเหล่านี้พระเจ้าให้เรามา แล้วพอเราจับทิศทางจับอะไรตรงนี้ได้แล้วเนี่ยะ มาฟังเพลงเยอะหน่อยแล้วก็มาเปิดหนังสือหนังหลังๆของ the guitar ทฤษฎีสอนอยู่ เราก็มาเปิดดู ก็อ๋อ..มันเป็นอย่างนี้นั้นเอง อย่างไอ้ Circle ของคอร์ดอะไรอย่างนี้ เราก็เอามาใช้ สมัยก่อน อืม เขาเรียกว่า เอ่อ..แกะเพลงตามคีย์ ให้หัวคีย์มาแล้วรู้ได้เลย ประมาณนั้น เราก็ฝึกฝนจากตรงนั้นด้วย แต่ต้องประกอบกันสองอย่างเลยคือเปิดท้ายหนังสือ the guitar และการฟังเพลงเยอะๆ
GT : ช่วงแรกนี่พี่ฟังเพลงใคร ในตอนหัดครับ
พี่โอ๊ต : ที่อยู่ในหัวเลยก็คือ อัลบั้ม hotel california ของ the eagles น้าเขาซื้อมาเก็บไว้ คือเราไม่รู้หรอกว่ามันเป็นยังไง แต่เรารู้สึกว่าเพลงมันเพราะ อย่าง hotel california,new kids in town ที่อยู่ในชุดเดียวกัน เฮ้ย!! มันจับใจเรานะ แล้วเราก็จำมันมาตั้งแต่เด็ก ตอนเอากีต้าร์โปร่งมาลองดูเราก็เล่นเพลงเหล่านี้นะ เรารู้สึกดีกับเพลงเหล่านี้ มันก็ออกมาเอง แล้วส่วนใหญ่ในบ้านก็ไม่ค่อยมีเพลงไทยนะ ถ้าจะมีก็เป็นของพ่อของแม่เลย เป็นธานินทร์,ดาวใจ อะไรอย่างนี้ถ้าเป็นของน้าของพี่ชายก็จะเป็น scorpion ที่เป็น live in tokyo มี ac/dc อะไรอย่างนี้ ก็คงจะเป็นสมัยนั้นที่วัยรุ่นบ้าและฮิตเพลงเมตัลนะ ก็เลยนิยมมาเล่นแบบนี้มากกว่า
GT : พอเริ่มหัดโซโล่ อะไรอย่างนี้ พี่มีความคิดที่อยากจะไปเรียนหรือเปล่าครับ
พี่โอ๊ต : ตอนนั้นยังนะ ช่วงนั้นตอนเล่นคล่องๆแคล้วเนี่ยะยังอยู่ในช่วงตอนอยู่ม.ปลาย จะร่วมกลุ่มเพื่อนๆแล้วก็ซ้อมดนตรี เอ่อ..ต้องท้าวความหน่อย เพราะพี่มาจากวงโยธวาทิตเหมือนกัน คือตอนม.ต้นเนี่ยะก็ไปตามเพื่อนนั้นแหละ เห็นเพื่อนมันบอกว่า ถ้าอยู่วงโยเนี่ยะ ไม่ต้องเข้าเรียน (หัวเราะ) เราก็เฮตามเพื่อนไป แล้วตอนนั้นเครื่องก็มาใหม่ เขาก็ให้เด็กนักเรียนเลือกเอาเลย โดยไม่ดูว่าใครเล่นอะไรเป็น เราก็คว้าทรัมเป็ตก่อนเลย เป่าพรวดแรก ไม่มีเสียง(หัวเราะ) เพราะมันต้องมีวิธีบังคับปาก เราไม่รู้ไง เลยเปลี่ยนเป็นเครื่องที่มันเป่าง่ายกว่านี้ (หัวเราะ) แต่จริงๆแล้วมันไม่มีเครื่องไหนง่ายเลยนะ เราก็มาเลือกเครื่องที่เป็นเบส ก็เลยได้พื้นฐานจังหวะมาจากตรงนี้ด้วยมั้ง
GT : อย่างนี้ทุกวันนี้พี่ก็เล่นเครื่องเป่าพอได้อยู่หรือเปล่าครับ
พี่โอ๊ต : คืนครูเขาไปหมดแล้ว (หัวเราะ) เป่าไม่ได้แล้วครับ เอ่อ..พอรวมวงจากเพื่อวงโยธวาทิตแล้วเนี่ยะก็จะมีกลุ่มเพื่อนที่ฟังเพลงคล้ายๆกัน แล้ก็อยากเล่นเป็นแบนด์ที่มีกีต้าร์ มีกลองอะไรอย่างนี้ ก็เลยจับกลุ่มกัน แล้วก็แกะเพลงเล่นตามเทป แต่ก็ยังไม่ได้คิดจริงจังอะไรนะ จนช่วงประมาณ ม.6ที่จะเข้ามหาลัยแล้ว มันมีบางอย่างที่รู้สึกว่าเป็นจุดยืนของเรานะ คือ เพื่อนๆที่ซ้อมด้วยกันมาที่เฮฮาด้วยกันมาเนี่ยะ เขาเริ่มที่จะแยกสายแล้ว เขาเริ่มพักเรื่องดนตรีไว้ แต่เราก็คิดว่านี่ก็ยังเป็นทางของเรา ที่นี้ก็เลยเริ่มเล่นอย่างจริงจัง แต่ก็ยังอยู่กับการวิเคราะห์เพลงและการฟังเพลงอยู่นะ และตอนนี้เราก็ไม่ได้ฟังแค่กีต้าร์อย่างเดียวแล้วไง ถึงแม้ว่าเราจะเลือกมันเป็นเครื่องดนตรีหลัก เราเริ่มฟังการเรียบเรียง ฟังเมโลดีร้อง เริ่มหาความหมายของเพลงที่เป็นเพลงสากล มันเลยได้อะไรที่มากกว่ากีต้าร์มากขึ้น แบบถ้าไม่ใช่คอเดียวกันนี่ (หัวเราะ) โอเค ตอนม.ปลายมันก็เป็นกลุ่มที่ฟังเพลงเฮวี่ แต่ถ้าคุยอะไรที่ลึกไปกว่านี้ แบบเป็นเรื่องวิชาการรี่เริ่มไม่รู้เรื่องกันและ
GT : หลายๆคนเป็นอย่างนี้เยอะนะพี่
พี่โอ๊ต : ใช่ไหม !! พี่ว่าใครที่เป็นนักดนตรีก็จะเป็นอาการแบบนี้แหละ พอเริ่มหาตัวเองเจอก็จะเริ่มคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ) พอเริ่มเข้ามาอยู่กรุงเทพ ก็มีโอกาสได้เรียนนิดหน่อย โอกาสดีครับ ตอนนั้น อ.วิรัช ยังสอนเรียบเรียงอยู่ที่สยามกลกาล แต่เรียนไม่จบหรอกนะ ก็โดดเรียนกลางทาง (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าหลักสูตรไปช้า ไม่ทันใจเรา ตอนนั้นก็ได้ตำรามา ก็เอามานั่งฝึกเอง ก็ยังไม่ถึงกับเก่งนะตอนนั้น จริงๆตอนนี้ก็ยังไม่เก่งหรอก (หัวเราะ) คงเป็นช่วงวัยรุ่นด้วยแหละ พอบางอย่างซับซ้อนก็ไม่เอาแล้ว ก็กลับมาแกะเพลงเหมือนเดิมดีกว่า
GT : แล้วกับการไปเรียนโซโล่เพิ่มเติมมีหรือเปล่าครับ
พี่โอ๊ต : ไม่มีครับ อืม..อีกส่วนที่เพิ่มเข้ามาตอนที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพแล้วคือ “การได้ไปเห็นคนอื่นเล่น”
คือนอกจากการฟังเพลงและอ่านหนังสือ ติดตามข่าวสารจากหนังสือบันเทิงซึ่งอันนี้ก็สำคัญ
อย่างเมื่อก่อนก็จะมี quiet storm มีบันเทิงคดีของพี่ซันอะไรอย่างนี้ music express สมัยพี่หน่อย อันนี้เจ๋งมาก !! ต้องให้เครดิตทุกคนเลย เพราะคนเหล่านี้เป็นเหมือนครูของเรา ส่วนที่สำคัญคือการไปดูคนอื่นเล่น คือพี่ทันไป rock pub สมัยที่ ชัคกี้ ยังเล่นอยู่ kaleido รุ่นนั้น ก็ตะลึงเลยนะ !! เด็กบ้านนอกไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้ โอ้โห !! เพลงที่เราเคยฟังจากเทป แล้วได้มานั่งดูวงที่เล่นสดจริงๆมันเป็นอย่างนี้ อยากจะแนะนำนักดนตรีรุ่นใหม่ ว่าให้ไปนั่งดูคนอื่นเล่น มันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดนะ เพราะมันเกิดไฟได้ง่ายมาก มันเกิดความรู้สึกที่อยากเล่นได้ง่ายมาก การฟังจากเทป มันก็จะมันส์ได้ประมาณนึง แต่การไปดูตรงหน้า มันแบบโอ้โห!! อยากกลับบ้านมาเล่นเลย (หัวเราะ) อย่างวันนั้น ไปนั่งดูเขามา ก็กลับบ้านเล่นเลยนะ มันเป็นการเพิ่มประสพการณ์ให้ตัวเอง แล้วอีกโอกาสนึงก็คือ อืม..ช่วงนั้นพี่เรียนอยู่ที่ม.ราม ก็มีเวลาที่ค่อนข้างจะจัดการได้หน่อย แล้วช่วงนั้นเล่นกลางคืนด้วย ประมาณปี 35 หรือ 36 เนี่ยะเริ่มเป็นนักดนตรีอาชีพแล้ว เล่นอยู่ประมาณ 2 ปีกว่าๆ ก็ได้โอกาสดีเหมือนกันตรงที่เราไม่ได้เล่นเพลงไทยเลย วงที่เราเข้าไปอยู่เล่นเพลงสากล
