สวัสดีครับในช่วงอากาศเปลี่ยนเข้าสู่หน้าฝน วันนี้เราจะพาไปคุยกับมือกีต้าร์อารมณ์ดี เหมือนกับสิ่งที่เขาเล่นออกมาผ่านเพลงในสไตล์ฟั้งกี้และดิสโก้รวมถึงแจ็สและบอสซาโนว่า ในบรรยากาศเย็นวันฝนตก อากาศกำลังดี เรานัดกันที่ Studio เล็กๆส่วนตัวของมือกีต้าร์ผู้นี้ หลายๆคนรู้จักเขาในนามมือกีต้าร์แห่งวง Groove Rider วันนี้เราจะมารู้จักเขามากขึ้นกับเขาคนนี้ “ กั้ง อดิศักดิ์ หัตถกุลโกวิท ”
GT : เริ่มต้นเล่นกีต้าร์ยังไงครับ ?
พี่กั้ง : ก็เริ่มต้นจากเห็นเพื่อนแถวบ้านเล่นกัน ก็ชอบ แล้วก็ลองๆหาจับเล่นดูบ้าง เริ่มต้นเล่นประมาณ 4-5 ขวบได้ ก็เล่นมาเรื่อยๆ พอรู้จักกีต้าร์ก็เริ่มไปเล่นเครื่องมืออื่นบ้าง ก็เล่นเบสบ้าง เป่าแซ็กโซโฟนบ้าง หรือไปตีกลอง แล้วก็คิดว่าชีวิตนี้ไม่ทำอะไรแล้ว นอกจากเล่นดนตรี
GT : แล้วเริ่มไปเรียนดนตรีจริงๆจังๆช่วงไหน ?
พี่กั้ง : ก็..ต้องพูดถึงสมัยที่เรียนมัธยมเลย ก็ตอนนั้นอยู่วงดุริยางค์ ก็ได้จากตรงนั้น ได้โน็ตเรื่องอะไรพวกนี้ แล้วก็ไปเป่าแซ็ก แล้วก็เริ่มเล่นเบสเล่นกีต้าร์ แต่ทั้งเบสและกีต้าร์ ก็เป็นอะไรที่เล่นนอกโรงเรียนมากกว่า ไปเล่นจีบสาว (หัวเราะ) แต่เล่นเป็นเรื่องเป็นราวทำมาหากินเลยก็คือตอนอยู่วงดุริยางค์ ก็ไปเป่าแซ็กตามพวกงานจังหวัด งานบวช งานศพก็มี แล้วมีงานที่ใหญ่ที่สุดคืองานรับเสด็จในหลวง อันนี้คือความภาคภูมิใจมาก ก็ได้จากตรงนั้นเยอะมาก พอเข้ามากรุงเทพก็มาเรียนที่รามคำแหง ก็มารู้จักกับหนังสือ Quiet Storm ทันหรือเปล่าไม่รู้นะ
GT : ทันพี่ ยังเก็บไว้หลายเล่มเลย
พี่กั้ง : ทันด้วยเหรอ !! ก็อ่านคอลัมภ์ของอาจารย์หลายๆคนในเล่ม แต่มีอาจารย์คนนึงที่น่าสนใจก็คืออาจารย์วิชัย เที่ยงสุริณทร์ ช่วงนั้นแกก็เปิดโรงเรียนสอนที่ประตูน้ำ ก็เริ่มไปเรียนเบสิคกีต้าร์ ป็อปกีต้าร์ ก็ตั้งแต่นั้นเลย ก็เกือบสิบกว่าปีแล้ว
GT : แล้วหันมาเล่นดนตรีอาชีพได้ยังไง
พี่กั้ง : ช่วงนั้น ก็เริ่มเล่นเลย เรียนหนังสือไปด้วย เล่นดนตรีไปด้วย ก็เล่นตั้งแต่สากเบือยันเรือรบครับ
GT : หมายถึงสไตล์เพลงที่เล่น
พี่กั้ง : ใช่ ก็คือเล่นหมดเลยที่มันได้ตังค์แล้วให้เรามีชีวิตอยู่ได้ เพราะว่าเราคิดว่าเราคงไม่ทำอะไรแล้ว เราจะเล่นดนตรี มันต้องหาทุกอย่างที่จะดันตัวเอง หาเงินมาได้ก็จ่ายค่าเรียนกีต้าร์ อะไรพวกนี้ คือไม่ได้คิดว่าจะต้องเล่นเก่งเล่นอะไรหรอก คือแค่ทำยังไงก็ได้ให้ชีวิตอยู่ได้ หากินไปวันๆอะไรพวกนี้ และเราก็ไม่มีอะไรทำ ก็เล่นดนตรี เรียนหนังสือก็ไม่เรียนแล้ว พอไปอยู่สังคมดนตรีกลางคืน ก็อย่างว่านั้นแหละ ก็มีสิ่งยั่วยุเยอะนะ ทำให้เราไขว่เขวไปกับการเรียนหนังสือ ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็ไม่ควรจะเอาแบบอย่าง (หัวเราะ) ก็เรียนกับอาจารย์วิชัย จนแกเสียเลย
