Main Menu
 Home หน้าแรก
 login / สมาชิก
 BuyerBook
 รายการ TV
  คอร์ด / เนื้อเพลง
  วีดีโอ คลิป
  Webboard
  Classifieds
  ข่าวสารดนตรี
  Review & ทดสอบ
  งานคอนเสิร์ต
  บทความดนตรี
  Cools Links
  Artist Gear
 
  About Us

33369


 Interview :     อ.ตุ้ม วีระ โชติวิเชียร    3/11/2006    



GT :
ตอนนี้พี่ทำอะไรอยู่บ้างครับ ?
พี่ตุ้ม : ปัจจุบันที่ทำอยู่ก็มีงานของบริษัท RS โปรโมชั่นในสังกัด Real & Sure ทำอยู่กับเพื่อนคือ คุณโป่ง หิน เหล็ก ไฟ ครับ และ มีงานที่ทำอยู่กับกีตาร์ Angelo เป็นงานเกี่ยวกับดูแลผลิตภัณฑ์ แล้วก็มีกิจกรรมที่ทำกับ Guitarthai.com นะครับ

GT : ทุกวันนี้พี่ยังซ้อมกีต้าร์อยู่ไหมครับ
พี่ตุ้ม : จริงๆ ผมก็เพิ่งจะกลับมาซ้อมครับ ก็เลิกเล่นไปประมาณซัก 2 ปี เลิกเล่นไปเลย มาทำงานอยู่กับคุณโป่ง แต่ส่วนใหญ่ก็มีหน้าที่เข้าไปดูแลศิลปิน ก็มาดูเขาเล่น ดูทิศทางการเล่น ถ้าเล่นไม่ได้ก็มีมือปืนมา แต่ก็เป็นคนข้างนอก หลังจากสองปีก็กลับมาซ้อมใหม่อีกครั้งครับ ผมเป็นนักกีตาร์และยังอยากทำอะไรกับงานกีตาร์อยู่อีกหลายๆโครงการ

GT : มีมุมมองของการเล่นที่เปลี่ยนไปบ้างไหมครับจากแต่ก่อนเราเล่นแบบหนึ่ง แล้วปัจจุบันมีการคิดอย่างไร หรือมีไอเดียการเล่นใหม่ๆ
พี่ตุ้ม : ผมว่านะ คนเล่นกีต้าร์เองเนี่ยะ “ถ้ายิ่งเล่นเรื่อยๆ ก็จะพบอะไรใหม่ๆขึ้นเรื่อยๆ” แล้วก็การเล่นกีต้าร์มันก็เหมือนกับการได้ค้นหา การฝึกฝน การแกะเพลงมันก็ทำให้เราได้อะไรเพิ่มเติมขึ้นมาโดยเฉพาะทางเล่นที่ไม่จำเจและเรื่องสำเนียงเสียงต่างๆของเพื่อนๆนักกีตาร์นักดนตรีเก่งๆ อยู่ที่ว่าถ้าเราแกะ และนำไปใช้ นำมาคิดนำมาวิเคราะห์ เพราะฉะนั้นในแต่ละวันการเล่นกีต้าร์อย่างต่อเนื่อง แน่นอนต้องมีมุมมองใหม่ๆเกิดขึ้นเรื่อยๆ

GT : มีการซ้อมอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่าครับ
พี่ตุ้ม : ซ้อมเป็นพิเศษ อืม.. พักนี้ก็น่าจะเป็นการหันมาเล่นกีต้าร์โปร่งมากขึ้น เพราะจะเล่นกีต้าร์ไฟ้า ซะส่วนใหญ่ กีต้าร์โปร่งเนี่ยะมาเล่นเอาช่วงหลัง เพราะมีงานที่ต้องทำเกี่ยวกับกีต้าร์โปร่ง ก็มารู้สึกว่า ทำไมเราไม่ฝึกกีต้าร์โปร่งมาตั้งนานแล้ว มันช่วยให้เรามีกำลังนิ้วที่ดีขึ้นจริงๆ พอเราได้กำลังมันก็จะทำให้เราเกิดความคล่องตัว และนี่คือประโยชน์ของการฝึกกีต้าร์โปร่งด้วยนะครับ

GT : มีวิธีการฝึกกีตาร์โปร่งยังไงครับ
พี่ตุ้ม : ก็ไม่ค่อยแตกต่างจากที่จับกีตาร์ไฟฟ้าเท่าไรเพียงแต่กีตาร์โปร่งเราอาศัยได้ออกแรงมากขึ้นและก็ฝึกน้ำหนักการตีคอร์ต และพอมาเล่นกีตาร์ไฟฟ้าก็มีแรงพอที่จะทำงานหรือเล่นต่อเนื่องได้นานแบบแรงยังดีอย่างแนวบลูส์ของสตีวี่ เรย์ วอน ต้องมู้ดดี น้ำหนักเบาดังต้องควบคุมให้ได้ดี ซึ่งเหมือนนักกีฬาต้องออกกำลังอยู่เรื่อยๆ

GT : พี่มีสไตล์เพลงหรือความชอบใหม่ๆเข้ามาประยุกต์ใช้ในงานปัจจุบันบ้างไหมครับ
พี่ตุ้ม : หลักๆของผมจริงๆก็เป็นร็อกนะครับ ในสไตล์ที่ตัวเองชอบตั้งแต่ดั้งเดิมมา คงไม่มีอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก ก็ยังอยู่ในร็อกอยู่ครับ แต่บางครั้งก็ได้มาจากการฟังเพลงโดยไม่รู้ตัว

GT : หลังจากที่พี่เคยออกอัลบั้มกับวงอย่าง มิติ หรือ Human Rock แล้วพี่ก็หายไปจากวงการเลย ปัจจุบันพี่มีโครงการจะออกอัลบั้มอีกไหมครับ
พี่ตุ้ม :คิดอยู่เรื่อยๆเป็นระยะๆครับคิดถึงช่วงเวลาที่ได้เล่นบนเวทีคือผมเป็นคนชอบเล่นแสดงอย่างทัวร์คอนเสิตร์เนี่ยเป็นอะไรที่มันส์มากๆเลยมีคนดูมากๆและได้เล่นกับเพื่อนที่ชอบกันรักกันยิ่งมีความสุข แต่ก็อย่างว่าครับการจะออกงานอัมบั้มในปัจจุบันก็ต้องต่อสู้กับหลายๆเรื่องนะ แต่เรื่องที่หน้าเป็นห่วงมากก็คือMP3 เรื่องนี้ทำให้นักดนตรีอย่างเราต้องถอยทุกครั้งมันก็มีท้อนะ แต่ถ้าพูดถึงคนร๊อคเนี่ยผมว่าเรื่องไฟเรื่องความสนุกที่ได้เล่นเนี่ยไม่เคยถูกกันด้วยอายุหรือเวลาพลังตรงนี้มันก็แปลกดีครับยังคงเหมือนตอนช่วงรุ่นๆเลยละครับ