GT : เล่นที่ไหนครับ
พี่โอ๊ต : อืม..ไม่รู้ว่าปัจจุบันนี้ ร้านยังอยู่หรือเปล่านะ ชื่อร้าน จัตุรัส ผับครับ อยู่ตรงหลักสี่ (หัวเราะ) ไม่น่าอยู่แล้ว นะ เพราะมันทุบแล้วทำเป็นทางขยายเลนไปหมดแล้ว คือเพลงสมัยก่อนที่เป็นเพลงไทยเนี่ยะ แล้วสามารถโชว์ฝีมือได้เนี่ยะ มักจะเป็นเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งก็คือ “คาราบาว” นั่นแหละ เพลงคาราบาวยุคที่อ.ธนิตย์ ยังอยู่เนี่ยะ มันเป็นยุคที่คลาสสิคมากเลยนะ คือมันสามารถเล่นกับแบนด์แล้วสนุกได้ แล้วก็มีเพลงพวกนี้เขามาผสมนิดหน่อย ที่เหลือก็จะเป็นเพลงสากลสแตนดาร์ดที่วงดนตรีกลางคืนเขาเล่นกัน แล้วก็ไม่น่าเชื่อเลยว่า ปัจจุบันวงดนตรีกลางคืนก็ยังเล่นเพลงเหล่านั้นอยู่ เพลงอย่าง hotel california ,wonderful tonight อะไรอย่างนี้ ตอนเด็กเราก็เล่น มาดูเด็กสมัยนี้ก็ยังเล่นกัน (หัวเราะ) แต่เป็นเรื่องดีนะ แล้วถ้าเราแกะมันแล้วทำความเข้าใจกับมัน โดยที่ไม่ได้เล่นแบบซังกะตายนะ เราจะพบอะไรแบบยิ่งเล่นยิ่งเจออะไรเยอะขึ้นเรื่อยๆ ก็ฝึกจากตรงนั้นมา
GT : ที่นี้พอพี่เริ่มคิดเล่นมันอย่างจริงจัง พี่มีการแบ่งเวลาซ้อมยังไงครับ
พี่โอ๊ต : เคยลองจัดการตัวเองเหมือนกันนะ เรื่องแบ่งเวลาซ้อม แต่..ทำไม่ค่อยได้หรอก (หัวเราะ) อย่างยุคที่เราเล่นดนตรีกลางคืนเนี่ยะ มันเป็นยุคเฟื่องสุดขีดของกีต้าร์ฮีโร่พอดี คือช่วงประมาณกลาง 80 หรือปลาย 80 เนี่ยะแหละ มันมีสื่อนะ มีแท็ป มีวีดีโอ สมัยก่อนไม่มีวีซีดี เป็นวีดีโอล้วนๆ เราก็นิสัยไม่ดี ก็ไปยืมเพื่อนมา ไม่ยอมซื้อ (หัวเราะ) เพราะเมื่อก่อนแพง เราก็เอามาเรียนรู้ด้วยตัวเอง
GT : อย่างนี้ต้องไป rex แน่นอน
พี่โอ๊ต : ไป!! ไม่พลาดแน่ ยังจำได้เลย เจ้หงษ์เนี่ยะ (หัวเราะ) เราก็ซื้อมา แต่ก็ดูไม่ค่อยทนหรอก (หัวเราะ) เราเป็นคน..ขี้เกียจ (หัวเราะ) เราดูได้ประมาณนึงแล้วก็คิดว่า มานั่งแกะเองดีกว่า แต่ว่าหลายๆอย่างก็ได้มาจากแท็ปนะ เพราะว่าลูกบางลูกเนี่ยะ เราวางนิ้วผิดมาโดยตลอดเลย แล้วก็อันนี้แหละที่พี่เอามาตั้งเป็นเกณฑ์การฝึก คือบางเรื่องเนี่ยะที่เราเล่นผิด แล้วเราต้องเริ่มเล่นใหม่ ถ้าเราทำใจยอมเล่นมันใหม่ได้จริงจะดีมากเลย ซึ่งปัจจุบันนี้พี่ก็ฝึกอย่างนั้น จากที่เคยเล่นผิดมาเนี่ยะแล้วมาเล่นมันให้ถูกวิธี มันทำให้เราเคลื่อนที่ได้ง่ายกว่า แล้วมันทำให้เราประยุกต์ไปถึงวลีอื่นๆได้ด้วยนะ
GT : ถึงขนาดที่ต้องเปลี่ยนทั้งหมดเลยหรือเปล่าครับ
พี่โอ๊ต : มันก็ไม่ทั้งหมดนะ อย่างสมัยนั้นลูกที่ฮิตๆกันก็คือ sweep ของ yngwie จะนำหน้ามาก่อนเลย ก็บางครั้งพี่ก็เล่นไม่ได้ ก็จะเอาไปประยุกต์ใช้ แต่หลักๆก็จะเป็นลูกของ yngwie นั่นแหละ ซึ่งวิธี sweep มันก็ไม่ค่อยหนีจากกันเท่าไหร่หรอกนะ เพราะมันก็คือคอร์ดนั้นแหละ
GT : ทั้งหมดนี้เท่ากับว่า การฝึกของพี่หนักไปที่การแกะเพลง
พี่โอ๊ต : ใช่ครับ
GT : รองลงมาค่อยเป็นการวิเคราะห์
พี่โอ๊ต : อันนี้เฉพาะในส่วนของกีต้าร์นะ เพราะพี่ก็เรียนรู้ในเรื่องอื่นไปด้วยเช่นกัน นั้นคือเรื่องของการแต่งเพลง
GT : แล้วกับเรื่องของการอ่านโน็ตหละครับ
พี่โอ๊ต : ก็ช่วงตอนโดดเรียนจากอาจารย์วิรัชนั่นแหละ (หัวเราะ) ช่วงนั้นจะเอาตำราเหล่านั้นมานั่งดู แล้วพี่จะเป็นคนบ้าตำรา คือเราจะซื้อๆไว้แล้วก็มานั่งดูว่าใครเขียนบ้าง (หัวเราะ) จริงๆแล้วไม่น่าไปบ้าซื้อมากเลย ทฤษฎีก็มีเหมือนกันแหละ เราเอาทฤษฎีหลักๆก่อน ก็เอาตรงนั้นมานั่งดู แล้วเอามาเทียบกับตำราที่เป็นกีต้าร์ ก็จะรู้ว่าตรงนั้นมันเรียกว่าอย่างนี้นี่เอง บางอย่างเราเล่นมาตั้งนานแล้วแต่เราไม่รู้ชื่อมัน อย่างเรื่อง mode หรือ scale พอเรามาดูแล้วก็ อ๋อ !!ไอ้แบบนี้มันเป็นอย่างนี้นั่นเอง มันเล่นกับเพลงที่เราเคยเล่นอยู่ อืม..อย่างเพลง hotel california มันมีลูกบางลูกที่เป็นลูกในคอร์ด เออๆ!! เราเคยเล่นแบบนี้มานะ แต่เราเรียกมันไม่ถูก ก็ได้เรียนรู้ตรงนั้นไป
GT : แล้วกับในการเล่นแบบ Speed Picking ตรงนี้พี่ฝึกยังไงครับ
พี่โอ๊ต : พื้นฐานจริงๆ พี่ไม่ได้เป็นคนเล่นเร็วมากนะ จริงๆแล้วพี่มาจากบลูส์มากกว่า ในส่วนตรงนี้ก็จะเอาเท่าที่สามารถได้ประมาณนึง คือบางทีเรารู้ว่า sweep เล่นแบบนี้ arpeggio เล่นแบบนี้ หรือลูกนิ้วไวๆมันมีการไปแบบนี้ บางทีเราก็เล่นไม่ได้ แต่ก็เคยฝึกเหมือนกันนะ
GT : พี่ต้องมานั่งฝึกกับเมโทรนอมเลยหรือเปล่าครับ