GT : ช่วงนั้นพี่เขาไปเรียน ช่วงเดียวกับอาจารย์มูซา พี่ทศ หรืออาจารย์ปราชญ์หรือเปล่า
พี่กั้ง : ก็ตอนนั้นเข้าไปเรียน ก็เห็นอาจารย์ปราชญ์เรียน เห็นอาจารย์มูซา ช่วงนั้นเขาก็คงเรียนกันจบแล้วหล่ะ แล้วเขาก็คงเรียนเรื่องทฤษฎีกันต่อมั๊ง ซึ่งพอลูกศิษย์แกเริ่มเยอะเราก็เห็นว่ามีอาจารย์ปราชญ์มาช่วยแกสอน แล้วก็อาจารย์มูซามาช่วยแกสอน และก็หลายๆคนมาช่วยอาจารย์วิชัยสอน จนเรียนป็อปปูล่ากีต้าร์จนจบปุ๊ปอาจารย์วิชัยก็เสีย พอเสียปุ๊ปก็เริ่มไขว่เขวกันแล้ว (หัวเราะ) อืม..แล้วก็มีอยู่ช่วงเราก็มาช่วยเรื่องของการสอนด้วย
GT : ที่จนัธ
พี่กั้ง : ใช่ ที่นั้น เราก็เขามาช่วยเขาสอนตั้งแต่ตอนนั้น ตั้งแต่อาจารย์วิชัยเสีย ก็สอนด้วยแล้วก็เล่นดนตรีไปด้วย
GT : แล้วช่วงนั้นสไตล์ที่ชอบและเล่นคือแบบไหน
พี่กั้ง : ก็ชอบหมดเลยครับ ถ้าพูดถึงเริ่มต้นเล่นกีต้าร์ใหม่ๆ มันก็มีเพลงไทย เพลงสากลในช่วงยุคยังมีการเล่นสดเยอะๆ ไม่มีพวกซีเควนเซอร์ เป็นยุคเพลงร็อกแบบพวกฮาร์ดร็อก 70 –80 อย่างพวก Deep Purple ,Led Zeppelin ,Black Sabbath พวกแบบที่เป็นร็อกแบบสนุก ดิ้นได้อะไรพวกนั้น อย่างเพลงไทยก็อย่างคาราบาว ถ้าพวกทางสตริงก็คือพวกคีรีบูน ,ชาตรี,แกรนเอ็กซ์ พี่ตู้ดิเรก อะไรพวกนี้ เป็นเพลงจังหวะสนุกแบบฟั้งกี้
GT : จากที่เล่นดนตรีหลากหลายสไตล์มาก่อน แล้วหันเข้ามาชอบแจ็สได้ยังไง
พี่กั้ง : ผมว่ามัน..อืม มันเป็นความอยู่นิ่งไม่ได้มั๊ง คือคนที่มันเรียนดนตรีเนี๊ยะ ได้เรียนทฤษฎี เรียนอะไรพวกนี้ที่เยอะๆเข้า แล้วมันก็ได้ฟังเพลงเยอะขึ้น ผมว่ามันก็จะเป็นสเต็ปของทุกคนเลย มันเป็นสเต็ปของคนเล่นดนตรีนะ เล่มตั้งแต่ดนตรีป็อป มันก็จะมาตั้งแต่พวกบลูส์พวกร็อกอะไรต่างๆ ก็ค่อยๆพัฒนามาจนมันมีเรื่องความท้าทายในเรื่องของการเล่นกีต้าร์ มีทฤษฎีเข้ามาให้เราได้จำได้มากขึ้น และก็เรื่องของกฎเกณฑ์ในการเล่นมากขึ้น
GT : ช่วงเริ่มต้นเล่นกีต้าร์ พี่มีต้นแบบหรือฮีโร่ หรือชอบใครบ้างหรือเปล่า
พี่กั้ง : อืม..ถ้าตอนเริ่มต้น ก็คงเป็นพวกร็อกครับ อย่าง Jimi Hendrix หรืออย่างเมืองไทยก็พี่แหลม มอริสัน (หัวเราะ) กีต้าร์อะไรต่างๆ กีต้าร์ปืน เออ!!..เราก็ชอบ มันก็เก๋ดีวะ เท่ห์ดีวะ แปลกดี บ้าดี แล้วไอ้เรามันก็ชอบอะไรที่มันสนุกๆอยู่แล้ว
