Main Menu
 Home หน้าแรก
 login / สมาชิก
 BuyerBook
 รายการ TV
  คอร์ด / เนื้อเพลง
  วีดีโอ คลิป
  Webboard
  Classifieds
  ข่าวสารดนตรี
  Review & ทดสอบ
  งานคอนเสิร์ต
  บทความดนตรี
  Cools Links
  Artist Gear
 
  About Us

8134


 Interview :     The Floret Band มาพูดคุยถึงแนวคิดและประสพการณ์ทางดนตรี    12/22/2006    เดียว
 

คงเป็นเรื่องยากมากที่วงดนตรีซักวงจะเล่นด้วยกันมาอย่างเหนี่ยวแน่นด้วยระยะเวลากว่า 30 ปี โดยที่ไม่มีการแยกหรือแตกวงกันซักครั้ง และประสพการณ์และฝีมือที่สั่งสมมาทำให้กล้าพูดว่า วงดนตรีวงนี้เป็นวงที่ติดอันดับต้นๆของเมืองไทยได้อย่างไม่สามารถปฎิเสธได้แต่อย่างใด วันนี้ Guitarthai ได้รับเกียรติจากพี่ๆวง The Floret Band มาพูดคุยถึงแนวคิดและประสพการณ์ทางดนตรีจากรุ่นพี่ถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไปที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งครับ

มาดู Clip ของ The Floret Band ที่ข้างล่างนี้

     
     
   

GT : วงนี้รวมตัวกันได้อย่างไรครับ
พี่เตี้ย : ยุคแรกที่รวมตัวกันก็เพราะอยู่หมู่บ้านเดียวกัน แล้วช่วงนั้นเผอิญมีคนรู้จักเขาเอากีต้าร์มาฝากพี่ชายผมไว้ที่บ้าน แล้วด้วยเหตุอะไรไม่รู้เอากีต้าร์มาไว้ตัวเดียว เราก็อยากรู้ว่ามันเล่นยังไง เราก็เอามาหัด พอหัดคนอื่นๆเขาก็อยากเล่นบ้าง แล้วเขาก็จะทิ้งหนังสือไว้อยู่เล่มหนึ่ง เขียนเป็นคอร์ดวางนิ้ว เราก็เล่นตาม ก็ลองเล่นดู แล้วเผอิญพวกเนี๊ยะ(พวกในวง) เขาก็มานั่งดูก็ตกใจ เฮ้ย!! เล่นได้ยังไง ก็เลยจับมาลองกัน แล้วพวกนี้ก็จะมานั่งเล่นกัน อย่างเนี๊ยะ (ชี้ไปที่พี่จร) ผมก็ชวนมาเล่น และมันก็เป็นเรื่องแปลกที่ทุกคนกระหายที่อยากจะเล่นเพราะอะไรรู้ไหม กีต้าร์ตัวเดียวคนเป็นสิบ ถามว่าถ้าเราได้จับครั้งนึงนะ มันอยู่กับเราประมาณสิบนาทีเราจะทำอะไรได้บ้าง เราต้องตั้งใจ มันไม่เหมือนเดี๋ยวนี้มีกีต้าร์อยู่กับบ้าน เราก็ไม่อยากเล่นแล้ว อย่างตอนนั้นพอไอ้นี้เล่นคอร์ด เราก็มองเมื่อไหร่มันจะวางวะ (หัวเราะทั้งวง) ใช่ไหม มันเป็นความรู้สึกว่าเมื่อไหร่มันจะวาง มันวางปุ๊ปก็มาถึงเรา อันนี้เริ่มจริงเลยนะ
พี่อี๊ด : เหมือนกับลูกบอลลูกเดียวเนี๊ยะ เตะกันกลางทุ่งนา ใครที่มีลูกบอลลูกเนี๊ยะมันยิ่งใหญ่มาก แล้วทุกๆคนก็จะมารอลูกบอลลูกนี้ อย่างนั้นเลย



GT :
แล้วไปมายังไง จากกีต้าร์ตัวเดียวที่เล่นกันหมด ถึงมาแยกว่าคนนี้ต้องมาเล่นตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้
พี่เตี้ย : (หัวเราะทังวง) มันเหมือนโดนบังคับไง เล่นแล้วก็พอเป็นนะ ดูเอาจากหนังสือ ก็เพลงนี้ไง “ โอ้ยอดรัก อย่าจากพี่ไป “ เพลงง่ายๆ มีอยู่ช่วงนึง เอ่อ ไปอยู่ที่โรงเรียนอะไรไม่รู้ เขาก็ถามว่าพอเล่นเล่นกีต้าร์เป็นไหม เราก็บอกเป็น คือไฟกำลังแรงไง จริงๆเล่นไม่เป็นหรอก เขาก็บอกว่าจะจัดงานนะ มีดนตรีเล่นแล้วมีลูกค้านั่ง เราก็เล่นเพลงได้แค่ 4 –5 เพลงมั๊ง ร้องถูกมั่งไม่ถูกมั่ง ก็เฮ้ย !! มาเลย (ชี้ที่พี่อี๊ด)
พี่อี๊ด : ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรหรอก (หัวเราะ)
พี่เตี้ย : อ่า!! ก็จับมาสอน ซี อีไมเนอร์ เอฟ จับอย่างนี้นะ

GT : เอามาตีคอร์ดเล่นกันสองคน
พี่เตี้ย : ไม่!! ให้เล่นเบสเลย (หัวเราะทั้งวง)

GT : ก็คือสอนจับที่ละสายเลย ว่าสายนี้ เฟร็ตนี้ตัวอะไร อย่างนั้นเลยเหรอครับ
พี่เตี้ย : ใช่ !!
พี่อี๊ด : ก็เลยเล่นมาจนถึงทุกวันนี้ไง (หัวเราะ)
พี่เตี้ย : คนเราเนี่ยะนะ การที่จะมาเล่นเป็นวงเนี๊ยะ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ เพราะหนึ่งคือ คนเรามันอยู่ที่ทรรศนะคติ เพราะการที่มารวมเพราะอะไร อย่างแนวเพลงเนี๊ยะ เมื่อตะกี้ที่บอกว่าชอบร็อก แต่พอเวลาอยู่ด้วยกันเนี๊ยะ เล่นเพื่อชีวิต ไม่ใช่เล่นเพลงเพื่อชีวิตนะ เพื่อความอยู่รอด เราเห็นเวลาไปเที่ยวที่อื่น เห็นน้องเขาเล่น โอ้โห!! เป็นร็อก อยากจะกลับบ้านตอนนั้นไปซ้อมเลย แต่ชีวิตจริงปุ๊บ! มันไม่ใช่