พี่โอ๊ต : ต้องทำเลย สมัยก่อนพี่จะมี rhythm box ของพี่ชาย ก็จะเล่นกับมันเป็นเมโทรนอม พี่ว่ามันเป็นเรื่องสำคัญเลยนะ เพราะตั้งแต่เล่นมาเนี่ยะ ที่โดนด่ามากที่สุด ตั้งแต่เล่นดนตรีอาชีพมาเลยนะ ก็คือ “จังหวะ” ถ้าจังหวะเราไม่ได้ เราก็เล่นกับใครไม่ได้หรอก แล้วก็จังหวะของแต่ละวงมันก็ไม่เหมือนกันด้วยนะ เราต้องเรียนรู้มัน จังหวะของมือเบส มือกลองมันเป็นยังไง เราต้องเรียนรู้เขา พอรู้ฟิลแล้วเราก็เอาตรงนั้นเป็นหลักได้ด้วย พี่เองก็จะฝึกกับเมโทรนอมนี่แหละ สำหรับการเพิ่มสปีด หรือว่าเพิ่มอัตราส่วนของโน็ตเข้าไป
GT: จะสังเกตุได้ว่าเวลาพี่โซโล่ออกมาเนี่ยะมันได้สำเนียง และความเป็นยุค 80 ราวๆนั้น และพี่ก็ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการแกะเพลงและสำเนียง เป็นอย่างมาก อยากให้พี่ช่วยพูดถึงตรงจุดนี้ต่อน้องๆหน่อยครับ
พี่โอ๊ต : อืม..เล่นกีต้าร์เปรียบเหมือนคนพูดนะครับ บางทีคนพูดมากจนเราไม่รู้เรื่องก็มี บางคนเนี่ยะเขาไม่ค่อยพูด แต่พอพูดมาแล้วมันจับใจเลยนะ กีต้าร์ก็เหมือนกัน เราไม่ต้องการคนพูดมาก เราต้องการคนพูดรู้เรื่อง ซึ่งปัจจุบันนี้ ต้องขอโทษที่ต้องพาดพิงนิดนึงนะ คือคนเล่นใหม่ๆมันหาพูดครับรู้เรื่องได้น้อยนะครับ แล้วไม่ค่อยมีใครพูดแบบเป็นตัวเองนะ พูดเป็นคนอื่นหมดเลย แต่มันก็ดีนะ!! ดีในแง่ของแรงบัลดาลใจ ให้มีแรงที่อยากจะเล่น แต่ว่า ที่สำคัญที่สุดแล้วเนี่ยะวันนึงมันต้องมาถึงจุดที่เราจะต้องเป็นตัวเอง คืออยากให้ทุกคนให้ความสำคัญกับการเป็นตัวเองมากกว่า เป็นตัวเองก็คือแบบ วันนึงที่เราเบื่อที่จะเล่นเพลงของชาวบ้านแล้ว วันนั้นถ้าเราต้องยอมรับความจริงว่าเราไม่อาจจะเป็นคนนั้นได้ตลอดไป ไม่อาจว่ามีฉายาว่า เป็นไอ้คนนั้น คนนี้เมืองไทย อะไรอย่างนี้ เราก็ต้องกลับมาใส่ใจแล้วหละ เราควรจะไปยังไงต่อ แล้วเอาข้อดีของเราขึ้นมาใช้ และพยายามปรับข้อด้อยที่มีอยู่
GT : แล้วกับทุกวันนี้พี่ยังแกะเพลงอยู่หรือเปล่าครับ
พี่โอ๊ต : ทุกวันนี้ไม่ค่อยแล้วครับ ด้วยหน้าที่การงาน ด้วยอาชีพแล้วเนี่ยะปัจจุบันนี้ หลายๆอย่างมันวิ่งไปพร้อมกัน เดี๋ยวนี้พี่จะหาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเพลง แล้วก็พวกทักษะในการแต่งเพลงกับการเรียบเรียงด้วย วิธีการที่เราไม่เคยใช้ หรือวิธีที่เราไม่เคยเขียนเนื้อเพลง ทำนอง พี่จะให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้มาก
GT : แล้ว Street Funk Rollers เกิดขึ้นมาได้ยังไงครับ
พี่โอ๊ต : Street Funk เกิดในยุคที่อินดียุคแรกเริ่ม พี่รู้สึกอย่างนั้นนะ ยุคที่ sepia มา อืม..มี ดอนผีบิน แล้วมาเปรี้ยงเลยกับ modern dog วงนี้เป็นแรงใจมากๆ เป็นวงที่ทำให้ทุกๆคนกล้าหาญที่จะออกมาทำเอง แล้วเราก็รู้สึกว่าน่าจะทำได้ในเวลานั้น มันก็เป็นจุดเดียวที่เรารู้สึกว่า เราเบื่อที่จะแกะเพลงคนอื่นแล้ว เราอยากที่จะทำอะไรเป็นของตัวเองบ้าง ที่เป็นแนวทางของเรา ก็เลยกำเนิดมาเป็นวงนี้ขึ้นมา ทำกับมือเบสคนเก่าก่อน ชื่อ ก้อย ก็เริ่มกัน 2 คน ทำเดโมมา 4 เพลง แล้วจากตรงนี้ก็มาเป็นอัลบั้มเต็มชุดหนึ่ง
GT : จากที่พี่เล่นกีต้าร์อย่างเดียว แล้วต้องมาทำงานในส่วนเนื้อร้องไปด้วย พี่มีแนวคิดในการแต่งอย่างไรครับ
พี่โอ๊ต : จริงๆแล้วนะ ไปสังเกตดูได้เลยว่า ใครที่ทำชุดแรกด้วยตนเอง หรือใครที่ใหม่ๆในวงการเนี่ยะ แล้วทำชุดแรกนะ เนื้อเพลงไม่ค่อยมีเพลงรักหรอก (หัวเราะ) เรื่องส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ซีเรียสกับชีวิต จะเป็นปรัชญา จะเป็นความจริงของชีวิต จะเป็นยังงั้นอย่างนี้ พี่ว่ามันธรรมดา เพราะว่าเราร้อนวิชา (หัวเราะ) อืม..มันเหมือน..กับหมาที่กำลังจะหลุดออกจากประตูบ้าน แล้วก็รีบมุดๆ แล้วก็จะรีบวิ่งๆไปประมาณนึง พอเรามีโอกาสได้ทำ แล้วเจ้าของหรือนายทุนตอนนั้นคือ ร่องเสียงลำไย เขาก็ไฟเขียวเต็มที่ เราก็แบบโอ้โห!! เราก็ใส่เต็มที่กับเนื้อเพลงเลย แรงบัลดาลใจจากตอนนั้น ก็มาจากเรื่องที่เราอ่าน เพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก แล้วก็ผสมกับเรื่องที่เราเคยได้ยินได้ฟังมา อย่าง “เพลงของกู” ที่อยู่ในชุดแรก เราก็ได้ฟังมา แล้วเอามาผสมกับปรัชญาที่เราเคยอ่าน
GT : แต่ค่อนข้างจะประสบความสำเร็จอย่างแรงเลยนะ
พี่โอ๊ต : ในแง่ชื่อเสียงตอนนั้นนะ ใช่เลย
GT : โดยเฉพาะเพลงของกู
พี่โอ๊ต : ครับ ก็ยังมีคนถามถึงจนทุกวันนี้ว่าพี่พูดถึงใคร (หัวเราะ)
GT : ในช่วงเวลานั้นในขณะที่ทุกวงจะเป็นอัลเทอร์เนทีพที่ไม่ได้โชว์ในส่วนของกีต้าร์ แต่ Street Funk Rollers กลับทำเพลงออกมามีโซโล่ที่ยาวและโชว์การเล่นเต็มที่ ในส่วนของไลด์โซโล่ในอัลบั้มพี่คิดมันออกมาอย่างไรครับ
พี่โอ๊ต : เงื่อนไขของตอนนั้นคือ “เวลา” เรามีอิสระมากเลยนะ มีเวลา 1 ปี ที่กินนอนในบ้านพี่ฮาร์ท เจ้าของร่องเสียงลำไย แล้วเครื่องบันทึกเสียงเนี่ยะ เขาก็เป็นคนแรกๆเลยนะที่เอา pro tool เข้ามาใช้บันทึกเสียง แล้วเราก็อยู่กับมันเลยนะ อยู่กับเอนจิเนียร์คนนึงชื่อ มด อยู่กันสองคนเลยนะในห้องนั้น 1 ปีเต็มเลย ซึ่งในเวลา 1 ปีนั้นมันสามารถเกิดได้ทุกอย่างเลย เราอิสระ แม้ตอนนั้นเราจะยังไม่เรื่องของเงินอะไรมากนัก เพราะเรายังเรียนหนังสืออยู่ ฉะนั้นเรื่องสตางค์เราก็เลยไม่ห่วง ที่บ้านยังส่งให้อยู่ แล้วสองคือพอเรามีเวลามากๆเนี่ยะ ในหนึ่งวันเราก็อยู่กับเครื่องมืออย่างนึง จะอยู่กับกีต้าร์ตัวนี้ เอ็ฟเฟ็คตัวนี้ พอมันมีเวลามากๆเนี่ยะ เราก็จะคิดออกว่ามันน่าจะเป็นอะไร แล้วเราก็จะรวบรวมสิ่งเหล่านี้เข้ามา มันน่าจะมีท่อนแบบไหนยังไง ที่ทำให้โซโล่ของเราพุ่งขึ้นมาได้ พอมีเวลาแล้วเราก็ไม่กลัวอะไรเลย เราก็สามารถทำได้ตลอดเลย แล้วพอคิดเสร็จก็อัดได้เลย เพราะเครื่องมือมันอยู่ตรงหน้า พอเราอัดได้เลยเราก็จะมีข้อมูลอยู่เยอะขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเราก็ได้เพลงอย่างที่ใจเราต้องการในเวลานั้น ในอายุขนาดนั้น แล้วก็เรียกว่าเก็บรายละเอียดแทบจะทั้งหมดได้เลยนะ