GT : ถ้าได้ออกอัลบั้ม เราจะได้เห็นพี่เล่นเป็นแบบกีต้าร์ฮีโร่ หรือเพลงบรรเลงอย่างเดียวเลยหรือไม่ครับ
พี่ตุ้ม : ตอนนี้บอกตรงๆเลยครับ เล่นกีต้าร์อย่างเดียวก็มีความสุขดีแล้ว (หัวเราะ) ตอนนี้ก็มีเพลงที่ทำไว้อยู่พอสมควรเป็นแนวที่ผมเน้นเรื่องซาวด์กีตาร์หลายๆรูปแบบซึ่งตรงนี้ก็จะได้ยินทั้งแนวทางเพลงของที่ผมชอบและได้เก็บสะสมประสบการณ์มาเรื่อยๆคงเป็นปีหน้าก็จะทำให้แฟนๆที่คิดถึงได้ฟังครับอาจจะเป็นงานแบบโซโลผสมกับเพลงร้องที่มีเพื่อนหลายๆคนที่ชอบๆกันมาช่วย เอาแบบสุดๆไปเลย

GT : แล้วพี่ยังแกะเพลงเยอะอยู่หรือเปล่าครับ
พี่ตุ้ม : อืม.. ค่อนข้างเยอะครับช่วงนี้เพราะได้เริ่มงานกับAngelo Guitar Method แล้วซึ่งเป็นบริษัทลูกของทางโรงงานกีตาร์Angelo มีงานที่ค้างที่ทางเมืองนอกได้เรียกร้องมามากเลยเช่น งานเพลงสอนทั้งเพลงที่ใช้ชื่อว่า See and Learn to play Actual Songs ที่สอนเพลงของสตีฟ วาย แวน ฮาเลน สตีวี่ เร วอน และ ไมเคิล เชงเกอร์ ส่วนงานที่ได้เริ่มแล้วก็มีของบางคนเพิ่มอย่างแวนฮาเลนเนี่ยมีคนคอยอยู่มากและยังมีนักกีตาร์ฮีโร่ อย่าง แซค วาย อะไรทำนองนี้ที่มา และยังมีงานที่อยากทำให้กับเมืองไทยในแนวเพลงตลาดคลาสสิคร๊อค อีกมากเลยครับ คือเรียกว่าแกะกันหูดับตับไหม้เลยตอนนี้ (หัวเราะ)

GT : แล้วพี่มีหลักในการแกะเพลงอย่างไรครับ
พี่ตุ้ม : ก็ทั่วๆไป คล้ายๆกันครับ คนเล่นกีต้าร์ ผมคิดว่าต้องพยายามฟังให้มากด้วย ถ้าพูดถึงส่วนของโซโล่นะครับ เหมือนต้องจำทำนองได้และท่องได้ด้วยปากแล้ว เหมือนกับเพลงที่เราเล่นได้แล้ว บางทีเราไม่รู้เลยว่า โห !! โซโล่ยาวมาก พอเรามาท่องด้วยปากเราท่องได้แล้ว มันก็เกิดจากการฟังมาก และการแกะเพลงที่ดีก็คือการฟังให้ละเอียดมีสมาธิกับการแกะให้มาก และรู้ที่มาที่ไปก็ต้องรู้ทฤษฎีนิดนึง แล้วเราจะแกะโซโล่ได้ถูกต้อง สเกล ทิศทาง ,โหมด คอร์ดอะไรอย่างเนี่ยะเราก็ต้องรู้ด้วย รู้ที่มาว่ามันมาอย่างไร โน็ตตัวนี้มันลงได้ไหม หรือว่ามันออกไปนอกโลกแล้ว (หัวเราะ) แล้วก็การแกะเพลงจากอุปกรณ์ ก็ช่วยได้เยอะในสมัยนี้ ผมก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้อุปกรณ์พวกนี้ช่วยในบางครั้ง ก็คือการลดสปีด เช่นใน window เองก็มี window media player บางทีลดได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้เพื่อนๆที่เล่นคอมก็อาจจะยังไม่รู้ ตรงนี้ก็ช่วยได้เยอะทีเดียว

GT : ในเพลงแต่ละสไตล์พี่มีเทคนิคเฉพาะในการแกะหรือการสังเกตุพิเศษยังไงบ้างครับ
พี่ตุ้ม : มันก็ควรจะมีครับ ถ้าพูดถึงสไตล์ที่แตกต่างกันออกไป การเล่น วิธีการ ทางของมันก็เฉพาะตัวไป ของผมก็อย่างที่บอกครับ จะไม่ค่อยทำอะไรที่ฉีกออกไปจากร็อกมากนัก ก็จะอยู่แถวนี้ แต่ถ้าเกิดจะประหลาดไปเลยหรือเป็นแจ็สก็คงไม่ถนัดครับ ตรงนี้ก็ยังไม่มีอะไรพิเศษเท่าไหร่ คือเราฟังเพลงมากตั้งแต่สมัยที่เราฝึกมาตั้งแต่เด็กๆ เนี่ยะ อันนี้เป็นส่วนนึงที่เป็นผลพลอยได้ที่ดี ผมเชื่อว่าถ้าเพื่อนๆนักกีต้าร์ เล่นกีต้าร์ไปนานๆก็คงจะคล้ายๆกัน การแกะเพลงมากเนี่ยะวันนึงผ่านไปเรามาแกะเพลงอีก เราก็จะได้ยินเสียงเราจะรู้ทาง อ๋อ !! ตรงนี้นะมันเล่นอย่างนี้นะ พื้นฐานเรารู้เแล้วว่าเสียงโน็ตไปสูงหรือไปต่ำ วิธีการเล่นเป็นสไลด์ไหมหรือว่าดันสาย เราจะมีความเข้าใจในเพลงของมัน