GT : หลังจากเล่นดนตรีกลางคืนมานาน แล้วเข้ามาเล่นกับ Kati Brazilian Jazz Band ได้ยังไง
พี่กั้ง : เออ!! …ก็เป็นเพราะสเต็ปของมันนั้นแหละ แล้วก็เป็นความบังเอิญด้วยที่มาเจอ..พี่กะทิ !! เพราะช่วงนั้นเรากำลังอินกับเพลงแจ็ส แล้วก็เข้าไปอยู่ในกลุ่มของ Prart เราก็เข้าไปช่วยพี่ปราชญ์สอน แล้วพี่กะทิก็รู้จักกับพี่ปราชญ์ที่อเมริกา และนั้นก็เป็นตัวเชื่อมต่อให้เราได้เจอกับพี่กะทิ ช่วงนั้นพี่กะทิก็กำลังจะทำอะไรให้กับวงการดนตรีเมืองไทย ในด้านของดนตรีแจ็สซึ่งแกก็ถนัดในฟิลของพวกบลาซิลเลี่ยน อย่างงานของ Antonio Calos Jobim ซึ่งเราก็เป็นคนชิลๆเราก็ชอบเพลง Jobim มานานแล้วด้วย ก็บังเอิญได้จังหวะพอดี แล้วก็มีเพื่อนที่รู้จักกัน มันก็เป็นอะไรที่วนไปวนมาก็มาเจอกันเอง อย่างมือเบส เอ่อ..” รุส ณัฐนันท์ สังขะทรัพย์ “ที่เป็นคนเล่นดับเบิ้ลเบสเก่งมาก รู้จักกับพี่กะทิด้วยรู้จักกับเราด้วย มันก็คุยกันไปคุยกันมา ก็มาทำวงกันไหมอะไรอย่างนี้ ลองเล่นเพลงพวกบลาซิลเลี่ยนแจ็สอย่างเดียวเลย ซึ่งมันก็ดีวะ ตอนแรกๆมันก็เป็นแค่แจมกัน นัดกันเจอกันซ้อมกัน โซโล่ อิมโพรไวส์เปลี่ยนกันไปเปลี่ยนกันมา เอาไปเอามามันก็เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้นหละที่นี้ (หัวเราะ) กลายเป็นว่ารับงานได้แล้ววุ้ย อะไรพวกนี้ รับจ๊อบอย่างงาน jazz festival บนเอ็มโพเลี่ยมอะไรพวกนี้ หรืองานที่ช่วยเหลือมูลนิธิอะไรต่างๆ ที่เราเอาดนตรีเป็นสื่อเข้ามาให้คนเข้ามาสนใจ ก็เริ่มมาเรื่อยๆ ก็ไปเล่นโรงเเรมบ้าง ตั้งแต่ปาร์คนายเลิสจนไปจบที่ดุสิตธานี
GT : แล้วกับเรื่องฟิลการเล่นที่เปลี่ยนไปจากที่เล่นเพลงทั่วๆไปมาเป็นแจ็ส
พี่กั้ง : คือจริงๆแล้วนะ…อืม ..สำหรับพี่นะ สำหรับพี่เอง ..มันเปลี่ยนแค่ฟิลเท่านั้น ไม่ถึงกับเปลี่ยนอะไรมาก คือมันต้องมีทักษะก่อน ถูกไหม มันต้องมีความกล้าที่จะเล่น ภาษาแจ็สมันต้องมีอะไรที่..มันมีความฟรีในการเล่นอยู่ มันก็ต้อง อืม..พูดไม่ถูกเหมือนกัน (หัวเราะ) มันต้องมีความกล้าเล่นต้องมีความหน้าด้านที่จะเล่น (หัวเราะ) แต่มันก็ต้องอยู่ในเหตุและผลของมัน ต้องมีที่มาที่ไปของการเล่น
GT :อย่างนี้พี่ต้องมานั่งแกะเพลงพวกนี้ค่อนข้างเยอะ
พี่กั้ง : มีๆ !! มีเยอะเลย ก็ค่อยๆมานั่งแกะงานโซโล่ของคนโน้นคนนี้ อย่างงานของไลด์เครื่องเป่าต่างๆ อย่าง Stan Getz ,John Coltrane หรือ Charlie Parker ก็ศึกษาพวกนี้ที่เขาเรียกว่า Jazz Line
GT :นอกจากบลาซิลเลี่ยนแล้ว พวกบ็อบพี่ได้เล่นกับวงด้วยหรือเปล่า