GT : อีกอย่าง เพลงของพี่ค่อนข้างจะยาวมากเลย พี่เอาอะไรมาตัดสินใจว่า เพลงนี้ควรยาวประมาณไหน
พี่โอ๊ต : บอกตรงๆเลยว่าไม่ได้คิดเรื่องของเวลาในเพลงเลย คือมีไอเดียเท่าไหร่ก็ใส่ให้หมดเลย เพราะตอนนั้นก็ไม่ค่อยฟังเพลงป็อปด้วย โดยเฉพาะเพลงไทย ดังนั้นเพลงไทยในยุคนั้นเราจะตกหล่นมากเลย เราไม่รู้จักเลยว่าเป็นใครบ้าง แต่เรารู้สึกว่ามันประมาณอย่างนี้น่าจะเหมาะสม แต่ถ้าอายุขนาดนี้แล้วมองกลับไป อินโทรมันน่าจะแค่ 2 ยกวะ หรืออันนี้มันยาวไป 4 บาร์หลังไม่ควรมี ในอายุขนาดนั้นเราไม่รู้หรอกว่าเพลงมันควรจะสั้นยาวขนาดไหน เรารู้แต่ว่า 4 ยก กำลังดี หรือตรงนี้ให้ fade out หรือให้เหลือแต่กลอง ก็เลยไม่ค่อยคำนึงว่าจะเป็นยังไง แล้วด้วยที่เราปลูกฝังจากเพลงยุคเก่าๆมา ความรู้สึกแบบนั้นมันเลยอบอวล มันเหมือนกับ 1 ปี เราขังตัวเองกับเวลาและสิ่งแบบนั้น เราไม่ได้มองข้างนอกมาก แล้วอิทธิพลของเอนจิเนียร์ก็ไม่มีผลนะ เพราะเขาจะฟังพวก enigma ซึ่งไม่ใช่แนวเราเลย
GT : ฟังพวกซาวด์
พี่โอ๊ต : เออๆๆ !! แล้วเขาก็ไม่พูดด้วยนะ ว่าเอาแบบนี้ไหม แบบนั้นไหม เราก็เอาแต่ดิบๆอย่างเดียว แล้วเขาก็เลนกับเราด้วย แบบอยากตั้งไมค์แบบไหนก็เอาเลย ตามเรา
GT : งั้นทุกอย่างที่ออกมา ก็คือมาจากพี่ 100 เปอร์เซ็นต์เลย
พี่โอ๊ต : ใช่ครับ!!
GT : แล้วค่อยส่งให้เบสกับกลอง แล้พี่มีไอเดียให้เขาหรือเปล่าว่าจะต้องใส่หรือเล่นประมาณไหน
พี่โอ๊ต : มีนะ แต่ว่า..มือกลองเขาก็บอกว่า พี่โอ๊ตคิดมาแล้ว แล้วผมจะคิดอะไรต่อ (หัวเราะ) แต่จริงๆเราอยากเปิดโอกาสให้เขานะ แต่จริงๆเราก็โปรแกรมมาให้เขานะ ก็บอกว่า เฮ้ย!! ไข่ เอาแบบนี้นะ ฟิลแบบนี้ แล้วที่เหลือไข่ไหลเลยนะ มันก็เล่นตามเราหมดเลยนะ ซึ่งมันก็ได้ประมาณนึง ต้องขอบคุณพระเจ้าที่ให้มือกลองแบบนี้มา เขาแม่นเรื่องจังหวะมาก คือเป็นสิ่งที่เราเชื่อมาตลอดว่านักดนตรีควรจะมีจังหวะที่ควรเชื่อถือได้ แล้วก็ไปในทางเดียวกันได้
GT : แล้วโซโล่เกิดจากการที่พี่เตรียมมาหรือว่าอิมโพรไวส์ครับ
พี่โอ๊ต : ส่วนใหญ่จะเกิดจากการซ้อมส่วนตัวก่อน แล้วก็กับวงด้วย แล้วพอเราได้ตรงนั้นคร่าวๆแล้วเนี่ยะ พอเริ่มกดอัดปุ๊ป เราก็อิมโพรไวส์เลย แล้วเพลงของกูเนี่ยะ รู้สึกว่าเป็นเพลงแรกเลย ท่อนสุดท้ายเนี่ยะมันจะมีอะไรที่เอาด์อยู่เยอะเหมือนกันนะ แล้วเรารู้สึกว่ามันมีพลังสุดๆแล้ว เราอัดเก็บไว้เหมือนกันนะ 4-5ครั้ง แต่นึกดูซิ มันยาวขนาดนั้นแล้ว 4-5ครั้งเนี่ยะ มันปาไปครึ่งวันแล้ว ก็มานั่งคุยกันว่าเป็นไงบ้างวะ ทุกคนก็สรุปกันว่า เอาเทคแรกเนี่ยะแหละ ดีสุดแล้ว เพราะมันได้เต็มที่แล้ว มีอีกหน่อยนึงคือ วันนั้นเนี่ยะ กำลังจะไปสอบ ตอนนั้นเรียน A.U.A แล้วฝนตก ไปไม่ได้ ก็อยู่บ้านพี่ฮาร์ทนั้นแหละ เซ็งๆเบื่อๆ เราก็ไปเห็น แร็คที่ยังไม่ได้เสียบวางอยู่บนชั้น ก็คือ sansamp ที่ตัวสีเหลือง มันจะมี 2 อย่าง ที่เป็น digital กับที่หมุนๆ ก็ไอ้ตัวที่หมุนๆนั้นแหละมันวางอยู่ เราก็ถามมดเลยว่าของใคร!! เขาก็บอกว่า ของพี่ชัคกี้ เราก็ขนลุกเลย นี่มันของฮีโร่เรา คือเหมือนมีคนเอามาขายต่อๆกันมา ก็มาอยู่กับพี่ฮาร์ท เราก็สงสัยว่าเสียงมันเป็นยังไง ตอนแรกเรานึกว่ามันเป็น compress มันเหมือนมากเลยนะ มดเขาก็บอกมันเป็นเอ็ฟเฟ็คกีต้าร์ ลองดูดิ พอเสียบปุ๊บ เราก็เล่นไปประมาณ 5 –10 นาที เราก็ตะโกนเลย มดๆ ตั้งอัดเลย !! “ ไอ้เพลงของกู” เอาเดี๋ยวนี้เลย แล้วเพลงนี้ใช้ sansamp อย่างเดียวเลยนะ ไม่มีเสียงอื่นเลย เอา sansamp ต่อเข้า marshall
GT : แล้วกับโซโล่ที่มีไลด์ out ตรงนี้พี่ศึกษามาจากตรงไหน เพราะการเล่นเพลงร็อกจะไม่ค่อยมีการเล่น out ยกเว้นแต่คนที่ศึกษาหรือว่าเล่นเพลงสไตล์แจ็สมา
พี่โอ๊ต : ใช่ๆ!! มี 2 คนเลยนะที่พี่เติบโตกับกีต้าร์มา แล้วที่พี่รู้สึกว่าเราได้อิทธิพลเขามาเยอะ คือ jimi hendrix กับ ritchie blackmore สองคนนี้ทำให้เราไฟลุกเหมือนกันตอนที่นั่งดูวิดีโอคอนเสิร์ตเขา คือตอนแรกเราฟัง deep purple มาก่อน เพราะตั้งแต่เด็กแล้วอย่างที่บอก น้ากับพี่เขาฟังกัน เราก็เลยฟังเพลงอย่างนี้มา แต่ jimi hendrix ยอมรับตรงๆเลยนะ ว่าตอนแรกที่เราฟังเนี่ยะ เรารับไม่ได้ เรารู้สึกว่าไม่คุ้นเลย ทำไมมันเพี้ยนจังเลย (หัวเราะ) แต่พอเราได้ลองศึกษา ได้ฟังได้รู้อะไรเกี่ยวกับเขา แบบไอ้นี้มันมีอะไรแฮะ จนได้เริ่มมาแกะเพลงของเขาจริงๆ มันแบบอู้หู!! มันไม่น้อยเลยนะ เยอะเลยแหละ โดยเฉพาะคอร์ดที่มันเป็น tension หรืออะไรที่ out ต่างๆ แล้วมือเขาใหญ่มากเลยนะ เวลาจับเนี่ยะ เขาจับหมดเลย แล้วมือของเรามันจับไม่ได้อย่างเขา ก็รู้สึกว่าได้เรื่องตรงนี้จากเขา ด้วยความที่แกะมากฟังมาก แล้วก็สังเกตวิธีเล่นของสองคนนี้ แล้วถ้าสังเกตดีๆ สองคนนี้จะใช้คันโยก 70 นอกนั้นจะให้ gibson หมดเลย
GT : แล้วสองคนนี้ใช้ fender
พี่โอ๊ต : ใช่ๆ!!