GT : อย่างการแกะเพลงที่ผ่านๆมาของพี่ เจอกับเพลงยากๆ อย่าง For The Love Of God มันต้องอดทนมากในการแกะ ตรงนี้พี่มีอะไรอยากแนะนำกับน้องเล่นกีต้าร์ทั้งหลายยังไงครับ
พี่ตุ้ม : มันมีจุดหมายอยู่สองแบบ คือถ้าเราอยากจะเล่นให้เหมือนเราก็ต้องอดทน แกะเพลงให้ละเอียดแล้วก็ต้องฟังมากๆ แต่ถ้าเราคิดว่ามันไม่จำเป็นต้องเหมือนมากนัก ตรงนั้นก็คิดว่าไม่ต้องอดทนมากนัก รู้พื้นฐานทางทฤษฎีหรือสเกลบ้างอย่างที่บอกก็นำมาใช้ ซึ่งส่วนใหญ่เพื่อนๆมือกีต้าร์ก็คงมีความเข้าใจจุดนี้กันดีอยู่แล้วครับ การที่เล่นเหมือนไปเลยก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี บางทีก็ลำบากเหมือนกัน ผมแกะเพลงก็ยอมรับว่ามันยากจริงๆ บางครั้งสิ่งที่สำคัญคือเมโลดีพวกนี้ควรเก็บไว้ก็ต้องเหมือน คือเสียงที่เราได้ยินชัดๆตรงนี้ แต่ตรงไหนที่เป็นฟิลก็ว่ากันไปแต่ผมคิดว่าการแกะเพลงอย่างละเอียดจะทำให้เราได้อะไรมากมายแบบที่บางครั้งก็อธิบายไม่ถูก มันเป็นเรื่องของสำเนียงด้วย เรื่องความสั้นยาว ของเสียงตัวโน๊ตของนักกีตาร์เก่งๆนักกีตาร์ฮีโร่แต่ละคนก็ไม่ธรรมดาเลยเขามีทางที่น่าสนใจซึ่งแต่ละคนก็ได้มาจากการฟังการแกะเพลงจากนักกีตาร์รุ่นก่อนๆหน้านี้ของเขาเอง อย่างถ้าเราฟังและแกะสตีวี่ เรย์ วอน เราก็จะได้ส่วนผสมที่เหมาะสมของทางบลูส์จากนักกีตาร์ที่สตีวี่ได้อิทธิพลมาอีกมากมายหลายคนโดยที่เราแกะและเรียนรู้สำเนียงเราก็ได้ด้วยอย่างไม่รู้ตัว ฟังสตีฟ วายก็จะได้ยินทางเล่นกีตาร์ร๊อคที่มีเทคนิคสนุกๆมาผสมผสานอยู่เขาก็แฝงลูกทางโซโล่ของนักกีตาร์ที่เขาชอบอยู่เยอะ เป็นต้นครับ ผมแนะนำว่าฟังและแกะเพลงจากนักกีตาร์เก่งๆแล้วฝึกเล่นตามแผ่นไปบ่อยๆจะช่วยเรื่องความแม่นยำของจังหวะได้ดีและจะได้อะไรๆแบบที่ไม่ต้องไปหาอ่านมากๆเลยเพราะผมก็ฝึกมาอย่างนั้นแต่ถ้าไม่ไหวจริงๆแผ่นดีวีดีSee and Learn To Play Actual Songsที่ผมทำก็เป็นสิ่งที่ช่วยได้เยอะ คือดูไปและสังเกตจากการเคลื่อนไหวของทางนิ้วในขณะเดียวกันก็ตั้งใจฟังแล้วก็ลองเล่นดูด้วยตัวเองนี่สำคัญมากต้องลองผิดลองถูกแล้วเราจะรู้ทางหนีทีไล่ครับ ทำบ่อยๆผมมั่นใจว่าคนอยากฝึกอยากเรียนก็จะเล่นได้เร็ว มันเหมือนเรียนภาษานะ ถ้าอยากฝึกพูดภาษาตปศ ก็ต้องหูฟังดูปากและที่สำคัญเราต้องขยันฝึกพูดบ่อยๆเท่าที่เราจะมีเวลา ครูที่ดีก็มาจากการได้ฝึกจากเพลงที่ดีต่างๆนี่ละครับและก็มาจากการได้ฝึกจากการซ่อมวงบ่อยๆด้วยนะ พอเรารู้รากฐานที่ดีแล้วมีทางการเล่นที่สะสมพอสมควรทางการเล่นที่เราอยากลองใหม่ก็จะออกมาเองจากนิสัยที่ชอบหรือไม่ชอบมันเป็นไปอย่างนั้นเลยนะ ผมได้อะไรเยอะจากอาจารย์ใหญ่ของผมอย่างจิมมี่ เฮนดิก ไมเคิลเชงเกอร์ แวนฮาเลน เจฟ เบค จิมมี่ เพจน์ และอีกหลายๆคน หรือแม้แต่เพลงป๊อปเพาะๆทั่วไปก็ดีครับฝึกๆเล่นบ่อยๆ อย่าท้อเท่านั้นแหละเดี๋ยวมันก็มีทางเอง

GT : พี่มีความคิดเห็นยังไงบ้างครับ ในบ้างครั้งที่มือกีต้าร์บางคนที่เล่นหัวเพลงและท้ายเพลงเหมือน แต่ว่าตรงกลางเป็นการเล่นแบบอิมโพรไวส์
พี่ตุ้ม : ผมว่าการเล่นทุกวันเนี่ยะครับ ยกตัวอย่างถ้าเราต้องเล่นเหมือนๆทุกวันมันก็ต้องเกิดการเบื่อบ้างแน่นอน เพราะฉะนั้นการที่เราได้ก้าวออกไปจากตรงนี้ไปอีกที่นึงบ้าง ให้เราทดลองเล่นอย่างนี้ดู มันก็เป็นเรื่องที่สนุกดีครับ ผมเองก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน เวลาที่ผมจะไปเล่น ไปเวิร์คช็อป ไปแจมอะไรอย่างเนี่ยะ ก็จะทิ้งไอ้ตรงความที่เรียกว่า ”เหมือน” ไปบ้าง นอกจากคนเขาจะเรียกหา ตรงนั้นก็คือเป็นการที่คนบางคนเขาเรียกหาความเป็น original

GT : คล้ายกับว่าอย่ายึดติดตรงจุดนี้มากนัก
พี่ตุ้ม : มันเป็นเรื่องที่ฟรี ไม่มีอะไรตายตัวมากนัก คนเล่นถ้าอยากทำยังไงก็ตามสบายครับ

GT : พี่คิดว่าเด็กที่จะเข้ามาเล่นตรงจุดนี้ จำเป็นไหมที่ต้องแกะเพลงเยอะๆ เพราะสมัยนี้มันมีโรงเรียนดนตรีหรือมหาลัยที่เกี่ยวกับดนตรีเยอะมาก เขาก็จะสอนทฤษฎี แล้วก็จะให้ไปอิมโพรไวส์เพลงนั้นๆมา แล้วบางคนก็จะไม่เคยแกะเพลงด้วยซ้ำ ตรงนี้บางคนก็จะรู้สึกเสียเวลาที่ไปแกะเพลง ก็จะมาเล่นเลย ตรงจุดนี้พี่มีมุมมองยังไงครับ
พี่ตุ้ม : ผมคิดว่ามันจะทำให้เกิดข้อจำกัดมาก เหมือนกับการที่เราปิดตัวเองอยู่ในห้องแคบๆ ได้ยินแต่ตัวเองเล่นและเราก็ไม่รู้ซะทีว่าข้างนอก เกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วพอวันนึงที่เราเปิดออกไปฟังเราจะรู้ว่า โห!! มันมีอย่างนี้ด้วย เหรออันนี้มันเป็นเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่ง การแกะเพลงทำให้เรารู้จักกับสไตล์ที่ไม่รู้จัก รู้จักกับนิสัยของคนที่เล่นคนนั้นคนนี้ ว่าเขเป็นคนโอนโยนนะ คนนี้เล่นกีต้าร์ขยี้สายดุดันแรงเยอะ นิสัยโหดหรือเปล่า การเล่นกีตาร์ เราสามารถมีจินตนาการร่วมไปกับมันได้ บางทีเราเล่นเองเนี่ยะท่อนที่เราโซโล่ออกมาหวานน้ำตาแทบไหล เรารู้สึกได้เราอินกับมัน แล้วเราสามารถเข้าใจและแต่งน้ำหนักลงไปได้ นั้นคือเราเข้าใจมู้ด หรือท่อนที่ต้องรุนแรง นั้นคือมันจะเกิดจากการที่แกะเพลง การแกะเพลงที่ว่านี้มันมากกว่าการฟังเฉยๆ แต่มันจะซึมเขาไปในจิตเราเลยนะมันอยู่ไปตลอดเลยถ้าลืมกลับมาถ้วนหน่อยมันก็กลับมาเร็วมาก