GT :
แล้วรวมตัวเป็นสมาชิกขึ้นมาจริงๆ ไปตามกันมายังไงครับ
พี่เตี้ย : อยู่หมู่บ้านเดียวกันทั้งหมดเลยนะ คือ มันเหมือนกับ... คนมันจะต้องมาอยู่ด้วยกัน มันไม่รู้ด้วยเหตุไหน พอเตะฟุตบอลเพื่อนก็มานั่งดูกัน และมีกีต้าร์หนึ่งตัวนะ ดีด ตึง ตึง.. พวกนั้นก็มานั่งใกล้ๆ ก็เคาะโต๊ะ เคาะอะไรกันไป เราก็เห็น เฮ้ย !! มันมีแววนี่หว่า (หัวเราะกันทั้งวง) ก็ถามมันว่า เอาไหมๆ เดี๋ยวสอน
พี่อี๊ด : แนวคิดตรงนี้อยากให้พวกเราช่วยเอาไปขยาย เอาไปกระจายความคิดตรงนี้นะ มันเป็นเรื่องใหญ่ จริงๆแล้วการที่แบบว่า .. เด็กที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพหรือต่างจังหวัดเนี่ยะ ที่มันเริ่มต้นจากจุดใดจุดหนึ่งเนี่ยะ ซึ่งเป็นสิ่งที่แบบ มีแรงจูงใจสูงมาก ไอ้ตรงนี้อยากให้พวกเราเอาไปขยาย ขยายยังไงก็แล้วแต่ เพราะมันเป็นสิ่งที่เป็นจุดกำเนิดที่สำคัญมาก
พี่เตี้ย : เมื่อก่อนมีมือกลองสองคน เวลาที่เราซ้อมเพลงกัน อีกคนเขาจะตั้งใจมาก แต่เขาตีไม่ได้ อีกคนที่ตอนนี้เขาป่วยเขาตีได้ มันก็เลยพลิกไงพอตีได้ปุ๊ป ก็เอาคนนี้ตี หมายถึงว่าเราไม่ได้ว่าให้คนนั้นเลิกนะ พอถึงเพลงนี้คนนี้ต้องตี พอตีไปตีมานานเข้า คนที่เขาตีเพลงนี้ไม่ได้เขาก็แยกไปอยู่วงอื่น และก็มาสะกิดใจมากขึ้นตอนไหนรู้ไหม พอดีมีพี่เขยทำรายการทีวีอยู่ เขาก็ถามว่า “อยากออกทีวีไหม มีรายการนะ” มันยิ่งทำให้เกิดแรงจูงใจมากเลย นี่ก็เป็นอีกเรื่องนึง

GT : วงนี้ตั้งแต่ก่อตั้งมา ก็เริ่มแบ่งหน้าที่กันเลยว่า คนนี้ต้องเล่นตำแหน่งอะไรกัน
พี่เตี้ย : ใช่ๆ คือทักษะ หมายถึงตอนเริ่มแรกเนี๊ยะ เหมือน ear training เราฝึกเอง เราก็เลยเก่งกว่าเขาหน่อยตรงที่เราโซโล่เป็น พอเรารู้คอร์ดเราก็สอน แล้วเราก็ไปโซโล่ เบสเอามาจากไหน ก็มาจากโซโล่นั้นแหละ ก็นี่เลย ซี เอไมเนอร์ เอฟ จีเซเว่นนะ เดินแบบนี้เป็นอย่างนี้
พี่อี๊ด : คือ พื้นฐานที่ว่า ทำไมแก่ขนาดนี้แล้ว ร้องเพลงไม่เคยเพี้ยนกันเลย นั้นเพราะมันมาจากการจับเครื่องดนตรีมาตลอด สมัยเด็กๆผมก็ตีขิม พวก “โอ้ละหนอ ดวงเดือนเอย” ทำไมคนเราไม่คิดถึงจุดนี้บ้าง ดนตรีไทย มันเป็นพื้นฐานเลยนะ
พี่เตี้ย : บางทีเราสามารถเทียบคีย์ให้นักร้องได้เลยนะ รู้ว่าคนไหนร้องเพลงคีย์ไหน คือเราผ่านมาเยอะมาก
พี่อี๊ด : ยิ่งพี่อุ๊เนี่ยะ มนุษย์มหัศจรรย์เลยนะ ได้มาจากอะไรรู้ไหม ก็ได้มาจากเครื่องดนตรีไทย คนนี้หูมหัศจรรย์เลย

GT : ทั้งวงก็เป็นเพื่อนกันตั้งแต่ต่างจังหวัดเลย
พี่เตี้ย : บ้านอยู่ใกล้ๆกันเลย เตะบอลมาด้วยกันเลย
พี่อี๊ด : เพราะลูกบอลลูกเดียวทำให้ทุกคนมาอยู่ด้วยกัน
พี่เตี้ย : ก็คือสองอย่าง กีฬากับดนตรี และอีกตอนที่เราภูมิใจมากเลยก็คือตอนที่ได้ออกทีวี เขาก็บอกว่า เอาอย่างนี้แล้วกัน ให้ออกทุกอาทิตย์ ลองนึกภาพดูสมมติว่าอาทิตย์นึงเราเล่นห้าเพลง แล้วอาทิตย์หน้าทำยังไงหละ ก็ต้องแกะอะดิ

GT : ตอนนั้นก็เป็นวงนี้แล้วใช่ไหมครับ
พี่เตี้ย : ตอนนั้นเหรอมีคนที่ป่วยอีกคนที่ไม่ได้มาเล่นแล้ว ก็คือพี่ ตั๊ว

GT : แต่นอกนั้นก็เป็นสมาชิกเดิมหมดเลย
พี่เตี้ย : เอ่อ.. อุ๊นี่มาทีหลัง มาประมาณยี่สิบปีที่แล้ว ช้าไปประมาณแปดปี (หัวเราะทั้งวง)

GT : ตอนนั้นผมยังไม่ได้เริ่มเล่นดนตรีกันเลย อยู่ไหนก็ไม่รู้
พี่เตี้ย : แล้วตอนนั้นก็มีเจ้าของเครื่องดนตรีอยู่ใกล้บ้าน เราก็อยากซ้อมดนตรี อยากมากเลย เราก็บอกขอซ้อมฟรี เขาก็บอกไม่เป็นไร งั้นเวลารับงานก็ไปด้วยกันเลย เราก็โอ้โห!! เล่นฟรีก็ดีแล้ว ก็ขอแค่ได้เล่นเถอะ

GT : แล้วยุคนั้นเล่นเพลงอะไรครับ
พี่เตี้ย : ตอนนั้นเล่นยุค The Winner

GT : เล่นเพลงสากลตลอด
พี่เตี้ย : ใช่
พี่จร : สมัยนั้นยังไม่มีเพลงไทย
พี่อี๊ด : มาเล่นเพลงไทย ตอนที่ The Impossible ดัง
พี่เตี้ย : ใช่ แต่ก็ไม่มีเพลงไทยนะ Grand Funk , Urah Heep วงพวกนั้นนะ CCR
พี่อี๊ด : เริ่มต้นเนี่ยะ เพลงไทยที่มีกันมา คนเริ่มต้นเนี่ยะก็รุ่นพวกผมนี่แหละ อย่างแกรมมี่เนี๊ยะเริ่มจากไหน ก็คนรุ่นนี้แหละที่ทำให้มีไอเดียแบบนี้ พอหมดรุ่นนี้ไปแล้ว ก็เป็นรุ่นใหม่ๆอย่างคนที่เล่นใน Guitarthai นั้นแหละ ที่นี้พวกเราจะสร้างอะไรต่อไปกัน
พี่เตี้ย : และสมัยนี้นักดนตรีที่จะเหนียวแน่น และจะเล่นกันจริงๆหายากนะ มันสำคัญนะเรื่องทรรศนะคติ