GT : พอเวลาผ่านมาจากที่ยุคอินดี้เฟื่องฟูจนตก Street Funk Rollers ก็ยังเป็นวงที่อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ กับในส่วนของเพลงที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ จากที่เคยเป็นเพลงดิบๆ มีกีต้าร์โซโล่กระจาย แล้วกลายมาเป็นเพลงที่มีรายละเอียดที่มากขึ้น เพลงติดหูขึ้นในปัจจุบัน และลดอารมณ์อย่างที่เคยเป็น ตรงนี้มีมีแนวทาง หรือแนวคิดอย่างไรครับ แล้วจะกลับไปทำเพลงอย่างยุคแรกนั้นอีกไหม
พี่โอ๊ต : โอกาสที่จะกลับไปทำก็มีนะ เพียงแต่ว่ามันอาจจะไม่เหมือนกับตอนอายุ 24-25 แล้วที่ชุด 2 นั้นต่างจากชุดแรกนั้นก็เพราะเราเริ่มมีประสบการณ์ในวงการดนตรีแล้ว ตอนนั้นเริ่มมาทำเพลงอยู่เบื้องหลังบ้างแล้ว เริ่มช่วยเขาทำเพลงประกอบภาพยนต์ เพลงละครอะไรอย่างนี้ ก็เลยฟังเพลงไทยมากขึ้น
GT : รู้สึกขัดใจไหมพี่
พี่โอ๊ต : ขัด!! (หัวเราะ) มีบ้างๆ แต่ว่าจริงๆแล้วมันมีส่วนดีนะ เรารู้ว่าจริงๆแล้วเนี่ยะ ในที่สุดแล้วเราก็กลับมาฟังเพลงเพราะ อืมอันนี้คิดต่างจากตอนเด็กเลยนะ แต่ตอนเด็กๆเราก็ทำมาตลอดเหมือนกันตอนเด็กเราก็แกะเพลงหนักหน่วง ยังไงเนี่ยะตอนเราผ่อนคลาย ตอนเราอาบน้ำ หรือตอนที่เราวางกีต้าร์แล้ว เราต้องมาฟังเพลงเพราะเช่นกัน แล้วพอเราได้มานั่งทำเพลงอย่างนี้ เราก็ได้มานั่งฟังงานตัวเองชุดแรก แล้วก็วิเคราะห์งานตัวเองชุดแรก สาเหตุที่เราไม่ดังในวงกว้างเนี่ยะ เพราะเรามีข้อจำกัด คือ หนึ่งเพลงเรายาวมาก เพลงเราไม่มีท่อนที่จะจับว่าเป็นฮุคได้เลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรียนรู้ได้จาก การที่ได้อยู่ในวงการ บันเทิงก็คือ “ทำเพลงตลาดเป็นยังไง ทำเพลงให้เพราะเป็นยังไง” เราก็เริ่มเรียนรู้จากตรงนี้แล้ว ที่นี้เราได้เรียนรู้จากตรงนี้แล้ว โอเค!! ช่วงแรกก็อาจมีลำบากใจหน่อย แต่พอเราได้เรียนรู้เนี่ยะ แต่สิ่งที่ยากกว่าและท้าทายกว่าก็คือ การทำอย่างไรให้เป็น Street Funk Rollers ชุดสองให้ได้ และคนยังจำได้ในแบบที่เราเป็น ซึ่งคนยังจำเราได้ในแบบชุดแรกอยู่ แต่ว่าทำยังไงให้มันสละสลวยขึ้น ให้ทัน เพราะชุดแรกพี่เคยบอกหลายๆคนว่า “มันเหมือนกับ อาหารที่ทำเสร็จแล้ว ที่มันอยู่หลังครัว มันก็กินได้เหมือนกัน แต่มันไม่สวย แค่มีให้กิน แต่พอชุดสองเนี่ยะ มันมีผักชีแล้ว ใส่จานมาเรียบร้อยวางคู่ช้อนซ้อม อะไรอย่างนี้ “ ตรงนั้นก็เลยใช้เวลาอีกนาน จะเห็นได้ว่า ชุด 2 ห่างจากชุดแรก 5 ปี ก็คือเราใช้เวลาไปกับการสมบุกสมบัน กับการทำงาน แล้วก็ลองเล่นดนตรีแบบอื่นๆดู จะเห็นได้ว่า พอพี่ทำ Street Funk แล้วพี่มาทำ “วิสา” ทำกับพี่นิกที่ genie record ซึ่งเป็นดนตรีแบบที่ชอบเหมือนกัน แต่ใช้กับวงไม่ได้ แล้วเราก็เพิ่งชอบมันใหม่ๆพอดี จากที่เคยใช้กีต้าร์ไฟฟ้า ก็มาจับกีต้าร์โปร่ง ก็เลยได้แนวคิดในการแต่งเพลงอีกแบบนึง
GT : แล้วในระหว่างนั้นมีการฟังเพลงหรือศึกษาอะไรเพิ่มเติมบ้างครับ
พี่โอ๊ต : โห!! ค่อนข้างเยอะมากเลยนะ ระว่างทางวันนั้นถึงวันนี้
GT : อย่างนี้ต้องหาแจ็ส หรืออะไรอย่างอื่นด้วย
พี่โอ๊ต : ใช่ๆๆ !! หรือว่าวงอะไรที่เราเคยตกหล่นไปเมื่อตอนเด็กๆ เช่นวงรุ่นเดียวกับ The Eagles อะไรอย่างนี้ที่เราไม่เคยฟัง เป็นวง west cost เหมือนกัน แต่เขาไม่ได้เน้นกีต้าร์ ไปเน้นเรื่องการร้องประสานเสียงแทนอย่างวง หรือว่า James Taylor อะไรอย่างนี้ครับ เราก็ขุดกลับมาฟังใหม่ เริ่มเรียนรู้มากขึ้น
GT : กลายเป็นว่าจากคนที่ซ้อมกีต้าร์หนัก ต้องหันมาเรียนเรื่องการเรียบเรียง การแต่งเพลง
พี่โอ๊ต :อืม..แต่มีความสุขนะ ช่วงนั้น วางกีต้าร์ไฟฟ้าไม่ได้โซโล่อะไรมาก ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ เออ…เราได้รู้สึกว่าเราได้ท่องไปอีกแบบนึง เราได้เรียนรู้อะไรที่เราไม่เคยทำมากขึ้น
GT : แล้วในภาคของเนื้อร้องหละครับ คือมันต้องละเอียดมากขึ้น พี่มีการเรียนรู้อะไรเพิ่มมากขึ้นหรือเปล่า
พี่โอ๊ต : เอ่อ.. พี่เรียนรู้จากประสพการณ์นะ แล้วเอามาเป็นเนื้อร้อง มันดีที่สุด อันนี้ความคิดเห็นส่วนตัวนะ บางคนอาจจะบอกว่ามาจากการอ่านดีกว่า แต่พี่กลับรู้สึกอย่างนั้น คือนักดนตรีหรือนักศิลปะทุกคน ถ้าไม่มีประสพการณ์ชีวิต มันก็จะยังทำงานศิลปะได้ประมาณนึง แคบๆ
GT : เนื้อเพลงจากชุดแรก กับชุดต่อๆมา มันแตกต่างกันมากเลย