GT : การแกะเพลงมากๆ นั้นหมายถึงการช่วยในการประยุกต์นำไปใช้กับงานแต่งหรืออัดเพลงได้อย่างสบายด้วย
พี่ตุ้ม : ใช่ครับ เออ!! เหมือนกับเราได้สะสมมันเข้ามาไว้ เราได้ยิน เราคุ้นเคย บางครั้งคนก็อาจจะนึกว่าไปก็อปปี้มาหรือเปล่า การผ่านหูเนี่ยะ มันเก็บเข้าไปนะ มันมีเมโลดี ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ที่ดี แต่ขณะเดียวกัน เราก็ควรที่จะระวังด้วย เช่นตรวจสอบด้วยว่าพอเอามาใช้ในงานเราแล้วเนี่ยะ ทั้งกระบินั้นมันเป็นของคนอื่นหรือเปล่า พวกนี้ก็ต้องระวังบางทีเราติดมาแบบไม่รู้ตัวเลย ก็ต้องระวัง ช่วยๆกันฟังหลายคนอย่างผมก็จะมีเพื่อนๆช่วยกันฟังเพลง อย่างเช่นเพลงนี้มีคนบอกว่า มันเหมือน TOTO นะ เราก็ฟัง เออ !! ใช่ เรา ก็ต้องเปลี่ยน อะไรอย่างนี้ครับ

GT : พอเจอปัญหาอย่างนี้ แล้วต้องมาแก้ใหม่ เคยเกิดอาการตันหรือยังติดกับเสียงเดิมอยู่บ้างไหมครับ แล้วงานต้องเร่งด่วน
พี่ตุ้ม : ผมว่ามันมีทางออกของมันได้เรื่อยๆนะ เรื่องพวกนี้ สิ่งที่จะตันก็คือถ้าเราทำอะไรที่มันยากเกินตัวของเรานัก เราทำไม่ได้ดีแน่นอน อย่างของผมเนี่ยะ หลักการง่ายๆของผม ถ้าให้ใส่โซโล่ ผมบอกเลยว่าผมใส่ยากๆไม่ได้ แต่ผมก็จะเล่นเท่าที่ผมสามารถทำได้ สมมติว่ามันมี 100 เปอร์เซ็นต์ 90 เปอร์เซ็นต์เต็มที่ แต่คุณพยายามปั่นให้ได้ถึง 98 เปอร์เซ็นต์ ผมว่ามันอาจออกมาไม่ดีนัก เหลือๆไว้บ้างไม่ต้องสุดตัวเท่าไหร่ คิดให้มันมีบรรยากาศร่วมไปกับเพลง การใส่โซโล่หรือการใส่ส่วนของกีต้าร์พวกนี้ เรื่องดนตรีต้องมีการจอยกันกันเครื่องดนตรีชิ้นอื่นด้วย ไม่ใช่พอท่อนโซโล่ก็ใส่หมด ไม่มีสเปซไม่มีอะไรเลย มันต้องมีช่องว่างด้วย บางครั้งส่วนที่ดีที่สุดของดนตรีอาจจะเป็นส่วนที่เงียบก็ได้

GT : ขอย้อนกลับมาตรงจุดเริ่มต้นนิดนึงครับ จากที่พี่เป็นนักเล่นทั่วๆไป พี่ก้าวเข้ามาสู่การเป็นมือกีต้าร์ห้องอัดได้อย่างไรครับ
พี่ตุ้ม : โอ้ !! ผมเป็นคนที่มีโอกาสที่เพื่อนฝูง พี่ๆ เพื่อนๆ ชักนำเข้ามา ตั้งแต่เริ่มต้นมาถือว่าเป็นคนที่มีจังหวะที่ดีพอสมควรครับ เออ เพื่อนช่วย พี่ชวน อะไรต่ออะไรไต่ขึ้นมา รู้จักคนไปเรื่อยๆ แล้วก็ดึงๆกันไป ทั้งอาจจะโชคดีที่ยุคนั้นเนี่ยะ คนเล่นกีต้าร์อาจจะไม่เยอะมากนัก ก็มีผมเนี่ยะหลุดๆเข้าไปแล้วเขาเห็น เขาก็เรียกใช้ เรียกมันมาเป็นมือปืนรับจ้างอัดงานกีต้าร์คนนี้บ้าง คนนั้นบ้าง ก็เริ่มรู้กันแล้ว แต่ก็มีอยู่พักนึงที่เราเบื่อและก็หยุดไป ก็หลังจากนั้นก็จะเห็นเด็กรุ่นใหม่ๆเกิดขึ้นมา และก็จะเกิดเห็นการตัดราคาเกิดขึ้น (หัวเราะ) เหมือนกันกับสายงานอาชีพกลางคืนเนี่ยะ การตัดราคามีเยอะ บางทีตีคอร์ดเป็นสี่คอร์ดก็ออกเล่นแล้ว

GT : ขอเล่นฟรี ยังมีเลยครับ
พี่ตุ้ม : (หัวเราะ) น้องๆ บางทีก็โทรมาบ่นว่า เมื่อก่อนผมได้ เท่านี้ เท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้วงนี้สามร้อยก็เล่นแล้ว ก็โดนตัดราคา ก็ประมาณนั้นครับ สิ่งที่เรามองเห็นมันก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่ว่า “มาตรฐาน มันอยู่ตรงไหน” ตรงนี้ก็ต้องยอมรับตัวเอง ว่าตัวเองทำงานได้ถึงระดับไหนแล้ว เราขึ้นไปยืนอยู่ตรงจุดที่ว่าเราหากินได้แล้วหรือยัง หรือว่ายัง ก็ต้องฝึกอีกหน่อยน่า แล้วค่อยไปดีกว่า