พี่อุ๊ พี่เตี้ย พี่จร พี่อี๊ด

GT : แล้วพอลงมาที่กรุงเทพ มาเริ่มอาชีพเล่นดนตรีกันเลยหรือเปล่า
พี่เตี้ย : คืออย่างนี้ จริงๆแล้ว ก่อนจะมากรุงเทพนี่ไม่ได้ตั้งใจจะมานะ มีอยู่ช่วงนึงเริ่มจากผมก่อน คือที่บ้านไม่มีตังค์ส่งเรียน แต่อยากเป็นครูมาก ทางบ้านก็บอกไม่ต้องหรอก ไปเป็นนายสิบเถอะ ไปเรียนนายสิบ จบมามีงานทำ เขาพูดอย่างนี้ เราก็โอเคตามใจพอแม่ เขาไม่มีเงินส่งจริงๆ และก็ดีกว่าเราตกงาน วันนั้นวันที่เดินทางนะ พอมีเงินบ้าง เราก็มีกีต้าร์เก่าๆอยู่ตัวหนึ่ง วันเดินทางก็ตัดคอกีต้าร์เลย มีพร้อมสายนะ กะว่าพอไปถึงที่นั้น จะต้องไปซ้อม อะไรอย่างนั้น พอไปถึงกรมทหารนะ เกือบตาย เพราะว่ามันฝึกอย่างเดียว เราไม่มีทางซ้อมได้เลย พอจบมาปุ๊ปก็ตั้งใจกับตัวเองเลยว่าต้องเรียนรามให้จบอันดับแรกเลย และต้องเล่นดนตรีที่กรุงเทพ บรรจุวันแรกที่ทำงาน 21 เมษา 2521 ทำงานเลยนะ วันที่ 23 เมษา ทำงานและก็เล่นดนตรี ไปเล่นที่สะพานควายตรงคาเฟ่ เมื่อก่อนจะมีอิเล็กโทนเปิดเป็นจังหวะแล้วก็เล่นกีต้าร์ร้องเพลง ร้องลูกทุ่งร้องอะไรเรื่อยเปื่อยไง แล้วก็ไปเล่นที่ “วีไลท์” กับเพื่อนอีกคน ชั่วคราว ก็เป็นเพื่อนเรียนด้วยกัน แล้วพวกนี้ (สมาชิกวงปัจจุบัน) ก็ไปนั่งดูไง พวกเขาลงมากรุงเทพฯ มาเรียนรามกัน

GT : เหมือนกับรู้ว่าเพื่อนเล่นอยู่นี้ ก็เลยมา
พี่เตี้ย : ประมาณนั้น
พี่อี๊ด : เพื่อนอยู่ที่ไหนเราก็ต้องไปกันไง
พี่เตี้ย : ก็มาเล่นๆ แจมๆ กัน พอเล่นเสร็จปุ๊ป เจ้าของร้านก็ถามเลย ก็ให้เรียกมาเล่นกันเลย ที่นี้ก็เลยตามๆกัน ก็มาเกือบครบทีมเลย มาเล่นตรงเพชรบุรี หลังจากนั้นก็เล่นมาเรื่อยเลย

GT : ไม่เคยมีการแยกกันบ้าง รวมกันตลอด
พี่อี๊ด : ไม่เคยไปอยู่วงไหนเลย
พี่เตี้ย : ไม่เคยเลย มันเหมือนมีอะไรซักอย่างที่ต้องให้มาเล่นด้วยกัน

GT : ขอย้อนกลับไป ตอนที่บอกว่าไปออกรายการทีวี ตอนนั้นมาอยู่ที่กรุงเทพแล้วใช่ไหมครับ
พี่เตี้ย : ไม่ๆ ตอนนั้นยังอยู่ต่างจังหวัดอยู่เลย ตอนนั้นอายุประมาณ 17 มั๊ง

GT : รายการอะไรครับ
พี่อี๊ด : อืม..เป็นรายการ..
พี่เตี้ย : ของอุรา อะไรนะ
พี่อี๊ด : อ๋อ.. รายการอุราพาเพลิน
พี่จร : ช่องแปด ลำปาง
พี่อี๊ด : เอ่อ ๆ เป็นทีวีขาวดำ เป็นรายการทีวีท้องถิ่น
พี่จร : เอ่อๆ ใช่ๆ อย่างนี้แหละ

GT : ก็เล่นเพลงสากล
พี่อี๊ด : ประมาณนั้น เป็นเพลงสากล สมัยที่อินเทรนด์ตอนนั้นนะ ทรงผมคือทรงมอส เคยเห็นรองเท้าส้นสูงๆไหม
พี่อุ๊ : รองเท้าหัวโตๆ นั่งดูเขาออกทีวี ยังไม่รู้เรื่องเลย (หัวเราะ)

GT : ยังไม่เล่นดนตรี
พี่อุ๊ : ยังไม่รู้เรื่องเลย ได้แต่นั่งดูเขาออกทีวี ตอนนั้นยังช้อนปลากัดอยู่เลย (หัวเราะทั้งวง)
พี่จร : ตอนนั้นออกทีวีได้ตั้งค์เท่าไหร่กันนะ
พี่อี๊ด : ร้อยนึง ต่อคน

GT : เยอะมากเลยยุคนั้น
พี่อี๊ด : ปี 2514 หรือยังไงเนี่ยะ
พี่เตี้ย : 2517
พี่อี๊ด : เอ่อๆ ได้ร้อยนึง
พี่เตี้ย : เมื่อก่อนอาชีพหลักนะ เล่นกองเชียร์ลำวง รู้จักไหม

GT : เป็นยังไงครับ
พี่จร : มีนางรำ !!
พี่เตี้ย : มันจะมีนางรำไง รอบนี้สามช่า อะไรอย่างนี้ ก็จะมีคนคล้องพวงมาลัย เราก็เตรียมกีต้าร์เลยพอนัก
ร้องจะขึ้น เราก็นี่เลย “ช่างเถอะคนงาม” เราก็จับคีย์แล้วเล่นตามเลย ประมาณสองนาที ก็เป่าสัญญาณ ปี๊ด..ด หมดรอบ

GT : กีต้าร์ตัวเดียว
พี่อี๊ด : เอ่อ นั้นแหละ กีต้าร์โปร่งตัวเดียว
พี่เตี้ย : กีต้าร์โปร่งตัวเดียว เล่นคนเดียวเลย แล้วเล่นตั้งแต่ สองทุ่มยันเที่ยงคืนนะ 80 บาท
พี่จร : แต่ไม่ได้เล่นออกแอมป์นะ ออกลำโพงฮอร์น

GT : เหมือนลำโพงงานวัดใช่ไหมครับ
พี่จร : นั่นแหละๆ (หัวเราะ)

GT : พอทำวงช่วงแรกๆก็ใช้เป็นกีต้าร์ไฟฟ้า
พี่เตี้ย : ใช่ๆ กีต้าร์ไฟฟ้า

GT : แล้วมาเปลี่ยนคอนเซ็ปต์เป็นสายเอ็นได้อย่างไร
พี่อี๊ด : เป็นคำถามที่ดีมากเลย
พี่เตี้ย : อืม.. หลังจากที่ย้ายจาก Your Place มาเล่นที่ Pegasus เขาก็อยากให้เล่นแนวๆนี้ ให้เราเล่นอย่างนี้ จริงๆตอนแรกเราฝืนมากเลยนะ
พี่อี๊ด : เหตุผลจริงๆเนี๊ยะ ไอ้กีต้าร์ๆไฟฟ้ามันเสียงดังมาก แต่ถ้าเป็นอะคูสติกเนี๊ยะ เสียงมันเบาแล้วก็เพราะด้วย นั้นแหละคือเหตุผลหลัก และถามว่าคนที่เปลี่ยนความคิดที่วงเนี๊ยะ เขาไม่ได้คิดหรอกว่าเปลี่ยนมาใช้แบบนี้ มันจะเพราะหรือไม่เพราะหรอก คือ “อยากจะให้มันเบา” แค่นั้นเอง คนที่คิดเรื่องตรงนี้ไม่ได้มีความรู้ทางดนตรีเท่าไหร่หรอก แต่อยากให้มันเบา
พี่อุ๊ : แต่กว่าจะปรับตัวกันได้ ก็นาน แต่มันจำเป็น