พี่โอ๊ต : อืมๆๆ..ใช่ๆๆ พี่ว่ามันเป็นทุกคนนะ ชุดแรกเราคะนอง เรารู้สึกว่ามันต้องเข้มข้น มันเป็นไปตามวัย คือเราต้องไม่ยอม (หัวเราะ) ในชุดแรก พอมายุคหลังๆ เราก็โอเค ช่างมันเถอะ แต่เราก็มีข้อคิด มันไม่ได้มาจากหนังสือ อย่างเดียว มันมาจากส่วนตัวเราด้วย คือ เรารู้จักสูญเสีย เรารู้ว่าเจ็บมันเป็นยังไง เจ็บมันไม่ใช่แค่ หกล้ม หัวเข่าถลอก เจ็บคือสูญเสีย พอเรามีสิ่งเหล่านี้แล้วเนี่ยะ มันจะมาเสริมสร้าง สิ่งที่เรามอง เป็นแรงบัลดาลใจในมุมมองของเรา พี่เชื่อว่านักศิลปะทุกคนนะ แรงบัลดาลใจมักจะมาจากเรื่องเจ็บปวดทุกคน เรื่องที่สวยงามก็มีนะ แต่แรงผลักดันที่ใหญ่มากๆเลยก็คือ สิ่งที่เจ็บปวดที่อยู่ในใจเขา อย่างงานของ แวนโก๊ะ จะเห็นว่า สีแรงมากเลย มันก็คือ เขาสับสน อะไรอย่างนี้ เพลงที่เรารู้สึกประทับใจ เพลงรักอมตะ มันก็มาจากสิ่งเหล่านี้ทั้งนั้น ตรงนี้ก็เป็นส่วนที่ทำให้เนื้อเพลงพี่มันลึกขึ้น พี่รู้สึกอย่างนั้นนะ แม้ว่ามันอาจจะไม่เข้มข้นในด้านปรัชญานะ แต่แต่งแบบปรัชญาพี่รู้สึกว่ามันง่ายเลยนะสำหรับพี่ เพราะมันจะเป็นการโชว์แบบด้านเดียวไง อย่างตายคือตาย อยู่คืออยู่ ดูได้จากชุดแรก จะเป็นอย่างนั้น แต่อย่างชุด 2 เนี่ยะ แบบ อยู่นะ แต่ถ้าเลือกจะเดินทางนี้แล้วเจ็บ จะอยู่ไหมมันจะเป็นอีกแบบนึงแล้ว
GT : อืม..อย่างนี้มันเป็นเพราะการที่พี่ต้องไปทำงานเบื้องหลังด้วยหรือเปล่าครับ เพราะต้องคิดงานออกมาแทนคนอื่นด้วย
พี่โอ๊ต : ก็ด้วยนะ ด้วยส่วนนึง อืม..ข้อดีของการที่เราได้สร้างงานคนเดียวตั้งแต่แรกเลยก็คือ เราได้เห็นกรอบทั้งหมด เห็นรายละเอียดของแต่ละอัน มันมีอะไรบ้าง พอออกมาจากโปรเจ็กตัวเองแล้ว ต้องมาเป็นหัวข้อของคนอื่น เป็นเรื่องของคนอื่นแล้ว แต่ว่าเรายังทำเป็นเรื่องอยู่ในกรอบอยู่ ก็เลยเป็นข้อดี ถ้าเราจะต้องทำงานอย่างนั้น เราต้องมีอะไรมาประกอบบ้าง ดังนั้นเราจึงต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อเราฟังเพลงกว้างขึ้นก็เป็นข้อดีที่ทำให้เรามีอะไรที่การเล่นแตกต่างจากเดิม
GT : อย่างนี้การฟังเพลงของพี่ก็ต้องห่างหายพวกกีต้าร์ ฮีโร่ แล้วหันมาฟังพวกนักแต่งเพลงอย่าง Cole Porter หรือ Burt Bacharach
พี่โอ๊ต :อืม…แต่ก็ไม่ถึงกับทิ้งไปเลยนะ ไอ้สิ่งที่เราชอบ เพราะมันจะมีคนที่เราชอบๆ เวลาออกเมื่อไหร่ คือต้องซื้อเลย อย่าง Steve Vai,Joe Satrini เราเก็บอยู่แล้ว แต่ไม่ถึงกับกว้านหมด คือมีใครก็ฟัง หลังๆเราก็เลือกคนที่เราอยากจะเสพขึ้นมาหน่อย แต่แนวอื่นๆจะเป็นการเสริมเข้ามามากกว่า
GT : แล้วกับงานของชุดที่จะทำต่อๆไป พี่คิดว่าจะมีการโชว์ถึงภาคของกีต้าร์หรือเปล่าครับ
พี่โอ๊ต : เออ..จริงๆแฟนเพลง Street Funk Rollers มีอยู่ 2 แบบนะ คือแฟนเพลงที่อยากฟัง แบบเดิม กับแฟนเพลงที่อยากฟังอะไรที่ เพราะๆ คือ อยากจะบอกว่า โปรเจ็กต่อไปของ Street Funk Rollers ชุด 4 เนี่ยะ ซึ่งมันจะมาถึงเมื่อไหร่ก็ไม่รู้เนี่ยะ (หัวเราะ) อาจจะนานหน่อย หรือใกล้ๆนี้ ก็คือเราจะกลับไปเล่นดิบๆ แบบเดิม คือเรื่องของการเล่นนะ แต่เนื้อเพลงเนี่ยะ คงจะไม่ดุดันแบบอย่างนั้นแล้ว เพราะถ้าให้กลับไปทำอย่างนั้นก็คงลำบาก (หัวเราะ) เพราะอายุอานามเราขนาดนี้ จะให้กลับไปแหกปาก อย่างนั้นคงยากครับ แต่วิธีเล่นเราอยากจะกลับไปอย่างเดิม เราโตมาแบบไหนเราก็อยากกลับไปแบบนั้น อย่างเมื่อก่อน เรามีเอ็ฟเฟ็คแค่ก่อนเดียว หรือบางทีไม่มีเลย เราก็เสียบใส่ตู้ แล้วก็เล่นแบบนั้น
GT : แล้วกับงานเดี่ยวของตัวเองหละครับ คิดอยากทำเป็นเพลงบรรเลงบ้างหรือเปล่าครับ
พี่โอ๊ต : เคยคิด …แต่อยากมีตังค์ก่อน (หัวเราะ) เพราะพี่เชื่อนะว่านักดนตรีทุกคนคิดอย่างนี้นะ อัลบั้มเพลงบรรเลงกีต้าร์ซักหนึ่งครั้งในชีวิต เราอยากมีนะ แต่เราอยากรู้สึกสบายๆก่อน แล้วอยากตกตะกอนมากพอ แล้วเพาะบ่มมากพอ ในการทำเพลงบรรเลงกีตาร์ เพราะว่าถ้าต้องทำตามระยะเวลาที่เจ้าของค่ายเพลงเพลงกำหนด แบบ “โอ๊ตเสร็จยัง เรื่อยๆ” มันไม่ไหว (หัวเราะ) เราทำไม่ได้
GT : มีภาพในหัวบ้างหรือยังครับ ว่าเป็นยังไง
พี่โอ๊ต : เออ คงเป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มนั้นแหละครับ พี่คงจะไม่ได้ทำแนวกีต้าร์ฮีโร่แล้ว แต่เมื่อก่อนคิดนะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้วครับ ในความที่เรามีความเป็นนักแต่งเพลงอยู่ในตัวเยอะ ก็เลยอยากทำเป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มมากกว่า เมื่อก่อนอยากพูดเรื่องใหญ่ๆ แต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว เราอยากพูดเรื่องเล็กๆ แต่ว่าทำยังไงให้มันมีประเด็นอะไรอย่างนี้ ประมาณแบบ ใบไม้ใบหนึ่งหรือว่าผู้ชายคนนึง อะไรอย่างนี้ แล้วหาอะไรบางอย่างในชีวิต หาไปหามาเจอตัวเอง น่าจะเป็นประมาณนี้มากกว่า
GT : ที่นี้มาเรื่องของการที่พี่เป็นมือกีต้าร์แล้วพี่ต้องมารับ หน้าที่ของนักร้องด้วยเนี่ยะ แล้ววงเป็นวงเพียง 3 ชิ้นด้วย แต่เล่นออกมาแน่น พี่ต้องฝึกมากแค่ไหนครับ