GT : เรื่องพวกนี้มีผลต่อการพัฒนาวงการดนตรีอย่างมหาศาล
พี่ตุ้ม : ครับ !! ใช่ครับ !! ผมคิดว่า เอ่อ.. เดี๋ยวพูดไปก็จะไปถึงระบบใหญ่ (หัวเราะ) ก็คือเดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างนี้ กลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้สูตรสำเร็จมันคลาดเคลื่อน มัน.. มันขยับของมันออกไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าคนเก่งแล้วจะต้องขายดี มันก็เลยกลายเป็นนิสัยความเคยชิน แบบแค่นี้พอแล้ว แค่นี้ก็ได้แล้ว

GT : จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ปัญหาหลักๆที่พี่เจอมาตลอดมีอะไรบ้างครับ
พี่ตุ้ม : ปัญหาหลักๆ ที่เจอ อืม.. อัดแล้วยังไม่ได้ตังค์มั้งครับ (หัวเราะ) ผมว่าปัญหานี้มันเป็นปัญหาที่ยาวนาน ปัจจุบันนี้ต้องยังมีอยู่แน่นอน (หัวเราะ) คือ จริงๆอย่างนี้ครับ ต้องทำความเข้าใจ มันมีอยู่หลายอย่าง ขั้นตอนในการเตรียมงาน การเตรียมตัว เอ่อ.. บางครั้งเราเตรียมตัวไปเนี่ยะ เอาตัวผมเป็นตัวอย่างแล้วกัน มีการแจกเทปมา เอามาฟังนะครับ ท่อนโซโล่ถูกเว้นไว้ ผมก็เตรียมท่อนโซโล่ไปซัก 3-4 แบบ อะไรอย่างนี้ ไปถึงโปรดิวเซอร์บอกว่า ใช้ไม่ได้เลย ไม่โดนใจอยากให้เป็นอย่างนี้หน่อย บางทีมันอึดอัด คนทำงาน บางครั้งไปถึงตรงนั้นมันก็เหนื่อย บางทีมันเครียดจนแบบไม่ไหวแล้ว ไอ้ที่เตรียมมาก็ใช้ไม่ได้ แล้วตกลงอยากได้แบบไหน ก็ไม่มีการสื่อสารที่ชัดเจนเพียงพอ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญนะครับ และก็เป็นรายละเอียดปลีกย่อยอย่างที่พูดเล่นๆ ว่ายังไม่ได้สตางค์ แต่ถ้ากับผมถ้าตังค์ยังไม่ออก ผมก็ต้องบอกนักดนตรีก่อน ก็จะไม่มีการใช้วิธีแบบว่าเรียกนักดนตรีมาทำงาน เสร็จงานแล้วค่อยมาคุยกัน ว่ายังไม่ได้นะวันนี้ ก็จะประมาณนี้ แต่ผมไม่เคยเจอนะ ชีวิตผมไม่เจอ

GT : ย้อนไปตอนสมัยก่อนครับ ผมเคยได้ยินลูกโซโล่ของพี่ เช่นจากวงเพื่อน คือสมัยนั้นซาวด์กีต้าร์ที่ออกมามันไม่เหมือนกับวงอื่นๆ มันออกมาหรูหรามากเลย ตรงจุดนั้น พี่มีวิธีคิดออกมาได้อย่างไร แล้วทำไมโปรดิวเซอร์ถึงได้ยอมรับ
พี่ตุ้ม : จริงๆแล้วง่ายมากเลย ตอนนั้นผมก็ถือกีต้าร์มา ผมเป็นคนที่ชอบร็อก แล้วผมก็มาเล่นกับวงป็อป สำเนียงเป็นร็อกมันก็เลยออกมาเป็นอย่างนั้น เหมือนกันเลยคือ โปรดิวเซอร์เขาชอบ เขาทำเพลงป็อปก็จริงแต่เขาก็ฟังเพลงร็อกด้วย มันก็เลยเกิดการผสมผสานขึ้น ระหว่างกีต้าร์ที่เป็นอย่างเรา ที่เราชอบยุค 70 ก็จะกลายเป็นว่าในเรื่องของทางกีต้าร์ก็จะเป็นอย่างนั้น แต่จุดด้อยของยุคนั้นก็ต้องยอมรับอยู่อย่างคือระบบเสียง ที่ผมไม่ได้มีความละเอียด ความเข้าใจอะไรมากมายอะไรนัก ก็ยังเป็นเด็กๆอยู่ อัดกันแบบว่า เสียงดัง ตังค์มา (หัวเราะ) ก็คือ เอ้า !! เสียบแจ็ค เสียงดัง ก็อย่างที่เราได้ยิน ไม่เหมือนอย่างเสียงสมัยนี้ที่แบบผ่านอะไรต่ออะไรเยอะแยะ แต่ในเรื่องของแนวมันติดตัวมาตั้งแต่ก่อนมาเล่นวงเพื่อนอยู่แล้ว

GT : ก็คือพี่เป็นร็อกอยู่แล้ว แต่มีการใช้คอรัสหรือเอ็ฟเฟ็คมาลดความดุดันลง
พี่ตุ้ม : อะไรอย่างนั้นครับ สำคัญที่สุดมันคงเป็นเรื่องของทาง!! ทางเดินของเรา วิธีการเล่น แล้วที่นี้ก็เป็นเรื่องของซาวด์หรือเอ็ฟเฟ็คก็จะเป็นส่วนประกอบ

GT : ถามตลกๆนะครับพี่ ตอนนั้นที่พี่คิดไลด์กีต้าร์แบบนั้นขึ้นมา แล้วคนที่เขาจะต้องเอาไปเล่น เขาจะเล่นได้หรือครับ
พี่ตุ้ม : (หัวเราะ) ก็ .. ก็จริงๆแล้ว เราก็อยากจะคิดว่า เราอยากจะทำอะไรใหม่ๆขึ้น แต่สมัยนี้ไม่ยิ่งกว่าสมัยนั้นอีกเหรอ โห !! ทำอะไรออกมา เล่นออกมา ไม่เกรงใจกันเลย ก็..ผมก็เคยดูอยู่เหมือนกันครับที่เขาเอามาเล่น มันก็ดูแปลกๆดี แต่ก็เป็นเรื่องแบบว่า ถามเขานะว่ามันมีสีสรรหรือเปล่า อยากแกะไหม มือกีต้าร์เขาก็รู้สึกดีนะ ได้มีอย่างนี้มาให้แกะบ้าง มาให้เล่นบ้าง อะไรอย่างเนี๊ยะครับ แต่ก็ต้องประมาณนึงว่า “ยาก แต่ก็ไม่ทำให้ภาพรวมทั้งหมดมันเข้าใจยาก” ตรงนั้นสำคัญมาก