GT : แล้วช่วงแรกเล่นเพลงอะไรกันครับ เพราะตอนแรกเล่นอีกแบบแล้วต้องพลิกกลับมาเป็นอย่างนี้ เรายังไม่มีไอเดียกัน
พี่เตี้ย : อ๋อ! ไม่หรอก จริงๆเพลงพวกนี้นะ มันมีมาประมาณ 60 % ที่เราเล่นกันมาตั้งแต่เด็กๆ พอเปลี่ยน มันก็เปลี่ยนแค่ซาวด์ แต่เพลงเราก็เล่นเหมือนเดิมนั่นแหละ อย่างพี่อุ๊เนี๊ยะ อาจารย์อุ๊เนี๊ยะ เมื่อก่อนนี้ สาเหตุตอนแรกที่เราเล่นที่ Your Place ครั้งแรก ไม่มีเสียบปลั๊กนะ ไม่มีเสียบแจ็คนะ เล่นสดๆ ใช้ไมค์จ่อ แล้วพอมาอยู่อีกที่ Gappa ในเครือร้านนี้นะ Mabeba ต้องเล่นบนเวที เราจะมาเสียบไม่ได้นะ ก็เลยต้องไปซื้อกีต้าร์ที่เป็นแบบนี้ที่มีรูแจ็ค เมื่อก่อนนี้มีแค่บองโก้ตีอย่างเดียว แล้วมีเปียโนอยู่ข้างหน้าอยู่ตัวหนึ่ง เล่นไปเรื่อยๆ มันก็ไม่แน่น ก็เลยเอากลอง มาดัดแปลง อาจารย์อุ๊เขาเป็นคนทำเอง
พี่อี๊ด : ต้องให้พี่อุ๊เป็นคนบอก
พี่เตี้ย : มันถึงเป็นกระเดื่องจนถึงทุกวันนี้ไง

พี่อี๊ด : คือมันเป็นไอเดียที่เราต้องเปลี่ยนจากไฟฟ้ามาเป็นอะคูสติก มันก็รู้สึกว่าขาดอะไรไป มันก็เหมือนกับนักดนตรีรุ่นใหม่ๆเนี๊ยะ ถ้าสมมติว่าเล่นอยู่ทุกวันเนี๊ยะ เล่นแล้วคิดไปด้วยว่า ทำยังไงให้มันแปลก ทำยังไงให้เพราะ ทำยังไงให้มันดีขึ้น มันก็จะมีอะไรใหม่ๆ
พี่อุ๊ : เมื่อก่อนเล่นคีย์บอร์ด ก็เล่นคีย์บอร์ดด้วยมือข้างเดียว แล้วก็ตีบองโก้ แล้วพอมาเล่นร้านอย่างนี้ ที่มีเครื่องเสียงมาเกี่ยวข้องมันจะลอย ถูกไหม!! มันจะมีแค่เสียงเบสอยู่ลอยๆ ตอนนั้นมันมี TD 7 ของ Roland ออกมา เป็นกลองไฟฟ้า แต่มันเป็นชุดใหญ่เลยนะ เราก็เอาแต่กระเดื่องมาใช้ซิ จะได้มีเสียง ตึบๆ!! หน่อย ก็ซื้อกระเดื่องมาอย่างเดียว ก็เอาแพ็ด ก็มีกระเดื่องอันเดียวแล้วก็มาเป็นบองโก้ ก็เล่นคีย์บอร์ดไปด้วย บางทีก็เหยียบกระเดื่องแล้วเล่นคีย์บอร์ด ให้มันแน่นๆ แล้วพอ Eagle มันออกชุด Hell Freezes Over มา ก็ได้ดูมัน เฮ้ย!! ไอ้นี่มันตีคองก้า แล้วทำไมมันโยกๆวะ อ๋อ!! มันเหยียบกระเดื่อง เหมือนเราเลยเว้ย แล้วเราก็ต้องแกะเพลงมันเล่นไง ที่นี้ทำไงวะ ไอ้ Don Henley มันตีกลองชุด ไอ้นี้มันเล่นกระเดื่องกับบองโก้อะไรอย่างนี้ มันเล่นกันหลายคน แต่เรามีอยู่แค่นี้ เราก็เล่นคนเดียวนี่แหละ เอาบองโก้ กระดื่อง เอาสแนร์มา ก็เลยกลายเป็นอย่างนี้ (หัวเราะทั้งวง)

GT : วง The Floret ในปัจจุบันนี้มีสมาชิกหลักๆกี่คน แล้วมีเครื่องดนตรีอะไรบ้าง
พี่อุ๊ : จริงๆแล้วเรามีห้าคน ก็กลอง เบสหนึ่ง กีต้าร์สอง แล้วก็คีย์บอร์ดหนึ่ง หลังจากที่มือกลองเขาไปทำธุรกิจอย่างที่บอก ก็เหลือแค่สี่ ที่นี้ผมก็เลยรับหน้าที่เล่นทั้งกลองและคีย์บอร์ด และพอตัดรูปแบบวงเป็นแบบนี้ เคยเอามือกลองมา อยากจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่มันไม่ได้ คือเราดัดแปลงให้เป็นอย่างนี้ไปแล้ว เรื่องซาวด์มันไม่ได้เลย คือพยายามกันนะ ทางเจ้าของร้านเขาก็บอก ว่า เฮ้ยยูไปทำวงมานะ เพราะจะให้ไปลงอีกที่นึง เราก็พยายามไปปั้น เอาเด็กรุ่นน้องมา จับมานั่งดู ให้มันก็อปปี้ เอากระเดื่องอะไรต่างๆไปลองใช้ ก็ไม่รอด ซักคน เราก็เลย เอาอย่างนี้แล้วกัน มันก็แปลกดี พวกคนต่างชาติมาดู มันก็แปลก เฮ้ย!! วงนี้เป็นอะคูสติก เหมือนสเปนนิช แต่เวลาเล่นออกมาแล้วเสียงกลองมันมาจากไหน มันก็เดินมาดูกัน เฮ้ย! เปิดซีเควนหรือเปล่าวะ (หัวเราะ) มันก็เลยเป็นรูปแบบที่น่าสนใจกับคนฟัง แล้วก็มาเน้นเรื่องร้องประสานเสียง ซึ่งตอนหลังก็มาตั้งชื่อว่า “Acoustech Band” ก็คืออะคูสติกผสมกับเทคโนโลยี ก็ยังคิดอยู่ว่าจะเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ แต่เราเล่นสดนะ ก็ให้มันผสมกันไปด้วย แล้วแบนด์นี้ เวลาเราไปเล่นงานนอกเนี่ยะ มีคนมาจ้างเยอะ เขาก็จะสงสัยว่า มันยังไงกัน acoustech ก็จะส่งโพรไฟล์ไปให้ดู รูปแบบเป็นอย่างนี้นะ แล้วก็มีทั้งแสงสี ครบวงจร เราเป็นออร์แกนไนซ์ให้ด้วย วงเราไม่ดัง ไม่เคยออกเทป แต่ค่าจ้างแพงมาก (หัวเราะ)