พี่โอ๊ต : ชอบครับ !! แล้วเราก็ฝึกมาแบบนี้อยู่แล้ว Street Funk Rollers เนี่ยะ ชื่อวงมันมาจาก Grand Funk Railroad อันนี้แบบ เป็นวง 3 ชิ้น แล้วมือกีต้าร์ร้องเองเหมือนกัน ก็ฝึกมาตั้งแต่เด็กนั้นแหละครับ ฝึกมาตั้งแต่หัดกีต้าร์ พยายามจะมีนักร้องนำนะ ตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว แล้วมันมีงานที่ต้องเล่น ก็พยายามเรียกเพื่อนคนนั้นคนนี้ให้มาร้องให้หน่อย จนวันงานมาถึงมันก็ไม่มีใครร้อง เราก็เลยร้องเองเลย (หัวเราะ) ตอนนั้นเราก็ผูกใจเจ็บเพื่อนนะ (หัวเราะ) แบบคราวหน้ามึงต้องร้องนะ แต่คราวนี้กูร้องก่อนก็ได้ แล้วเราก็เลยร้องมาตลอด จนกระทั่งถึงช่วงเล่นอาชีพ แล้วก็ช่วงที่จะมาทำ Street Funk Rollers ก็ยังอยากที่จะมีวงแบบ นักร้องหนึ่งแล้วก็นักดนตรี 3 อะไรอย่างนี้นะ แต่มันก็หาไม่ได้ คือไม่มีใครเข้าใจคอนเซ็ปต์เรา ส่วนคนที่เข้าใจก็เป็นรุ่นน้ารุ่นพี่อะไรไปแล้ว ไม่มีรุ่นเดียวกับเราเลย (หัวเราะ) ก็เลยโอเค!! ร้องเองก็ได้ แต่ก็ไม่มั่นใจในเสียงร้องของตัวเองนะ ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะเราพูดไม่ชัด
GT : แต่เสียงหล่อเลยนะพี่
พี่โอ๊ต : ใช่!! (หัวเราะ) แต่หน้าแย่ ก็ฝึกนะ ตอนเด็กๆ เล่น Rock Bottom พยายามหานักร้องนำแต่ไม่มีใครร้อง เสียงสูงด้วย กีต้าร์ก็เล่นริฟตลอด แต่เราก็เอาจนได้นะ เพื่อนมันก็นั่งดู มันก็บอก “โห!! โอ็ต เอาอย่างนั้นเลยเหรอ” (หัวเราะ)
GT : อย่างนี้พี่ก็ต้องฟังแล้วก็ ศึกษา พวกมือกีต้าร์ที่เล่นไปด้วยร้องด้วย อย่าง Nuno หรือ Jimi Hendrix เยอะเลยหรือเปล่าครับ
พี่โอ๊ต : อืม..สำคัญเลยแหละ โดยเฉพาะ Jimi Hendrix คือมันไม่ใช่แค่วิธีการที่ดูแค่ว่า เขาร้องและเล่นยังไง เราต้องสังเกตเพลงเขาด้วย ว่าท่อนที่เขาร้องเนี่ยะ เขาเล่นแบบไหน เพราะถ้าเราต้องทำเพลงที่มีริฟ ด้วยแล้วร้องด้วย ถ้าเราไม่สังเกตวิธีเหล่านี้ เราจะทำมันตอนเราเล่นสดไม่ได้
GT : แล้วพี่ต้องฝึกการเล่นด้วยร้องด้วยอย่างช้า มากๆเลยหรือเปล่าครับ เพราะมือกีต้าร์สไตล์นี้ก็จะฝึกการแยกประสาทแบบช้า
พี่โอ๊ต : อืม.. ของพี่ไม่นะ พี่มาตามปกติเลย แต่ซ้อมถี่หน่อยโดยเฉพาะท่อนที่เราเล่นไม่ได้ เราก็จะมานั่งหาสาเหตุว่า ที่เราเล่นไม่ได้เพราะอะไร ก็จะมานั่งดูอย่างเช่น เป็นเพราะการดีดลง หรือว่าดีดขึ้น แล้วเราร้องขัด เราก็จะดีดขึ้นอย่างเดียวแทน คือต้องประยุกต์เอาหน่อย เพื่อที่ทำให้เราร้องได้ หรือดีด 2 ที มันทำให้เราร้องไม่ได้ เราก็จะเล่น tap แทน เป็นอย่างนี้มากกว่า
GT : มือกีตาร์ที่พี่ชื่นชอบมีใครบ้างครับ นอกจากที่พี่ได้บอกไปว่า Ritchie Blackmore
พี่โอ๊ต : อืม.. ฮีโร่ในยุคนั้นนี่คือเกือบทั้งหมดเลยนะ Michael Schenker อืม.. Randy Rhoads ว่าไปแล้วทุกคนที่เล่นกับ Ozzy พี่ชอบหมดเลย แม้กระทั่ง Brad Gillis ที่มาแป็ปเดียวพี่ก็ชอบ แล้วก็ชอบ The Eagles ชอบ Joe Walsh กับ Don Felder เออๆๆ แล้วก็ชอบ Friday night นี่เลย Paco De Lucia โห!! ตอนแรกเนี่ยะไม่รู้ว่ามันคืออะไรนะ เห็นนานแล้ว ตั้งใจว่าจะซื้อเก็บ ก็มีพี่ๆเขาบอกว่า ชุดนี้ดี เป็นกีต้าร์คลาสสิก กับกีต้าร์โปร่งดวลกัน เราก็ซื้อมา ก็คิดว่าจะฟังแบบผ่อนคลายนะ ก็นอนฟัง พอฟังเพลงแรก ก็ลุกเลย มันนอนไม่ลง (หัวเราะ) ชุดนี้ติดใจอยู่นานเลย แล้วทำให้เราคิดว่ามือกีต้าร์เฮววี่เนี่ยเอาวิธีคิดวิธีโซโล่มาจากชุดนี้หลายคนเหมือนกันนะ ชอบ James Taylor ชอบวิธีเคลื่อนคอร์ดของเขา มันเพราะมากๆ แล้วก็ชอบ wine light ของ Grover Washington JR. พี่ว่านี่คือนิยามของฟิวชั่นแจ็สเลยนะ มันเพราะมาก ทั้งที่ไลด์กีต้าร์มีน้อยมาก แต่ไอ้แบบนี้แหละที่มือกีต้าร์ควรฟัง ชอบ Actually ของ Pet Shop Boy ที่มี It’s a sin พี่ว่ามือกีต้าร์ควรฟังแบบนี้นะ
GT : แล้วกับมือกีตาร์คนไทยหละครับ
พี่โอ๊ต : ชอบพี่โอ้ !! คนนี้ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนเหมือนกันนะตอนเรียนม.ปลาย ตอนกุมภาพันธ์ 2528 ออก ตอนนั้นพี่อยู่ม.4หรือม.5 พี่เห็นในทีวีก่อน ตอนนั้นรายการโทรทัศน์ของห้องอัดโซนา ก็เฮ้ย!! คนนี้ใคร ทำไมแต่งตัวตลกดี พอซักพัก เค้าก็นั่งเล่นกีต้าร์ เท่านั้นหละ!! โห!! เพลงไทย เราก็ได้แต่รอเลยว่า The Olarn Project จะออกเมื่อไหร่ พี่ว่าเราให้คำว่า “ศิลปิน” กับเขาได้เลย วิธีเล่นของเค้ามันออกมาจากใจ เวลาเค้าจะดีดอะไรเล่นอะไร เค้าจะเร่งโวลุ่มตรงไหนอะไรอย่างนี้มันมีความหมายหมดเลย
GT : เท่าที่พี่ฟังเพลง พี่จะเน้นในเรื่องของเมโลดี้มากกว่าเรื่องของเทคนิค
พี่โอ๊ต : ใช่ครับ
GT : แล้วพี่ได้มีการลองแต่งเพลง ที่แตกต่างไปจากเพลงเดิมๆ เช่นแบบทางคอร์ดโซลูชั่นแบบนี้ มีเพลงไหนที่พี่อยากแนะนำบ้างไหมครับ ของ Street Funk Rollers