พี่กั้ง : อ๋อ!! จริงๆก็ศึกษาสไตล์พวกนี้มา แต่ไม่ถึงขนาดไปเล่นกับวง แต่ถ้าพูดถึงการแจมกับเพื่อนก็จะเป็นตรงนี้ซะมากกว่า มันก็จะได้อะไรเยอะมากกว่าตรงนั้น แต่ถ้าถึงกับต้องเซ็ทแบนด์เล่นบ็อบเลยก็คงลำบาก
GT : หลังจากที่เล่นกับ Kati Brazilian Jazz Band แล้ว พี่เข้ามาเล่นกับ Groove Rider ได้ยังไง
พี่กั้ง : อืม ก็คือมือเบสที่เล่นด้วยกันเนี่ยะ ก็คือ รุส เขารู้จักกับมือเบสวง P.O.P ที่ชื่อก้อ ตอนนั้นก้อเขาอยากมาทำโปรเจ็กของตัวเองที่ต่างออกไปจาก P.O.P เขาก็หามือกีต้าร์ แล้วรุจที่เป็นเพื่อนกับก็เขาก็แนะนำให้มาดูพี่ ก้อเขาก็มาดูที่โรงแรม ก็เลยลองมานั่งคุยเรื่องโปรเจ็ก มันก็น่าสนใจ เราก็ชอบอยู่แล้วฟิลนี้ คือก้อเขาอยากทำเพลงพวกฟั้งกี้,โซล ,ดิสโก้อะไรอย่างนี้
GT : แต่การเล่นของพี่ค่อนข้างกระโดดกันมากเลยนะ จากตอนแรกเป็นเพลงตลาดๆ มาเป็นแจ็ส แล้วมาเป็นเพลงสไตล์นี้
พี่กั้ง : (หัวเราะ) อืม..ถ้าเราดูหรือฟังพวกงานพวกโซลเยอะๆเนี่ยะ อย่าง Marvin Gaye หรือ Stevie Wonder หรือวงอย่าง The Temptation หรือ The Supreme ถ้าเราไปฟังเพลงพวกนี้ แล้วเราไปดูพวกแบ็กอัพนะ ที่เป็น Studio Musician นะเป็นนักดนตรีแจ็สทั้งนั้นเลยนะ แล้วมันก็ใช้ไอเดียแจ็สมาใช้กับเพลงสไตล์นี้ มันก็ดีนะพอเข้าไปเจาะงานพวกนี้ หรือว่าไปรู้การทำงานพวกนี้ ว่ามันมีความเป็นมายังไงหรือว่ามีพื้นฐานอย่างไร หรือทำไมมันต้องมาเล่นเพลงพวกนี้ หรือบางทีมันอาจจะเล่นแจ็สอย่างเดียวแล้วไม่มีกินก็ได้ (หัวเราะ) ซึ่งมันอาจจะต้องไปทำอย่างอื่นบ้าง ซึ่งพี่ก็คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างหนึ่ง ซึ่งเราก็ได้เรื่องของการนำความรู้ของดนตรีแจ็สเข้ามาเล่นกับดนตรีป็อป มันก็ได้คิดได้อะไรด้วย พอมาตรงนี้ก็ต้องคิดด้วยว่าจะทำยังไงให้คนที่ฟังเพลงป็อปได้ยินในสิ่งที่เขาไม่เคยได้ยิน แล้วเกิดแฮปปี้ขึ้นมา มันก็เป็นผลดี มันก็เป็นเรื่องการตลาดมากยิ่งขึ้น กับเพลงที่เราต้องทำ
GT : พอรวมเป็นวงแล้วต้องมีการแกะเพลงคนอื่นมาซ้อมกันหรือเปล่า หรือเริ่มทำเพลงเลย
พี่กั้ง : ก็มีช่วงแรกที่ซ้อมกัน ก็นัดกันอาทิตย์ละครั้ง ก็เล่นกันอยู่ 3 ชิ้น กีต้าร์,เบส,กลอง ก็จะเอางานของ Marvin Gaye หรืองานที่เป็นฟั้งก์ James Brown หรืองานของ Jaco อะไรที่เป็นพวก jam band ทั้งหลายมาเล่นกัน หรือวงใหม่ๆอย่าง jamiroqui ซึ่งก็มีช่องว่างสำหรับการอิมโพรไวส์เยอะเหมือนกับแจ็ส มันมีแนวทางอย่างแจ็สฟั้งกี้ต้าร์อยู่ และมันก็มีคำนี้อยู่ อย่าง John Scofield มันก็มีช่องว่างให้เราคิด ไม่ใช่ทำให้เราเขอะเขินที่มาเล่นเพลงป็อปแล้วให้เรารู้สึกละอาย (หัวเราะ) จริงๆแล้วมันมีช่องว่างให้เราเยอะ ที่ให้เราทำอะไรให้กับเพลง ก็เยอะเหมือนกันนะ ไม่ใช่ว่ามาตีบตัน กับเรื่องของไอเดีย