GT : จุดเด่นอย่างหนึ่งของวงนี้คือ “ การร้องเสียงประสาน “ แล้วในเมื่อไม่ได้เริ่มต้นเรียนตรงนี้มา มีแนวคิดกันอย่างไรว่าคนนี้ต้องร้องเสียงนี้ คนนี้ต้องร้องเสียงนั้น
พี่อี๊ด : อืม.. ดีๆเลยคำถามนี้
พี่เตี้ย : คือมันก็ลองผิดลองถูกอยู่เหมือนกัน คนนี้ร้องอย่างนี้ เราก็หลบไปอีกเสียง แล้วเพลงพวกนี้มันอยู่ในหัวเราอยู่แล้ว
พี่อี๊ด : มันเหมือนเป็นเซ็นต์อย่างหนึ่งของนักดนตรีนะ
พี่จร : แต่ไม่ใช่ว่าไม่เรียนนะ ก็มีศึกษากัน
พี่อุ๊ : เรียนที่บ้านสมเด็จ เรียน counter point อะไรพวกนี้มาเหมือนกัน
พี่จร : เราได้เปรียบอยู่แล้วเพราะเราเล่นเครื่องดนตรีอย่างกีต้าร์ เราก็จะได้ยินพวกคอร์ด ถ้าเกิดเล่นเครื่องมือไม่ได้ และร้องอย่างเดียวอาจจะมีหลุดได้ในบางโอกาสแน่นอน เช่นเสียงประสาน หลุดริทึ่มบ้างอะไรอย่างนี้ พวกเรามันมาอย่างนี้คือเล่นดนตรีด้วยแล้วก็ร้องด้วย มันก็ไปได้

GT : ยุคแรกนี่ยังไม่มีการร้องประสาน
พี่จร : ใช่ๆ เราแชมป์สตริงแห่งประเทศไทย ตั้งแต่สมัยเบิร์ดนะ (หัวเราะทั้งวง)
พี่อี๊ด : อะไรที่เป็นตังค์เอาหมด ไปประกวดวง

GT : ตอนนั้นมีใครครับ
พี่เตี้ย : หมดเลย
พี่จร : ผมเข้ามาทีหลัง ก็ตามๆกันมาที่กรุงเทพ
พี่อุ๊ : แต่ก็อยู่กันมานาน
พี่อี๊ด : ถ้าได้ที่หนึ่งนี่อยู่แกรมมี่ไปแล้ว (หัวเราะ) พอดีได้ที่สอง
พี่เตี้ย : ตอนนั้นที่อยู่กรุงเทพ ผมก็เล่นร้านเดียวกับ จร นะ ก็เจอกันทุกวัน
พี่อุ๊ : พอตอนหลังมี Pegasus นั้นคือจุดเปลี่ยนแปลงการทำงานนะ
พี่เตี้ย : พอย้ายมา Pegasus พวกเราก็มารวมเลย
พี่อุ๊ : Pegasus คือจุดเปลี่ยนแปลงการทำงานของวงอย่างหนึ่งคือ การที่เราเคยเล่นแต่กีต้าร์ไฟฟ้า เหมือนวงทั่วไปยุคนั้น แต่พอมาอยู่ที่นี่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเราต้องไปเอนเตอร์เทนแขกตามห้องต่างๆ เป็นห้องไพรเวท แล้วเรามีนักดนตรีห้าหกคนเนี๊ยะ บางทีแขกเยอะปุ๊บเราก็ต้องแบ่งเป็นสองวง เนี๊ยะ พี่อี๊ด มือเบสสองสายในประเทศไทยคนเดียวนะ (หัวเราะทั้งวง)
พี่จร : พอเวลา เราต้องปรับตัวไปเล่นในห้องเล็ก กลับที่เราต้องเล่นในห้องใหญ่ที่เราไปทำเสียงดังๆ ตอนแรกเราก็ไม่ใส่ไมค์ไม่มีอะไรเลยนะ กีต้าร์ดีดดังมั่งไม่ดังบ้าง แขกเมาเราก็เมา มันก็ต้องเอนเตอร์เทนไง แต่พอแขกเยอะเข้า เอาหละ .. ฉิบหายแล้ว!! ก็ต้องแยกเป็นสองวง เอ็งไปห้องนี้ ข้าไปห้องนี้ (หัวเราะทั้งวง) ตอนนั้นเงินหนามากเลยนะ ได้ทิปต่อคนนะ คนละ หมื่นถึงสองหมื่น ต่อคืน แล้วไม่ใช่คืนเว้นคืนนะ ทุกคืน เอาแค่ขี้หมูขี้หมาต่ำๆเลยนะต้องได้พันสองพันแล้ว ต่อคน แล้วเพลงที่เราเล่นก็เลยเป็นยังไงรู้ไหม คือหนึ่ง เพลงหลากหลายชาติมาก สารพัดชาติ ไต้หวัน เกาหลี เพลงจีนก็นี่เลย พี่อี๊ด (หัวเราะ) ทีมผมก็จะมี พี่อิ๊ด ผม และก็พี่รัตน์ ออกวงไปแล้ว จะเป็นทีม B ส่วน พี่เตี้ย ,อุ๊ และ พี่ตั๊ว ก็ออกวงไปแล้ว จะเป็นทีม A ทีมหัวกะทิ (หัวเราะทั้งวง) ทีม A จะไม่เชี่ยวชาญการกินเหล้า ส่วนทีม B เนี่ยะ สุดๆ (หัวเราะทังวง) แล้วก็จะเต็มไปด้วยเพลงทะลึ่งๆ ตรงนี้ก็เลยเป็นคาเร็กเตอร์ของวง แล้ว Pegasus ก็เป็นที่เที่ยวที่ดังมากในประเทศ เราก็เลยได้อานิสงค์จากการเอนเตอร์เทนตรงนั้นอย่างแรง

พี่อุ๊ : พอออกจาก Pegasus มาอยู่ที่นี่ คือเจ้าของเขาไปดูแล้วเขาชอบ ก็ซื้อตัวมาอะไรอย่างนี้ คือตอนนั้นเราเองก็ไม่เคยคิดที่จะอยากมาเลยในตอนนั้น คือเล่นนั้นก็อยู่ตัวสบายอยู่แล้ว ก็เลยเรียกราคาประมาณว่ากะไว้ว่าเขาไม่เอา ปรากฎว่าเขาไม่ต่อแม้แต่บาทเดียวเลย ก็เลยต้องมา (หัวเราะทั้งวง) ตรงนี้ก็อยากให้วงน้องๆ ทำงานให้ได้แบบนี้ ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี

พี่จร : ครั้งนึงนะเคยเล่น เล่นโต๊ะจีน ใช้กีต้าร์โปร่ง สามตัวบนเวที แต่เป็นประสพการณ์ที่แบบเล่าแล้วจะหัวเราะกันกลิ้ง
พี่เตี้ย : เออ..เนี่ยะแหละที่อยากแนะนำ อย่างเวลาไปรับงานเนี่ยะ เรื่องรายละเอียด สำคัญที่สุด ถามให้ละเอียดเลยนะ เพราะเคยเจอกันแล้วไง คือมีแขกร้อยคน ไม่เยอะหรอก เนี่ยะแหละงานนี้ ไปถึง เวทีใหญ่มากๆ แล้ว เราใช้กีต้าร์โปร่ง นึกภาพดู เบสมีสองสาย (หัวเราะทั้งวง)