GT : พอพี่คิดไลด์กีต้าร์อย่างนั้น พี่ต้องให้ทางวงร่วมฟังและตัดสินใจด้วยหรือเปล่าครับ ว่าชอบหรือไม่ชอบ หรือเป็นโปรดิวเซอร์และพี่ตัดสินใจ
พี่ตุ้ม : เท่าที่เคยเป็นมือปืนรับจ้างอัดเสียงในตอนนั้น จะเป็นโปรดิวเซอร์กับคนเล่นเท่านั้นเอง จะไม่ถึงระดับขั้นวง เพราะเขาจะมาไม่พร้อมกัน โปรดิวเซอร์จะเป็นคนตัดสินใจและดูแล บางทีก็จะช่วยออกความเห็น บางทีผมเจองานหนักๆแทบอยากร้องไห้เลยนะ หนักมาก บางทีมีไกด์ไลด์มาให้ผมดีดตามเลย ผมก็ถามว่า แล้วจ้างผมมาทำไม เอานิ้วผมแค่นั้นเลยเหรอ คือเขาอยากให้เป็นเมโลดีอย่างที่เขาคิดแล้วจะจ้างผมทำไม เป็นใครเล่นก็ได้ ก้รู้สึกว่ามันเป็นงานที่ไม่มีความสุข

GT : กับในช่วงชีวิตของการเล่นที่ผ่านมา ช่วงไหนที่พี่รู้สึกว่า ตอนนี้เราฮอตมาก เล่นแล้วมันส์มากๆ
พี่ตุ้ม : ไม่เคยครับ (หัวเราะ) ไม่เคยมีซักช่วงเลย แต่มันมีเรื่องจริงอย่างหนึ่งคือว่า “ถ้าซ้อมมากเนี่ยะ มันจะทำให้เรามีความมั่นใจ” แค่นั้นแหละครับ ผมว่าการฝึกจะทำให้เรามั่นใจ วันไหนเราเล่นแล้วเราไม่มั่นใจ บางทีแบบ.. อะไรเนี่ยะ มันหายไปไหนหมด ที่เราฝึกมา ทุกอย่างมันสอดคล้องกัน ฝึกมากๆทำให้มั่นใจ แล้วไปเล่นกับใครที่ไหนก็จะช่วยได้ แต่ถ้าเราห่างไปเลย ผมเคยนะ ต้องเดินขึ้นไปแจมกับเพื่อน ผมเลิกไปสองปีอะไรอย่างเนี่ยะ แล้วเสร็จเลย ขึ้นไปเล่นอะไรไม่ออกเลย เฮ้ย!! มันเป็นอีกเรื่องไปแล้ว

GT : พี่ชอบงานที่พี่อัดชุดไหนมากที่สุดครับ
พี่ตุ้ม : อืม.. ถ้าคิดว่าตัวเองมีงานอัดน้อยชุดนะครับ ถ้าจะตรงใจที่สุดก็คงเป็นงานของเราเอง ก็คง Human Rock ครับ

GT : แล้วกับงานแสดงสดพี่ชอบงานไหนครับ
พี่ตุ้ม : อืม.. จริงๆทุกครั้งที่ผมได้ขึ้นไปเล่น ผมรู้สึกสนุกและมีความสุขทุกครั้งนะ ทุกครั้งผมจะมีสมาธิกับงานมาก มันเต็มที่กับทุกงานครับ ขนลุกทุกที ที่ขึ้นไป ไม่ใช่ปวดท้องนะ (หัวเราะ) เพราะตื่นเต้นด้วย เหมือนตอนเนี๊ยะ ก็ตื่นเต้น เพราะผมไม่ได้โดนสัมภาษณ์มาหลายปีแล้ว (หัวเราะ) แต่ถ้าเอาซักงานนึงก็คงเป็นที่เล่นกับพี่ป้อมอัสนีวสันย์ครับเมื่อเกือบสิบกว่าปีที่แล้วที่อินดอร์หัวหมากครับคิดว่าคนหลายหมื่นแนะ สนุกดี

GT : อย่างเวลาที่พี่ต้องเล่นสด พี่เป็นคนปรับซาวด์เองหรือว่าตัวโปรดิวเซอร์ของงานนั้นๆเป็นคนกำหนดครับ
พี่ตุ้ม : อันนี้ดีครับ ชอบคำถามนี้เลย ผมดูแลตัวเองอยู่แล้ว ของเราก็จะรับผิดชอบกับตัวเรา ของคนอื่นก็ต่างคนดูแล เรียกว่าหน้าตู้ของใครของมัน ผมจะใช้เวลาสมัยก่อนในกานเช็คซาวด์นานมาก จนยันเลิกนะ คือเดี๋ยวปรับเดี๋ยวอะไร มันไม่พอใจ นั้นก็คือนิสัยที่ไม่ดีนะ มันจะกลายเป็นข้อพะวงเวลาเล่น มันทำให้การเล่นที่จะได้ดีก็ต้องลดลงไป แต่หลังๆนี่ไม่คิดอย่างนี้แล้ว มีแจ็คเส้นหนึ่งก็เล่นได้แล้ว แล้วก็ช่างมัน อย่าคิดมาก น้องๆบางทีเวลาเล่นเนี่ยะ อย่างไปซีเรียส บางทีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามันอยู่ที่สมาธิเรา เราต้องแบบมั่นใจในการเล่นของเรามากกว่าที่จะไปห่วงเรื่องอื่น อาจนอกเรื่องไปนิด แต่ก็อยากจะฝากให้มีความมั่นใจ ตรงนี้ “มือ” เล่นให้ดีที่สุดก่อน แล้วซาวด์มันจะออกมาดี บางครั้งไม่มีอะไรเลยก็ยังดีได้ กับเครื่องที่มาเป็นแบบ ตู้กับข้าวเลย เมื่อก่อนเละ ผมก็เคยเละเหมือนกัน ก็ปรับไปเล่นไป ไม่ชอบ นั่นแหละตลอดเวลา จนคนอื่นเขารำคาญ (หัวเราะ)

GT : อย่างพี่ไม่ได้เป็นคนเล่นดนตรีประจำหรือเล่นดนตรีกลางคืน ทีนี้บางครั้งมันก็จะมีอาการการเล่นที่ไม่คงที่อย่างแน่นอน แต่พอพี่ต้องไปเจองานแต่ละครั้งพี่มีการทำให้การเล่นคงที่ได้อย่างไรครับ
พี่ตุ้ม : มันก็คงจะเริ่มมาจากการที่ซ้อมคนเดียวบ่อยๆแกะเพลงด้วยเล่น แล้วก็ทดลองอะไรใหม่ๆกับตัวเอง กับแผ่นเสียงกับอะไรอย่างเนี้ยะ หาทิศทางใหม่ๆ แล้วก็จำ บางทีการไปเล่นก็เหมือนกับการที่เราได้สั่งสมวิธีการ แกะเพลงมากๆแล้วชอบแบบนี้ เอา lick นั้นนี้มา เออแล้วก็เอามาใช้กับทางคอร์ด มันก็เกิดการทดลอง ทั่วไปก็หนีไม่พ้น ทุกคนคงใช้วิธีนี้นะ การลักจำแล้วเอามาใช้ ดนตรีก็ตามๆกันมาอย่างนี้ครับ ที่สำคัญประสบการณ์ที่สะสมมาช่วยได้เยอะ