GT : แล้วพอเริ่มต้นทำเพลงกัน ตรงนี้พี่เข้าไปทำตรงจุดไหนบ้าง
พี่กั้ง : อืม..ก็เรียบเรียง เพราะก้อเขาจะเป็นเจ้าของโปรเจ็ก แล้วเขาก็จะมีคอร์ดโพรเกสชั่น ที่เขาคิดมาบ้างแล้ว เราก็มาเรียบเรียงร่วมกัน ก็เกิดจากการที่เรานัดซ้อมกัน นัดแจมกันในแต่ละอาทิตย์ ก็จะขึ้นคอร์ดมา ขึ้นเพลงมาไปเรื่อยๆ จนทุกอย่างมันกรู๊ฟไปด้วยกัน
GT : แต่มีหลายๆเพลงที่พอถึงไลด์โซโล่ ก็เป็นแจ็สเหมือนกัน
พี่กั้ง : อืม.. ก็มีบ้าง มันก็ต้องมาทำการบ้านไง อย่างเช่นไอเดียของการใช้ chord scale relationship อะไรอย่างนี้ เราก็อาจจะอิงมาทางแจ็สบ้าง แต่ก็ไม่ใช้ว่าเอาด์จ๋ามาเลย จนมันหลุดออกไป จาก คอนเซ็ปต์ ,โทน หรือซาวด์ของดนตรี มันก็ต้องเกาะกลุ่มไปด้วยกัน ก็ควรใช้อย่างระมัดระวัง
GT : ตอนที่งานออกมาให้ฟังกัน คิดไว้หรือเปล่าว่า กระแสตอบรับกับมือกีต้าร์สไตล์นี้จะเป็นยังไงบ้าง
พี่กั้ง : (หัวเราะ) ไม่คิดอะไรเลย เราก็ทำงานออกไปเรื่อยๆ เรารู้อยู่แล้วว่าเส้นทางมันจะเป็นยังไง
GT : แล้วชุดใหม่ Groove Rider ไปถึงไหนแล้ว
พี่กั้ง : ก็กำลังเริ่ม ภายในปีนี้ได้ฟังแน่นอน
GT : ยังเป็นสไตล์เดิม
พี่กั้ง : ใช่สไตล์เดิม แต่เข้มข้นขึ้นตามวัย (หัวเราะ)
GT : ที่นี้มาเรื่องของ E.P ที่ชื่อว่า Kung Project 1 เกิดไอเดียยังไงถึงทำงานชุดนี้ขึ้นมา
พี่กั้ง : Kung Project 1 ก็ทำเล่นๆ ช่วงนั้นก็อยู่กับ Groove Rider เราก็อยากทำเพลงบรรเลงแล้ววางงขายงาน Fat ซึ่งมีต้นทุนไม่มากทำขายซัก 500 แผ่น ลงทุนเองหมดใช้นักดนตรี เพื่อนๆกัน ก็ช่วยเหลือกัน ก็เป็นสิ่งที่อยากทำ เป็น fusion jazz ก็ผ่านไป ก็เป็นความอยาก แล้วก็จบลงด้วยความแฮปปี้เอนดิ้ง (หัวเราะ)
GT : การตอบรับเป็นไงบ้าง
พี่กั้ง : ก็โอเค ขายหมดไป 500 แผ่น(หัวเราะ) ก็จ่ายค่าผลิตต่างๆได้ ช่วงนั้นเราก็ทำอยู่กับกรู๊ฟ ทัวร์อยู่กับกรู๊ฟ ก็ทำงานเป็นไซด์ไลด์ไปด้วย ก็ทำควบคู่กันไป
GT : พี่คิดจะเอาออกมาขายใหม่หรือเปล่า
พี่กั้ง : ยังไม่คิดเลย (หัวเราะ) ไม่รู้มาสเตอร์ไปไหนแล้วเนี่ยะ (หัวเราะ)
GT : แล้วจะมีงานที่เป็นเพลงบรรเลงอย่างเดียวออกมาหรือเปล่า
พี่กั้ง : ก็คิดนะ จริงๆก็คิด เพราะเราก็อยู่กับงานพวกนี้ เราก็มีความคิดวนอยู่ตลอดเวลา อยู่ที่ว่ามีเวลาหรือพลังในการทำมากน้อยแค่ไหน ซึ่งพลังตรงนั้นมันก็จะเกิดมาซักพักนึง แล้วมันก็จะลุยทำตรงนั้นจนเสร็จจนได้ เราก็คงต้องรอช่วงเวลานั้น (หัวเราะ)