GT : แล้วทำไมเบสมีสองสายหละครับ
พี่เตี้ย : จริงๆจะใส่เป็นสี่ก็ได้ แต่มันไม่ดังไง มันเป็นกีต้าร์โฟล์กไง (หัวเราะทั้งวง) แล้วเอามาทำเป็นเบส
พี่อุ๊ : พูดง่ายๆก็คือไม่มีตั้งค์ จริงๆมันมีอะคูสติกเบสขายนะ แต่มันสองสามหมื่น แต่ไม่ซื้อ (หัวเราะทั้งวง)
พี่อี๊ด : เขาเรียกว่า ภูมิปัญญาชาวบ้าน (หัวเราะทั้งวง)
พี่เตี้ย : พอไปถึงปุ๊บเวทีใหญ่มากเลยนะ มีโต๊ะอยู่ร้อยโต๊ะ แล้วเราขึ้นไปยืนกัน ใช้ไมค์จ่อกันนะ ไอ้ร้อยโต๊ะนั้นนะ มีแต่ลูกจ้างทั้งนั้น เราก็กำลังร้องเพลงฝรั่งอยู่ เขาก็ตะโกนเลยนะ “คาราบาว .. คาราบาว” เราก็ยืนมองหน้ากันทำไงดีวะเนี่ยะ!!
พี่จร : มันเป็นงานฉลองสร้างคอนโดเสร็จ เจ้าของเขาเลี้ยงฉลองพนักงานตั้งแต่โฟร์แมนยันคนงาน (หัวเราะ)
พี่เตี้ย : พอเขาขอคาราบาว เราทำไงรู้ไหม มองหน้ากัน เอานี้ก่อนเลย เดือนเพ็ญ ซักพักนึง ก็เอานี้เลย วนิพกพเนจร ก็พอเล่นได้ เขาก็ลุกขึ้นเต้นไม่หยุดเลย เราก็ซัดเลย 30 ยังแจ๋ว แล้วไม่มีกลอง พี่จรก็นี้เลย เอากีต้าร์เนี่ยะแหละมาตีเป็นเพอคัสชั่นเลย (หัวเราะทั้งวง) แล้วผมก็กีต้าร์ตัวเดียวนะ ทั้งคอร์ดทั้งโซโล่นะ
พี่อี๊ด : ประสพการณ์มันหล่อหลอม ยิ่งเจอเราก็ยิ่งเอาตัวรอดได้ แต่มันจะมาเป็นวงได้ มันต้องมาจากใจก่อน

GT : ตรงนี้อยากจะขอคำแนะนำนิดนึงครับ เพราะวงใหม่ๆเนี๊ยะ มักจะเจอปัญหาที่เล่นๆกันไป เริ่มเบื่อกัน ก็แตกแยกวงกัน แบบว่าต่างคนต่างทนกันไม่ได้ อยากให้คำแนะว่า ทำไมวงอย่าง The Floret ถึงได้อยู่รวมกันมาได้นานมาก
พี่เตี้ย : อาจเป็นเพราะพื้นฐานส่วนหนึ่งมาจากการที่เป็นคนบ้านเดียวกัน มีทัศนะคติคล้ายๆกัน ที่วงเองก็ไม่ใช่ว่าไม่มีปัญหานะ ทะเลาะกันก็ด่ากันเป็นปรกตินั้นแหละ บางทีเถียงกันเป็นฟืนเป็นไฟ แต่พอออกจากร้านก็คุยกันว่าจะไปหาข้าวกินที่ไหนกันวะ เป็นอย่างนี้จริงๆ
พี่อุ๊ : คือแยกแยะให้ออก
พี่เตี้ย : เด็กยุคใหม่ๆ จากที่ดูนะ จากที่ผมรู้จักเด็กหลายๆคน บางทีเล่นดนตรีห้าคนเนี๊ยะ บางทีก็แค่ซ้อมๆด้วยกัน แต่ความผูกพันมันไม่มี ก็เหมือนแค่มาหางานด้วยกัน บางทีแค่คิดว่าขอเถอะขอให้ได้เล่น ถูกก็ได้ แต่วงที่ที่ได้เงินเดือนสูง แต่อีกวงได้เงินน้อย

GT : ก็คือการตัดราคา
พี่เตี้ย : ใช่ !! เจ้าของร้านเขาก็ดู โห วงนี้แก่ก็แก่ ถูกไหม !! แต่ดูไม่รู้ว่าวงนี้เล่นดีหรือไม่ดี อย่างวงเด็กพอเห็นแขกเมาๆ มีอารมณ์มันส์ๆหน่อยก็ให้เลย แต่ดูไม่รู้นะว่านี้เล่นดีหรือไม่ดี เปลี่ยนเอาวงเด็กดีกว่าถูกกว่าเยอะ ก็เพราะคิดอย่างนี้ ตอนนี้ส่วนใหญ่พวกที่อายุขนาดผมจะลดลงไปเรียกค่าตัวเท่ากับเด็กก็ไม่ได้แล้ว ถึงได้เขาก็เอาเด็กดีกว่า ใช่ไหม หรืออย่างเช่นวงประเภทเปิด MD ที่มีนักร้องสามคนอะไรอย่างนี้ ก็เปิด MD ไป แล้วยืนทำท่าเฉยๆ แล้วเล่นเสร็จแบ่งตังค์ให้ พวกนักดนตรีตกงานทำไงหล่ะ ก็ต้องเอาซิ ที่รู้อย่างนี้ ก็เพราะเคยไปเล่นที่ Seven ครั้งนึง

GT : Seven ตรงนวมินทร์
พี่เตี้ย : ใช่ !! ผมก็ไปถามวงนึงนะ ว่า สมาชิกที่มาเล่นด้วยกันนี่รู้จักกันหรือเปล่า เขาก็บอกว่าไม่รู้จัก พอเล่นเสร็จต่างคนก็ต่างแยกไปต่ออีกวง เรื่องนี้น่ากลัวนะ ถ้านักดนตรีไม่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน มันไม่มีข้อต่อรอง ต่อไปจะลำบากกัน
พี่จร : จุดนึงที่เรารวมมาได้คือจุดมุ่งหมายไง อย่างเด็กสมัยนี้มันไม่มีตรงนี้เท่าไหร่ มันไม่ต้องปากกัดตีนถีบอย่างรุ่นเรา ที่ต้องรวมกันไว้ พอไม่มีจุดหมายมันก็ไปกันแล้ว เพราะฉะนั้นพอมีที่ใหม่ๆที่มันสบายๆ เขาก็ไป แล้วอีกอย่างสไตล์ดนตรีสมัยนี้เนี่ยะ มันมีอาจจะมีส่วนนะ เพราะมันหลากหลายมาก คุณอาจจะหนีไปตรงนั้น ตรงนั้นมาตรงนี้ มันก็ได้ แต่สมัยก่อนเรามีที่ยึดมั่นอยู่ที่เดียว อย่างเช่น Grand Funk ,CCR หรือ Elvis อย่างนี้ เพราะฉะนั้นทุกคนก็วิ่งไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวก็เป็นไปได้ นิสัยใจของคนรุ่นใหม่ๆก็อาจจะเกี่ยวด้วย แล้วที่เราอยู่ก็เพราะภาวะต่างๆมันหล่อหลอมให้มาอยู่ด้วยกัน ผมเชื่อว่าวงทุกวง ทุกคนก็อยากอยู่ไม่อยากแตก แต่..สภาวะการณ์บางอย่างอาจจะทำให้แตกก็ได้