GT : แล้วกับกรณีที่พี่ต้องขึ้นเล่น แล้วพี่ห่างจากคนดูมาก นานๆ พี่มีวิธีอย่างไรที่ทำให้ตัวเองมีสมาธิ เพราะเราต้องตื่นเต้นกับมัน
พี่ตุ้ม : อันนี้มันยากเหมือนกันนะ ในการจะอธิบายเพราะว่า อย่างน้อยที่สุดที่เราไม่ได้ขึ้นไปเล่นมานาน งานเรามีออกหน้าเวทีบ้าง คือ..ที่มาที่ไปคือ ถ้าเราไปตื่นเต้นมามันก็จะแย่ ก็ต้องระงับความตื่นเต้นให้ได้ก่อน แต่มันก็ยากเพราะไม่ได้เล่นบ่อยๆ อย่างนั้นก็ต้องบอกตัวเองเลย พอขึ้นไป ..เรา มั่นใจที่สุด เฮ้ย !!เราดี เขาจะไม่ผิดหวังแน่ ที่มาดูเราเล่น

GT : ขึ้นอยู่กับทีมด้วย
พี่ตุ้ม : ครับ มีส่วนมาก เพราะเราต้องไปยืนข้างหลังกับ ใครอะไรอย่างนี้ หรือเราจะต้องขึ้นไปแจม มันแน่นอนตื่นเต้นทุกคนแหละครับ

GT : ยิ่งทีมที่เราไว้ใจก็ยิ่งช่วยลดตรงนี้
พี่ตุ้ม : ใช่ !! ยิ่งเป็นเพื่อนที่เราเล่นด้วยกันประจำ เล่นมานาน โอ้ย !! สบาย พอตอนนี้ล่ม เดี๋ยวมันก็เล่นดันขึ้นมา (หัวเราะ) อะไรอย่างนี้ครับ

GT : คำถามหนึ่งที่มีการเมลล์มาถามอยู่เรื่อยๆ คือหากมีคนอยากดูพี่เล่นสดๆ พวกเขาจะหาโอกาสดูพี่เล่นที่ไหนได้บ้างครับ
พี่ตุ้ม : ผมก็กำลังจะมีworkshopสนุกๆ หลายๆรูปแบบครับอย่าง โครงการณ์อบรมที่Angeloจัดให้ฟรีและงานmeetingกับguitarthai.com สามารถติดตามข่าวสารได้จากguitarthat.com ต่อไปครับ

GT : อุปกรณ์ที่ใช้ตอนนี้มีอะไรบ้างครับ
พี่ตุ้ม : หลักๆที่ใช้และเคยเห็นๆกันก็คือ กีต้าร์ Angelo สายก็เป็นJack Devol ทั้งกีต้าร์โปร่งและไฟฟ้า เอ็ฟเฟ็กก็ตามสะดวกครับ

GT : ขอให้พี่ช่วยพูดถึงกีตาร์Angeloที่พี่รับผิดชอบหน่อยครับ
พี่ตุ้ม : เป็นกีตาร์ที่ผมภูมิใจนะเพราะผมมีส่วนร่วมอยู่มากในการคัดสรรวัสดุต่างๆและคณะผู้จัดทำก็เป็นคนไทยด้วย เรามีระบบจัดการงานผลิตสายโรงงานที่ดีมีมาตราฐานกีตาร์ราคาถูกซึ่งมีโรงงานทั้งในประเทศ เกาหลีและที่อเมริกาด้วยแล้วแต่ว่าลูกค้าอยู่ในตลาดเกรดไหนราคาถูกก็ไปร่วมกับเมืองจีนซึ่งที่นั่นเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างคนไทยกับคนฝรั่งเศสส่วนใหญ่กีตาร์ถูกส่งไปขายที่ห้างใหญ่ทั่วอเมริกาเรียกว่าเดือนละเป็นหมื่นๆตัว ส่วนงานที่เกาหลีเป็นงานที่ผลิตชิ้นส่วนลำตัวและคอซึ่งเป็นโรงงานที่ลูกค้าหลายประเทศที่สั่งมักจะนำไปประกอบเองต่อโดยเราไม่รู้ยี่ห้อด้วยซ้ำก็มีญี่ปุ่น อังกฤษ และอเมริกาด้วย ส่วนโรงงานที่อเมริกาจะเล็กที่สุดเราก็เอาไว้เก็บไม้และทำตัวกับคอ และยังมีงานสีบ้างประกอบบ้างประมาณ300-500ชิ้นงานต่อเดือน ท่านประธานของเราเป็นคนที่เก่งเรื่องการหาไม้และการจัดการเรื่องบ่มเพื่อให้ได้ไม้เสียงดีซึ่งจำเป็นมากสำหรับธุรกิจนี้มันเหมือนสูตรลับในการต้องอบซี่โครงหมูให้อร่อยมั๊ง(หัวเราะ)ชักหิวละสิแสบท้องเลยตอนเนี่ย เรามีอำนาจในการต่อลองในการซื้ออุปกรณ์ต่างๆได้ราคาที่ถูกไม่แพง พอผมได้มีโอกาศร่วมสายการผลิตด้วยถึงรู้ว่าถ้าเรารู้วิธีการทำกีตาร์และจัดการหาไม้และอุปกรณ์ได้ดีได้ถูกจัดการงานบุคคลได้ลงตัวราคากีตาร์ก็ไม่แพงจนเป็นแสนหรือเกือบหรอกตรงนั้นฝรั่งเขามีค่าการตลาดที่แพงต่างหากค่าแรงที่แพงมากคือ มันต้องใช้ความรู้จากหลายๆเรื่องมาประกอบกันไม่มีหนังสือแนะนำนะ ที่สำคัญนะเราได้เจอทีมงานของลูกค้าตปศ ร่วมงานตลอดเวลา

GT : ถ้ามีคนสนใจอยากดูกีตาร์Angeloผลงานของพี่ตุ้มบางจะไปลองหรือดูได้ที่ไหนครับ
พี่ตุ้ม :ที่ ร้านกีตาร์Angelo Outlet สุขุมวิท 56 ครับ


GT : มีกีตาร์ให้เลือกกี่แบบครับ
พี่ตุ้ม : หลายๆทรงหลายแบบให้เลือกครับ ผมเชื่อว่าจะเป็นกีตาร์ที่ดีราคาถูกสามารถเก็บอยู่ไปกับตัวได้อย่างภาคภูมิใจครับ