GT : รอแรงบัลดาลใจ
พี่กั้ง : อืม (หัวเราะ)
GT : แล้วกับงาน Kunksanova เกิดโปรเจ็กนี้ได้ยังไง
พี่กั้ง : โปรเจ็กนี้เกิดขึ้นมาก็เพราะ ความชอบบอสซาโนว่าตั้งแต่อยู่กับพี่กะทิ มันมีความชอบที่เป็นทุนไว้อยู่มากๆ พวกงานของ Antonio Carlos Jobim พี่ก็คิดว่า อืม…เพลงไทยที่ออกไปทางบอสซาโนว่ามันก็มีอยู่ นับมาตั้งแต่นักดนตรีรุ่นพี่หลายๆวงอย่าง สุเมธ เดอะปั๋ง หรือ T-Bone หรืออย่าง Groove Rider ก็มีฟิลนี้อยู่เข้ามาซัก 10 เปอร์เซ็นต์ เราก็ตั้งใจว่ามันน่าจะมีอัลบั้มที่เป็นบอสซาโนว่า แล้วเป็นเนื้อไทย ตั้งแต่ Intro จน Ending สร้างบรรยากาศอย่างนั้นทั้งอัลบั้ม ซึ่งก็คิดทำมาตลอด ก็เริ่มทำบ้าง แต่ช่วงนั้นก็ยังทัวร์อยู่กับกรู๊ฟนะ ช่วงนั้นก็ทำงานกับพี่บอยด์ โกสิยพงศ์ ด้วย ก็เข้าไปอัดกีต้าร์บ่อย อัดเพลงโฆษณา ก็นั่งคุยกันว่า มีอะไรอย่างนี้ สนใจหรือเปล่า พี่บอยด์ก็เอาดิ ตอนแรกแกเสนอว่าเป็นอะคูสติก (หัวเราะ) เราก็บอกว่าเป็นบอสซ่าดีกว่า ถนัดกว่า ก็ลองไปเรียงเรียงเพลงมา ก็ไปเอาเพลงเก่ามาทำดู แล้วให้พี่บอยด์ฟัง ชื่อเพลง “ห่างไกลเหลือเกิน” ซึ่งออริจินัลเป็นเพลงที่พี่ป๊อด โมเดิร์นด็อกร้องไว้ ทำไปทำมา พี่บอยด์ก็ชอบขึ้นมา (หัวเราะ) เลยกลายเป็นการเอาเพลงเก่ามาทำ ก็เลยเอาเพลงพี่บอยด์มาทำใหม่หมดเลย ตอนแรกก็ตั้งใจว่าจะเป็นเพลงร้องทั้งหมด เอาไปเอามาทำบรรเลงซะหน่อยดีกว่า เป็นบรรเลงกีต้าร์ก็มีในอัลบั้มชุดนี้ด้วย ก็ใช้เวลาทำประมาณ 1 ปี
GT : ด้วยความที่เพลงดีๆของพี่บอยด์มีเยอะมาก ตรงนี้พี่ตัดสินใจยังไงว่าจะเอาเพลงไหนมาทำ
พี่กั้ง : ก็..เอาเพลงที่เราชอบเลย เราก็ไม่ได้ฟังของพี่บอยด์ทั้งหมดหรอกนะ อย่างอัลบั้ม Simplified ก็มีเพลงห่างไกลเหลือเกิน หรือ Million Way To Love หรือเพลงโฆษณาของแกบางเพลง ก็มีอยู่ไม่กี่เพลง ที่เราเอามาทำและเลือกๆมา ส่วนใหญ่จะเป็นซุปเปอร์ฮิตทั้งนั้นแหละ (หัวเราะ)
GT : พี่เป็นคนเลือกเองหมดเลยหรือเปล่า
พี่กั้ง : ก็พี่บอยด์เลือกด้วย ก็ช่วยๆกัน แต่พี่บอยด์ก็จะช่วยดูแลอยู่ห่างๆ
GT : แต่งานเรียบเรียงทั้งหมดพี่ทำเอง
พี่กั้ง : ใช่ โปรดิวส์ด้วย ทำเองหมดทุกอย่างในอัลบั้มนี้
GT : แล้วกลับการต้อนรับจากคนฟังหละครับ