GT : และอีกปัญหาหนึ่งที่มักจะเจอบ่อยๆ คือ คนนึงเล่นเก่ง แต่อีกคนเล่นไม่เก่ง เมื่อมาเล่นรวมกัน คนเก่งก็ไม่อยากเล่นกับคนไม่เก่ง ตรงนี้มีมุมมองยังไงครับ
พี่จร : ใช่..ใช่เลย อันนี้ ปัญหานี้นะ “มันอยู่ที่ปาก” อยู่ที่ปากเลยนะ อย่างมึงเก่ง แต่ดันไปด่าไอ้คนไม่เก่ง อีกวันมันก็ไป ใช่ไหม!! มันต้องยอมๆกันไป ก็ต้องช่วยๆกันไป แล้วมันจะอยู่นาน บางคนเก่งแทบตายห่า มีเยอะเลยนะ พวกนี้ แต่.. ไม่มีที่จะเล่น ไม่มีวง เพราะเก่งอยู่คนเดียว มันต้องช่วยๆกัน เพราะมันคือ “ทีม”
พี่อี๊ด : อันนี้เป็นคำถามที่ดีมาก ถ้าเป็นผมนะ อย่างเพลงที่ผมเล่นไม่ได้ แต่ พี่จรเล่นได้ เราก็แค่เปลี่ยนเพลงไง เปลี่ยนให้มันง่ายลง และเล่นได้ทั้งคู่ เพื่อที่จะได้เล่นได้ด้วยกัน
พี่จร : ก็แค่เปลี่ยนเท่านั้น ทำไม !! ต้องเอาเรื่องพวกนี้มาเป็นเรื่องใหญ่ด้วย อย่างบางอันผมโซโล่ไม่ได้ ก็ให้ เตี้ยโซโล่แทน ก็เท่านั้น ทำไมต้องไปติดคำว่า “อีโก้” ใช่ไหม บางครั้งทริ๊กเล็กๆก็มีส่วน อย่างพี่อี๊ดเขาจะเป็นคนเอนเตอร์เทนเก่ง (หัวเราะ) แขกจะกลับบ้านก็กลับไม่ได้ ก็บอกไปว่า เดี๋ยวๆ อย่าเพิ่งกลับ “ขออีกเพลงนึง ” ก่อน นี่พูดถึงการเอนเตอร์เทนนะ ที่วงอยู่ได้นาน อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง มันเป็นเรื่องของ “การที่เรามีความรักที่จะทำตรงนี้ ถ้าเราไม่รักที่จะทำอย่างนี้มันก็ทำไม่ได้” เงิน นะ โอเค!! เราได้แน่นอน ทิปก็เป็นส่วนสำคัญ ให้เรารู้จักแขก “ เอนเตอร์เทน “ มันก็คือการที่ทำให้แขกรู้สึกสนุกสนานไปกับวง เออ มีอีกทริ๊กนึง ที่ใช้อภิปรายกัน (หัวเราะ) ว่า จะให้แขกขึ้นมาร้องเพลงไหม (หัวเราะ) เหมือนอย่างที่เราเล่นที่ Pegasus เอามาเลย !! ขึ้นมาร้อง เอ้า!! ผิดๆ ถูกๆ ก็เอา มาชนแก้วก่อน เมาทั้งแขกทั้งเรา (หัวเราะ) และแขกก็ติด แต่เราก็ต้องเล่นแบบโชว์ ของวงบนเวทีนะ

พี่อุ๊ : แต่ในที่สุดเราก็ตกลงกัน โอเค !! ว่าให้แขกขึ้นมาร้องได้นะ แต่ต้องคอยสนับสนุนเขาให้ดีๆ ตรงนี้เป็นทริ๊กอันหนึ่งที่ทำให้แขกมีส่วนร่วมกับเรา แขกก็มีหลายประเภทนะ อยากจะมาร้องเพลง อยากจะมาฟังเพลงเฉยๆ หรืออะไรต่ออะไร อันนี้ก็เป็นอีกอันหนึ่ง
พี่เตี้ย : แต่ที่เหนี่ยวแน่นนะ นิสัยและทรรศนะคติเนี่ยะคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่

GT : ขอย้อนถามพี่เตี้ยนิดนึง โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนฝึกกีต้าร์เยอะหรือเปล่าครับ
พี่เตี้ย : ไม่เคยฝึกเลย เหมือนมันอยู่ตัว และเราก็ได้มาเล่นทุกวันอยู่แล้ว แต่ต้องยอมรับอย่างนึงเลยว่า “ถ้าคนที่ไม่แกะเพลงใหม่ๆเพิ่ม ไอเดียใหม่ๆสิ่งใหม่ๆมันก็จะไม่มีทางเข้ามาเลย” แต่อันนี้นิสัยส่วนตัวไม่ค่อยเหมือนชาวบ้าน นิดนึงนะ คือค่อนข้างจะเข้าข้างตัวเองนะ คือเราก็มีไอเดียของเรา เราอยากจะเล่นอย่างนี้

GT : คือเน้นที่การแกะเพลง อย่างเดียวเลยหรือเปล่าครับ
พี่เตี้ย : ไม่เลย แกะก็ไม่ได้แกะ นอกจากจะมีเพลงใหม่ ถึงจะแกะมาซ้อม