พี่โอ๊ต : อืม…จริงๆ ชุดแรกขายไอเดียสุดเลย ทั้งในเรื่องของเทคนิค และในเรื่องฟิวลิ่ง และก็จะมีเพลงที่… ที่ไม่เหมือนกันเลยอยู่ในชุดเดียวกัน อย่าง “ง่ายดาย” กับ “เพลงของกู” เนี่ยะ บอกใครไม่มีใครเชื่อเลยนะ ว่ามาจากวงเดียวกัน (หัวเราะ) หรืออย่างเพลง “หลงรักเธอ” อารมณ์มันไปทาง แคลิเบียนแล้ว เราก็มีการใส่เครื่องเป่าเข้ามา อืม..หลังๆมานี่พี่จะสนใจอยู่ 2 อย่าง แบบที่ไปในทางของ Street Funk Rollers ได้เลย คือแบบ ถ้าไม่สุดไปเลย ก็เพราะไปเลย อย่างใน Mind &Soul มีเพลงช้า 5 เพลงเอาแบบเพราะเลย ที่เหลือนี่ดุหมดเลยนะ กระหน่ำเลย แล้วก็พี่เริ่มเป็นเพลงคอนเซ็ปต์ตั้งแต่ เพลงของกู มันก็ใช่เลยนะ แล้วก็ในชุด ufo ก็มี “เรื่อเหาะ” ที่รู้สึกว่า เราทำอะไรที่มันแตกต่างหน่อย ก็ทำหลังจากที่เราเริ่มรู้ว่าเพลงเพราะต้องทำแบบนี้นะ เรื่อเหาะ นี่เราไม่สนใจเรื่องของเวลา เราสร้างคอนเซ็ปต์มา แล้วเราก็ไปของมันเรื่อยๆ แล้วเราใช้ประสพการณ์ในเวลานั้น ที่เราสะสมมา แล้วก็เป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักกับ ก้อย (นักร้องนำวง Tanuki band) เพราะเขาเป็นคน adlib เพลงนี้ ส่วนชุด mind&soul ก็มีเพลงตัวตน อันนี้ก็เป็นเพลงคอนเซ็ปต์เหมือนกัน แล้วเราไม่อยากเรียกว่าเป็น โพรเกสซีพ เราอยากเรียกว่าเป็นประสพการณ์ของเรามากว่านะ
GT : แล้วตอนนี้พี่มีโปรเจ็คอะไรที่จะทำต่อไปบ้างครับ
พี่โอ๊ต :กำลังทำ Tanuki band อยู่ แล้วตอนนี้ Street Funk Rollers ขอเป็นการพักผ่อนส่วนตัวเลย ทั้ง 3 คน เอก ก็ไปสอนเต็มเวลา มือกลอง เป็นอาจารย์ที่ฮ็อตตอนนี้ ฮ็อตมาก สำหรับเด็กหัวเกรียนๆ (หัวเราะ) ขอแซวหน่อย นั้นแหละ แล้ว นะ มือเบสไปเล่นกับกรุงเทพมาราทอนก็กำลังไปได้สวย เขาไปตัดผมเหมือนกับ นักร้อง Slot machine (หัวเราะ) ส่วนพี่โอ๊ตกับแฟน ก็มาทำ Tanuki band ก้อย เขาเป็นเจ้าแม่เพลงโฆษณา คนจะคุ้นเสียงเขาเป็นอย่างดี เป็นอาจารย์ด้วย สอน AF รุ่น 2 ก็พอมีเวลาว่างจาก Street Funk Rollers ก็อยากว่างกีต้าร์ไฟฟ้า มาเล่นกีต้าร์โปร่ง ก็ต้องขอบคุณพระเจ้าที่ให้เรามารู้จักกัน แล้วในแง่ของวงดนตรีวงนึง ถ้าไม่พูดถึงเรื่องส่วนตัวเลยนะ มันก็ได้มาทำอะไรขึ้นมาใหม่ แล้วก็ตื่นเต้นในแง่ที่เราก็เป็นคนชอบเมโลดี ชอบเพลงเพราะ แล้ว ก็มาผนวกกับเสียงของเขาซึ่ง เรามานั่งคุยกันแล้วว่าเราชอบ เพลงโซลเหมือนกัน แล้ว Street Funk Rollers ตั้งแต่ชุดแรกเนี่ยะ พี่ก็บอกเสมอเลยว่า เป็นเพลงร็อกที่มีส่วนผสมของเพลงคนดำอยู่ด้วย เราชอบโซลนั่นและ แล้วก้อยเขาก็มาถามว่า เขาชอบเพลงแบบนี้ คือเขาจะเข้าใจว่าเขาชอบร้องบลูส์ แต่จริงๆเขาร้องเพลงโซล พอมาลงตัวตรงนี้ เราก็เลยชวนว่ามาทำวงกันไหม ก็เลยกลายเป็น Tanuki band ขึ้นมา อันนี้ล่าสุด ได้ฟังแน่นอน แล้วพี่ว่า แฟน Street Funk Rollers น่าจะชอบเหมือนกัน
GT : แล้วตอนนี้พี่ใช้อุปกรณ์ อะไรบ้าง
พี่โอ๊ต : ก็มี Ibanez sz 520 qm ไม่รู้ว่าเลิกผลิตไปหรือยังนะ ซีรี่ย์นี้ แต่ก็จะมี sz ที่เป็นรุ่นใหม่ๆ เข้ามา อันนี้ พี่ธีระ จาก Music Explorer ครับ เขาใจดีให้มา แล้วก็เคยใช้ Fender Strat Plus ปี 88 แต่ตอนนี้หยุดใช้แล้ว เพราะว่าเสียงที่เราเล่นมันไม่หวานอย่างที่ Fender เป็นแล้ว อีกตัวที่ใช้ประจำๆเลย คือ OLP ก็เอาไปใช้เล่น นมัสการที่โบสถ์ทุกอาทิตย์เลย แล้วก็ OLP ตัวนี้ อยากนำเสนอมากๆเลย อาจจะไม่ได้ลงมือโมเอง มีผู้ช่วย แต่เราเป็นคนระบุว่า สเป็คต้องเป็นแบบนี้ เจ้า OLP ตัวนี้ เขาทำเลียนแบบ Music Man คือ มี pickgard แล้วก็วางเป็น s-s-h ตอนแรกมันมาอย่างนั้น แต่พอยก pickgard ขึ้นมาว่าจะโมเนี่ยะ มันดันมีร่องเหลือที่จะเป็น Hunbaking อยู่ตรงคอด้วย ที่นี้เราเลยวางเป็น h-s-h เลย ที่นี้เราก็ไปถูกใจเอากับ Seymour Duncan 59 แต่เรารู้สึกว่ามันใช้งานได้ค่อนข้างกว้างเลยนะ volume กับ selector ก็ใช้ fender ครับ นอกนั้น คอกับลูกบิด ไม่ได้เปลี่ยน แล้วมันทำให้เรารู้เลยว่า ลูกบิด OLP ดีมากๆ ด้วยความที่ตัวกลาง Single Coil ที่ไม่ได้เปลี่ยนเนี่ยะ เล่นแล้วมันดร็อป เหมือนกัน เวลาสับ selecter แต่พอคลิกมาที่ตรง สอง กับ สี่เนี่ยะ มันกลับได้ความ twang มีเสียงค้างอยู่นิดๆ นึกถึง Richie Kotzen นั้นแหละครับ แบบโห มันดีจัง !! เราก็เลยไม่เปลี่ยน ทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่
GT : เอ็ฟเฟ็กหละครับ
พี่โอ๊ต : เล่นมาเยอะมากเลยนะ เล่นมาตั้งแต่ RP-6 ของ Digitech เล่นจนแบบว่า เหยียบแตกกระจายเลย (หัวเราะ) เล่นสมบุกสมบันมากเลย จริงๆพี่เป็นคนชอบปรับ multi effect มากเลยนะ ก็คิดว่า โห!! มันยากนักเหรอ ก็ปรับมันอยู่ 3-4 วัน ก็เรียบร้อยเอาอยู่ แล้วก็ไม่ว่าจะซื้อ Multi ของอะไรมานะ แล้วเอาไปซ้อม พี่ก็ปรับซาวด์เหมือนกันหมดเลยนะ มันก็เป็นยุค 70 เหมือนเดิมเลย แล้วก็ตอนนี้ใช้ vamp ของ Behringer แล้วก็ Wah 847 ของ Vox เสียงแตกก็ OD 2 ของ Boss คือพี่ไม่ชอบขนไปเยอะ เพราะบางที่ไปเจอที่เล่นแคบๆ ค่อนข้างลำบากนะ ก็เอาไปแค่นี้เอง ไม่มีตู้ครับ (หัวเราะ) แต่อยากได้แบบ Combo แล้วกีต้าร์โปร่งก็ใช้ Yamaha มีเบส Baracuda ด้วย เอาไว้อัด
GT : Street Funk Rollers จะมีคอนเสิร์ตให้ได้ดูเมื่อไหร่ครับ
พี่โอ๊ต : อืม ล่าสุดนี่คือ 28 –29 กรกฎาคมนี้ครับ ไม่รู้ว่าจะต้องเล่นวันไหน ต้องตามข่าวครับ ก็เป็นคอนเสิร์ต 10 ปี อัลเทอร์เนทีพไทย ที่สวนลุมไนท์ครับ คือคนจัดเนี่ยะเก่งมาก มีความสามารถมากเลย ที่ไปขุดเอาวงเก่าๆในยุคนั้นมารวมตัวกันได้ (หัวเราะ) เออ !! คนเรานะ มันก็ไปหามาได้