พี่กั้ง : อืม… ถ้าพูดถึงกระแสตอบรับ จากที่ผ่านมา 1 ปี ก็ค่อนข้างจะโอเค จะดี อีกอย่างหนึ่งเราไม่ได้ขาย วางแผงขายทั่วๆไป ถือว่าเป็นมิติใหม่ของวงการเพลงไทย คือเราเริ่มกับ True ซึ่ง True ก็จะเอาแผ่นไปจำนวนนึง ก็จะเอาไปทำ event ก็แถมมั่งขายมั่ง ตาม True Shop ต่างๆ แต่ทางเราไม่มีการขายผ่านยี่ปั๊วต่างๆ ตามแผงทั่วไปไม่มี ซึ่งมันก็จะเป็นอะไรที่หายากสำหรับผู้ที่รู้ข่าว ว่า กั้งออกอัลบั้มเดี่ยวเป็นบอสซาโนว่า จะหาซื้อได้ที่ไหนบ้าง ก็ลองเข้าไปที่ www.trueworld.net หรือไปที่ True Shop ทุกสาขา ถามได้ว่ามีอัลบั้มชุดนี้ไหม (หัวเราะ)
GT : งานชุดนี้ เพลงไหนที่พี่ชอบมากที่สุด
พี่กั้ง : ชอบมากที่สุด เหรอ อืม.. มันก็ชอบหมดทุกเพลงแหละ อืม.. แต่มีเพลงนึงที่ค่อนข้างจะชอบเป็นที่ 1 เลยก็คือเพลง “ใคร” ต้องลองไปฟังดู (หัวเราะ)
GT : พี่เข้าไปร่วมร้องด้วยหรือเปล่า
พี่กั้ง : ก็มีร้องคอรัสนิดหน่อย แล้วก็คุมร้องกับนักร้องแต่ละคน ซึ่งมีนักร้องทั้งหมด 6 คน
GT : แล้วกับคอนเสิร์ตนี่จะมีให้ดูกันหรือเปล่า
พี่กั้ง : ก็มีไปบ้างแล้ว สำหรับ kunksanova แต่ตอนนี้ก็มามุ่งอยู่กับงานของ Groove Rider ก็งานจะน้อยๆลงไป คือแทบจะไม่รับงานเลย คือถ้ารับ ก็รับแพงๆคนจะได้ไม่จ้าง (หัวเราะ) อืม..หลังจากนี้ก็อาจจะเป็นงานคอนเสิร์ตของ Love Is ที่รวมศิลปิน คงจะเป็นอย่างนั้นซะมากกว่า แต่งาน Event อะไรพวกนี้อาจจะยังไม่รับงาน
GT : แล้วช่วงนี้ พี่ทำอะไรบ้างเกี่ยวกับงานเพลง
พี่กั้ง : หลักๆก็คือ ทำอัลบั้ม Groove Rider อยู่ ก็อยู่ในช่วงของการบันทึกเสียง อัดเสียงอยู่ แล้วกอาจจะมีโปรเจ็กของตัวเอง กับศิลปินอีกคนหนึ่ง เป็นรุ่นใหญ่ ยังบอกไม่ได้ว่าใคร เหมือนกับว่าเป็น kungsanova ฟีทเจอร์ริ่ง ศิลปินคนนี้
GT : ก็จะเป็น kunksanova ชุดสอง
พี่กั้ง : ใช่ !! แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นใคร
GT : ที่นี้กลับไปตอนที่เรื่องเล่นกีต้าร์นิดนึง มีการแบ่งเวลาซ้อมยังไงบ้าง
พี่กั้ง : อ๋อ !! ซ้อมทุกวัน จะกี่ชั่วโมงก็ได้ คือพยายามให้ตัวเองจับกีต้าร์ทุกวัน แล้วก็พยายามเล่นให้อยู่ Timing แล้วก็พยายามให้มีกรอบในการซ้อมมี point มีเป้าหมายว่าวันนี้จะซ้อมอะไร จริงๆตอนนั้นก็แค่พยายามเล่นให้ได้ทุกวัน การแบ่งเรื่องซ้อมก็มี โดยเฉพาะช่วงเรียนดนตรีเนี่ยะต้องทำให้ได้ แต่โชคดีอยู่อย่างที่เราไม่ได้ทำอย่างอื่น นอกจากเล่นดนตรี ช่วงที่เราเล่นดนตรีกลางคืนก็เหมือนที่เราได้เล่นได้ซ้อมได้คิดไปด้วย ก็ช่วยได้เยอะ การเล่นกับวงมันก็ดีกว่าการที่เราเล่นอยู่บ้าน ก็ควรต้องออกไปเล่นกับคนอื่นๆด้วย
GT : แล้วกับการเล่นแบบ อิมโพรไวส์ ที่เอาไปเล่นกับเพลงทั่วๆไป มีปัญหากับการเล่นกับคนอื่นๆหรือเปล่า เพราะอย่างบางคนรับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ?