GT : แต่สมัยก่อนก็นั่งแกะกับแผ่นเสียงทั้งวัน เลยหรือเปล่าครับ
พี่เตี้ย : ใช่ๆ ในอดีตแกะอย่างเดียวเลย
พี่อี๊ด : อันนี้แหละ.. ที่ทำให้ประเทศไทยยิ่งใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้ ก็คืออดีตไง
พี่เตี้ย : เดี๋ยวนี้มันง่าย จะกรอกลับอะไรก็ง่าย ไม่เหมือนเมื่อก่อน เพลงนึงใช้เวลาเป็นวันๆกว่าจะได้
พี่อี๊ด : ถ้าการที่จะอยู่กับดนตรีได้เป็นวันๆนะ ต้องให้พี่อุ๊พูด เพราะพี่อุ๊เป็นคนที่อยู่กับดนตรีแล้วมีความต่อเนื่องสูงมากเลย ของพี่อุ๊เนี๊ยะบางทีอยู่ให้ห้องอัดตั้งไม่รู้กี่ชั่วโมง อยู่เข้าไปได้ยังไง เหมือนกันกับที่ถามว่าฝึกกี่ชั่วโมง พี่อุ๊ตอบได้ดีที่สุด
พี่เตี้ย : ที่นี้ บางทีมันเกิดความขี้เกียจไง ไอ้ความขี้เกียจของเรา แต่ประสบการณ์มันช่วยตรงไหนรู้ไหม อย่างพี่อุ๊เขาเรียนมา ไอ้ Ear Training เนี๊ยะ แต่ผมไม่ได้เรียน ผมเรียนด้วยตัวเอง คือแกะเพลงไง สมมุติแกะเพลงง่ายๆ เราก็มาใช้วิธี “Move Do” สมมุติว่าเพลงเป็นคอร์ดซีนะ เบสเดินอย่างนี้เล่นต่อด้วย Am นะ เราก็ฟัง อย่างลูกโซโล่เร็วๆนะ พอฟังแล้วเข้าหัวปุ๊บเราก็เล่นได้เลย เพราะเราก็ใช้ประสบการณ์จากการแกะเนี๊ยะแหละ แต่ตรงพี่อุ๊เขาเก่งจริงๆนะ แกะเพลงแบบไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรเลย
พี่อี๊ด : ไอ้ตรงนี้ทำไมถึงอยู่ในห้องอัดได้เป็นสิบชั่วโมง มันเหมือนคนเล่นไพ่ไง เหมือนกันทำไมซ้อมกีต้าร์กันได้วันละหลายๆชั่วโมง นี่ไงๆ เหมือน..เหมือน เอ่อ .. อย่าง กอล์ฟไง T-Bone นะ ซ้อมได้ไงวันละเป็นสิบชั่วโมง
พี่อุ๊ : นักดนตรีมันต้องมีอย่างหนึ่ง คือความบ้า
พี่จร : แต่นักดนตรีนะ ถ้าบ้าแล้วไม่ได้ตั้งค์นะ เดี๋ยวเลิกบ้าแน่นอน (หัวเราะทั้งวง) บังเอิญบ้าแล้วได้ตังค์ ก็บ้าไปเถอะ
พี่เตี้ย : บางทีอยู่กับวงก็มีส่วน หมายถึงความท้าทายที่ต้องเล่น เออ !! อีกอย่าง บางทีเล่นให้เก่งให้ตายเลยนะ อย่างหนึ่งที่เราไม่เคยจะสนใจกัน คือ “ภาษา” มีน้องคนนึงวิ่งรอก ร้องเพลงนะ ร้องสามถึงสี่ที่ต่อคืนนะ การที่จะก้าวไปสู่จุดข้างหน้า ภาษาเนี่ยะต้องมาก่อน แต่เขาไม่ได้คิดตรงจุดนี้เลย ไม่เคยฝึกจริงๆจัง อย่างที่ Pegasus นะ มีนักร้องคนนึงเขาลืมสมุดเนื้อเพลงไว้นะ บนเวที เชื่อไหมเขาเขียนเนื้อร้องเป็นภาษาไทยหมดเลย เราไม่ได้ดูถูกเขานะ แต่จริงๆมันต้องศึกษา ในเมื่อเรามาด้านนี้เต็มร้อยแล้ว มันไม่ถูกต้อง
พี่จร : บางทีเดี๋ยวนี้อาจจะเพราะเทคโนโลยีที่สบายเกิน จะหาอะไรก็ดาวโหลดได้เลย เลยทำให้ความมุ่งมั่นที่มีน้อยลง

GT : มาถึงสุดท้ายนี้ อยากให้ช่วยฝากอะไรถึงน้องๆที่เล่นดนตรีด้วยครับ
พี่เตี้ย : อันดับแรกเลยต้องมีใจรัก รักที่จะเล่น และต้องมองว่าการที่เราจะมาเล่นดนตรี เราเล่นเพื่ออะไร เล่นเพื่อชีวิต เพื่อความอยู่รอด และการที่จะมารวมวงกันเนี่ยะ คนที่จะไปกันได้ อย่างที่ผมบอก ทรรศนะคติและนิสัยต้องเหมือนกัน ไม่ใช่มาเจอกันก็มีไบแอสกันแล้ว ความอดทนด้วยนะ อย่างบางครั้งต้องตกงานซักเดือนเนี่ยะ มันมีปัญหาเรื่องการเงิน ใครมาชวนเล่นก็ไป มันก็ทำให้วงแตก เราเป็นนักดนตรีก็รู้นะ ว่ากว่าจะซ้อมกันได้ซัก 10 –20 เพลงมันนานนะ มันยากนะ
พี่จร : เออ.. ยืมตั้งค์แล้วต้องคืน (หัวเราะทั้งวง) ไม่งั้นวงแตก
พี่อุ๊ : อีกอันคือ เสียสละ อันนี้มันจำเป็นอยู่แล้วสำหรับทุกวงการ คือการอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม อย่างสมมุติว่า มีบริษัทอยู่แห่งหนึ่ง เงินเดือนเท่ากันหมด เนี่ยะ มันหมายความว่า เราต้องทำงานเท่ากันหมดหรือเปล่า เพราะอันนึงที่มีปัญหาคือ กูต้องทำเยอะเหรอ ทำไมไอ้นั้นมันทำน้อยกว่า ถ้ามันเป็นอย่างนี้มาก่อนเลยนะ เสร็จเลย และก็รู้จักให้อภัย ต้องรู้จักแยกแยะได้
พี่เตี้ย : เรื่องเวลาสำคัญด้วยนะ นัดซ้อม 5 โมงเย็น มา 4 โมงกว่า มันก็ยังโอเคนะ บางคนไม่เข้าใจไง เพราะคนที่มาช้ามักจะไม่ค่อยยอมรับความผิด มาเอา 5 โมงกว่า แล้วไม่คิดเกรอว่าเพื่อนเขามากันตั้งนานแล้ว อารมณ์เพื่อนก็เสียแล้ว วันหลังเราต้องมาก่อน ต้องแคร์ความรู้สึกเพื่อน และอีกอย่างเลยคือ เรื่องผู้หญิง เรื่องเงินด้วย อย่างที่วง ได้ 5 บาทก็แบ่งคนละบาทเลย เท่ากันหมด
พี่อุ๊ : รายได้ที่ทำให้วงอยู่ได้ด้วย ใครมีปัญหาอะไรกัน เราก็ต้องช่วยกัน มันต้องมีใจให้กันด้วย
พี่อี๊ด : ต้องคิดให้เป็นกรอบใหญ่ ต้องคิดว่า ทำอย่างนี้แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป อย่าอยู่ไปวันๆ คิดถึงอนาคตด้วย
พี่จร : เออ สุขภาพด้วย นักดนตรีส่วนใหญ่ไม่ค่อยดูแลสุขภาพกัน
พี่เตี้ย : นิดนึง เรื่องเล็กๆนะ อย่างมีนักดนตรีคนนึงสูบุหรี่บนเวที ต้องถามเลยว่าอยากเป็นนักดนตรีเกรดไหน ตรงนี้มันมีส่วนนะ อย่างนักดนตรีฟิลิปินส์นะ ทำไมมันได้ค่าตัวมากกว่า นั้นคือความที่เขามีระเบียบไง ทุกอย่างเป๊ะหมดเลย ดูได้เลยเรื่องนี้ มันเล่นดนตรีมันไม่มีสูบบุหรี่เลยนะ มันมีระเบียบมาก มาตรงเวลาเป๊ะ
พี่จร : วงดนตรีวงอื่น เขาเล่นไปกินเหล้าไป แต่วงเรากินไวน์ (หัวเราะทั้งวง) ทุกอย่างมันเกี่ยวกับ สถานที่เท่านั้นเอง เพียงทำมันให้ ถูกที่ถูกเวลา ถูกกาละเทสะ

เพื่อนๆคนไหนที่สนใจจะไปดูพี่ๆ วง The Floret Band เล่นสด สามารถดูได้ทุกวันจันทร์ – เสาร์ ยกเว้นวันอาทิตย์ ที่ร้าน Mabeba หลังสวนลุม ซอย 5 ครับ สำหรับการพูดคุยครั้งนี้ Guitarthai.com ต้องขอขอบพระคุณ Mr.JOJO Manager และร้าน Mabeba สำหรับการเอื้อเฟื้อความสะดวกทุกอย่างมา ณ ที่นี้ด้วย


any comments, please e-mail   guitarthai@gmail.com (นายดู๋ดี๋)
© All rights reserved 1999 - 2015. All contents in this web site are the properties of www.guitarthai.com and Saratoon Suttaket