GT : และพี่มีกีตาร์ทรงไหนที่ชอบเป็นพิเศษบาง อยากแนะนำ
พี่ตุ้ม : ผมว่ามันเป็นไปตามแต่ละสักษณะงานใช้นะ อย่างเช่นที่เห็นใน clip บนกีตาร์ไทย ถ้าอยากได้ซาวด์แบบงาน Zakk Wylde ผมก็เลือกทรงLP แต่ก็คงไม่แปลกหรอกถ้าใช้stratมาโซโล่ คงได้ซาวด์อีกแบบหนึ่งนะ ที่ชัดๆเคลียร์ๆ แต่อยากได้แบบร๊อกหวือหวาอย่างสตีฟ วาย ก็ต้องที่มีคันโยก ก็ต้องใช้กีตาร์ทรงคันโยกแบบ สตีฟวาย หรือคันโยกทรงอื่นๆ โดยรวมแล้วผมชอบอยู่ 3 ทรงครับ LP, Strat และ แบบทรงคันโยกแบบสตีฟวาย แต่ยังมีอีกทรงที่ไม่ค่อยเห็นทั่วไปก็คือแบบกีตาร์ของ ไบร์อัน เมร์แห่ง วงควีน แต่เนื้อเสียงได้แบบstratโปร่งๆอิ่มๆเต็มๆใสๆ มันอธิบายไม่ถูกนะ แต่เสียงเนี้ยผมชอบมากๆเลยเป็นกีตาร์ที่เราทำที่อเมริกาส่งยุโรปโดยเฉพาะ สุดยอดจริงๆ ตอนนี้เรามีกีตาร์ทรงLPหลายๆแบบที่มีโครงที่อิงแบบเก่าดั้งเดิมคือคอยาวไม่ถึงปิ้คอัพหน้าเลยให้ปลายเสียงยาวกังวานดีซึ่งหายากราคาถูกครับเอาไปกัดเปรียบเทียบกับกีตาร์เกือบแสนหรือเลยแสนบาทไปแล้วได้เลยและไม้ที่ใช้ทำก็อยู่ในระดับสูงมากๆครับเสียงดีจริงๆเลยอยากให้ลองดูครับ

GT : และโครงการที่กำลังจัดอบรมเป็นอย่างไงครับ
พี่ตุ้ม : โครงการณ์นี้เป็นแนวความคิดของกีตาร์แองเจลโลที่อยากมีส่วนได้ช่วยให้น้องๆเยาวชนไทยได้เล่นและรู้จักกีตาร์อย่างถูกต้องในหลายๆเรื่องครับซึ่งรายละเอียดก็จะอยู่ตามที่ประชาสัมพันธ์ ผมก็จะนำเอาประสบการณ์ที่มีมาถ่ายทอดให้ผู้สนใจร่วมอบรมได้ทำความเข้าใจ และที่สำคัญเป็นโครงการณ์ที่จะนำเสนอศาสตร์ศิลปะของการเล่นการทำเพลงของเหล่าบรรดานักกีตาร์ฮีโร่ที่ได้พิสูจน์แล้วว่าท่านเหล่านี้เป็นแนวทางรากฐานให้กับนักกีตาร์ที่ต้องการเรียนรู้ได้มุ่งสู่ความเป็นมืออาชีพได้อย่างแข็งแกร่งในแนวทางร๊อค ซึ่งเท่าที่ผมรู้อย่าง ไมเคิล เชงเกอร์ก็เป็นนักกีตาร์ผู้มีบุญคุณกับนักกีตาร์หลายๆคนในบ้านเรา และตัวผมด้วย ส่วน แวนฮาเลน สตีฟวาย จิมมี่เฮนดิก จิมมี่เพจน์ เจฟเบคและแนวบลูส์อย่างสตีวี่เรวอนก็ล้วนเป็นผู้น่าสนใจอย่างยิ่งและมีการนำเอาวิธีการไปเขียนและวางเป็นหลักสูตรเรียนในโรงเรี! ยนดนตรีชั้นนำในอเมริกา ญี่ปุ่นหรือทั่วยุโรป เท่าที่เห็นเนี่ยก็น่าที่จะพาให้น้องๆหรือผู้สนใจอบรมได้เข้าใจได้เป็นอย่างดีเลยละครับ แล้วยังมีเรื่องกีตาร์เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำให้ได้ซาวด์ดี ผมเชื่อว่าถ้าได้ฝึกได้ผ่านทำความเข้าใจแนวทางของนักกีตาร์ระดับชั้นครูเหล่านี้แล้ว พวกเราก็จะอยู่สายทางร๊อคได้อย่างดีและถ้าได้ช่วยๆกันนำความรู้ที่เรามีไปสู่คนรุ่นต่อไปก็ยิ่งจะเป็นประโยชน์ครับ

GT : ทีนี้เวลาผ่านไปก็มีเด็กรุ่นใหม่ๆก้าวเข้ามาเล่นกีต้าร์และอยู่ในวงการนี้รวมถึงสมาชิกที่เล่นใน Guitarthai ที่มากขึ้นตามไปด้วย ตรงนี้พี่มีอะไรอยากฝากถึงพวกเขาอย่างไรครับ
พี่ตุ้ม : ตรงจุดนี้ที่เป็นอยู่ผมว่าก็ดีนะ ก็รักกันดี คือเขาจะมีวิธีการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันได้ เขาจะมีการปกป้องคุ้มครอง สิ่งที่ไม่ดีก็จะถูกต่อต้านกันเอง เขามีการเรียนรู้ครับ ผมอยากให้ตรงนี้เหมือนว่า ให้เกาะกลุ่มกันไว้ จริงๆในเมืองไทยมันก็ไม่ได้มากมายอะไรนักคนเล่นกีต้าร์ ขอให้มันเกิดขึ้นมาเยอะๆเถอะครับ ฝึกกัน,เล่นกัน แล้วก็มีสังคมกัน แล้วต่อไปกิจกรรมต่างๆก็จะเกิดขึ้นมา แล้วน้องๆเพื่อนๆก็จะมีโอกาส โดยทั่วๆไปที่ผมมองตรงนั้นก็ดีอยู่แล้วครับ เพียงแต่ว่าอย่าปิดกั้นการให้โอกาสคนที่เขาเริ่มต้นเล่น หากช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยๆกัน ส่วนใหญ่ที่ผมประสบมาบ้างตั้งแต่เด็กๆ คือต่างคนต่างอยู่ เขามีดีเขาก็เงียบไว้แล้ว ตรงนี้ก็น่าจะพยามถ่ายทอดให้กัน คนที่รู้ก็ช่วยตอบให้คนที่ไม่รู้ แล้วมันจะกลายเป็นสังคมของเราเป็นครอบครัวเรา


any comments, please e-mail   guitarthai@gmail.com (นายดู๋ดี๋)
© All rights reserved 1999 - 2015. All contents in this web site are the properties of www.guitarthai.com and Saratoon Suttaket