พี่กั้ง : ไม่มีปัญหาอะไรเลยครับ ถ้ารู้จักการเล่น จริงๆ คือบางอย่างมันก็ใช้ไม่ได้บางอย่างก็ใช้ได้ ก็ต้องใช้ประสพการณ์ที่เรียนรู้เองด้วย แล้วก็ขึ้นอยู่กับเพลงด้วย แล้วก็ค่อยๆประมาณตัวเองว่าควรจะเล่นอะไร อันไหนที่เราไปซัดไปใส่มันมากเกินไปบางทีก็ไม่เวิร์ค มันไม่เหมาะกับสไตล์นั้น
GT : แล้วกับปัจจุบันพี่ซ้อมยังไง
พี่กั้ง : วิธีซ้อมอย่างนึงก็คือเปิดเพลงที่เราชอบ แล้วพยายามเล่นไปกับมัน แต่ต้องหาเพลงที่เรารู้จักด้วยนะ รู้คอร์ดรู้อะไร
GT : เน้นไปที่การอิมโพรไวส์มากกว่า
พี่กั้ง : ใช่ ๆ
GT : อุปกรณ์ที่พี่ใช้หลักๆตอนนี้มีอะไรบ้าง
พี่กั้ง : ตอนนี้เหรอถ้าอยู่กับ Groove Rider ก็ไม่ได้ใช้อะไรมาก เพลงก็ไม่ได้ใช้อะไรเยอะ ก็มี Tube Screamer เป็น Ts 9 ,Wah Wah Vox 847 , กีต้าร์ก็ Fender Strat หรือ Tele บ้าง ต้องการซาวด์ที่เป็นฟั้งกี้ หรืออะไรที่ออกด้านๆหน่อย Delay ก็มีบ้าง ของ Boss นะ

GT : แล้วกับงานของ kunksanova
พี่กั้ง : งานของ kunksanova นี่แทบไม่ต้องใช้อะไรเลย เพราะเป็นอะคูสติก ใช้สายไนลอน ก็มีบ้างบางเพลงที่เป็นเพลงบรรเลงก็จะใช้กีต้าร์ไฟฟ้า Gibson Es 335 ใช้เล่นโซโล่ อืม..ส่วนกีต้าร์อะคูสติกที่ใช้อัดเสียงก็คือ Takamine ไนลอน รุ่น Hirade แล้วก็ใช้ Tele บ้าง อืม..กีต้าร์ไฟฟ้าที่ใช้ก็ไม่เยอะ ก็มี 335 ตัวนึง Strat ปี 62 reissue แล้วก็ Tele ญี่ปุ่น
GT : แล้วตู้ Amp
พี่กั้ง : โอ้โห !! ตู้แทบจะไม่ได้ใช้เลย เดี๋ยวนี้ แต่ถ้างานของ Groove Rider ก็ Fender Twin Reverb ปรับซาวด์ง่ายดี
GT : กับการเล่นสไตล์ฟั้งกี้ อย่างนี้พี่มีวิธีปรับซาวด์ยังไง
พี่กั้ง : เรื่องซาวด์ อืม..ก่อนอื่นต้องมี reference มาฟังเรื่องของซาวด์กีต้าร์ ซึ่งฟั้งกี้มันก็จะออกคมๆหน่อย มันก็แล้วแต่นะ อย่างฟั้งก์แบบโซล บางทีมันก็อ้วนๆหนาๆก็มี ด้านๆก็มี ฟังเหมือนกับเสียบ direct ก็มี
GT : แล้วธรรมดาพี่ใช้ pick up ไหนเล่น
พี่กั้ง : ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นตรง bridge หรือถ้าเป็น Strat ก็จะเป็นตรงกลาง มันก็ได้หลายซาวด์นะ
GT : มีคำแนะนำสำหรับคนที่อยากเล่นเพลงสไตล์นี้หรือพวก บอสซาโนว่าหรือเปล่าครับ
พี่กั้ง : อืม..ผมว่าฟังเพลงเยอะๆเลยครับ หางานพวกนี้มาฟังเยอะๆเลย แล้วก็แกะเล่น พี่ว่าต้องพยายามเข้าใจถึงฟิลมันให้ได้ก่อน แล้วก็เล่นเพลงพวกนี้ในระดับหนึ่ง หรือให้ได้หลายๆเพลง
GT : ควรแกะเพลงเลย
พี่กั้ง : อืม..ควรแกะเลย หรือถ้ามีเบสิคในเรื่องต่างๆ scale หรือ chord ก็นำมาใช้ เรียนรู้กับเพลงและแพทเทิร์นต่างๆและรูปแบบในการเล่น จนเรารู้สึกฟรีกับมัน แล้วเล่นมันออกมาเป็นธรรมชาติได้
GT : สุดท้ายแล้วพี่มีอะไรอยากฝากถึงน้องๆ ใน Guitarthai บ้าง
พี่กั้ง : ก็..ทุกอย่างเลยครับถ้าเรารักเราชอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานเรื่องดนตรีอะไรอย่างนี้ ถ้าเราชอบและรักและได้ทำสิ่งที่เรารักเนี่ยะ ผมคิดว่ามันก็จะออกมาดี ถ้าไม่ชอบแล้วไปทำ ผลงานที่ออกมามันก็คงจะไม่ดีตามที่เราตั้งใจไว้ คือถ้าเลือกได้แล้วตัดสินใจได้แล้วว่าเราอยากทำอะไรเนี่ยะ ก็จงมุ่งไปทางนั้น ผมคิดว่าไม่มีทางที่จะอดตายหรอก ถ้าชอบและใจรักจริงผมว่าไม่มีทาง ชีวิตก็น่าจะมีความสุขได้