Paizan มือกีต้าร์รุ่นใหม่ที่ทำงานทางดนตรีทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง มาพร้อมผลงานเพลงอัลบั้มใหม่ ในแนวทางการเล่นกีต้าร์สาย nylon ในแบบ Fusion pop ที่เป็นตัวของเขาเอง และด้วยประสบการณ์ทางดนตรีที่มากขึ้น ทำให้อัลบั้ม Tears Of Time นี้ มากไปด้วยเนื้อหาทางดนตรีแต่นำเสนอออกมาในรูปแบบที่เรียบง่ายตามแนวทางที่เขาชื่นชอบ อัลบั้ม Tears of Time นี้เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ผ่านมาของเขาตลอดระยะเวลา 2 ปี นับจากอัลบั้มเต็มชุดแรกในชื่อ Nameless Street และอัลบั้ม Refeel ซึ่งเป็นการนำเพลงเก่ามาเรียบเรียงใหม่ในรูปแบบของเขาเอง เรามาคุยกับเขากันดีกว่าครับ
 |
Album : Tears of the time
1. Saturday Morning (Download)
2. Tears of the time (Download)
3. Last Night
4. Hua-Hin
5. Hurry (Download)
6. Relation
7. 2 Old Mans (Download)
8. On the road
9. I feel guilty
10. White diary |
ช่วยเล่าประวัติการเล่นกีต้าร์ครับ
เริ่มเล่นกีต้าร์ตอนประมาณ ม. 4 ครับ เห็นเพื่อนเค้าเล่นกันเวลาพักเที่ยง ก็อยากเล่นบ้าง เพื่อนก็พาไปซื้อกีต้าร์ แล้วก็พาไปสมัครเรียนดนตรีที่โรงเรียนดนตรีแห่งหนึ่ง แต่ว่าเรียนได้สองครั้งก็ไม่เรียนอีกเลยครับ เพราะเค้าสอนแบบคลาสสิค ตั้งแต่เบสิค ทีละโน้ต แต่ตอนนั้นวัยรุ่นใจร้อนครับ อยากเล่นเพลงตลาดแบบที่เพื่อนกางหนังสือเพลงเล่นกัน เลยต้องให้เพื่อนคนเดิมสอนให้ เค้าก็สอนไปตามคอร์ดในหนังสือเพลง ผ่านไปปีนึง เล่นอะไรไม่ได้เลยครับ นอกจาก C Am Em และก็ G เล่นได้แบบมีบอดๆด้วย ไม่เคยเล่นได้เป็นเพลงเลย ตอนหลังก็มีเพื่อนอีกคนลองให้เล่นเบส ก็ลองเอามาจับๆดีดๆดู ก็รู้สึกว่าลองอันนี้ดีกว่า ไม่ต้องจับคอร์ด เลยต้องมาเริ่มดนตรีใหม่กับเบส เพราะไม่มีความรู้เรื่องดนตรีอะไรเลย ก็เลยเริ่มเล่นเบส ตั้งแต่นั้นมาจนเข้ามหาวิทยาลัย ก็เล่นเบสมาตลอดพยายามหาหนังสือ หาเพลงมาแกะ ถามคนเก่งๆ พยายามแจมกับเพื่อนๆ จนตั้งวงกับเพื่อนๆในคณะได้ ก็เล่นมันทุกที่ ทุกงานที่จะไปเล่นได้ กับวงจะเล่นเพลงไทยเพลงสากลทั่วไปแบบสนุกๆ แต่ส่วนตัวก็เริ่มที่จะสนใจแนวทางอื่น พวก Progressive หรือพวก Metal โดยเฉพาะ Funk, Disco, Soul ชอบมากเพราะเบสแนวนี้จะสนุก เนื่องจากพยายามศึกษาเพลงแนวต่างๆไปเลยรู้สึกว่าต้องศึกษาในเรื่อง Harmony ให้มาก ซึ่งในความคิดผมเบสมันเห็นภาพยากไปหน่อย เลยต้องใช้กีต้าร์ในการแกะ วิเคราะห์เรื่องเหล่านี้ เลยต้องกลับมาเล่นกีต้าร์ ควบกับเล่นเบส ตั้งแต่นั้นมา
มือกีต้าร์คนไหนเป็นแรงบัลดาลใจในการเล่นครับ
แรงบันดาลใจของผมนี่มีทั้งมือเบสและมือกีต้าร์ครับ ถ้าเป็นมือเบส จะเป็น Billy Sheehan, Stuart hamm, Jaco, Marcus miller, Victor wooten, Primus, พี่นอ เครสเซนโด, พี่ปาเดย์, พี่ก้อ Groove rider
ถ้าเป็นมือกีต้าร์ ก็ต้อง Al di miola คนนี้ชอบมากครับ Pat Metheny, Martin taylor, Earl klugh, Jimmy bruno, Staley Jordan, George benson, Wes Borland, อ.โปรด, พี่ป๊อป the sun
อย่างบางคนนี่ ผมเคยคลั่งขนาดแกะมันทุกเม็ด เล่นมันทุกอันเลย ฝึกทุกวันจนกว่าจะได้ เช่น Stuart hamm หรือ Billy Sheehan แต่โดยส่วนมากระยะหลังจะพยายามไม่แกะแบบแรงงานขนาดนั้นแล้ว พยายามวิเคราะห์ให้เข้าใจ และหยิบมาใช้มากกว่าครับ
มีวิธีหรือตารางในการฝึกอย่างไรบ้างครับ
ด้วยหน้าที่การงานโดยปกติ บางวันก็ไม่ได้ฝึกซ้อมน่ะครับ กลับบ้านก็หมดแรงแล้ว แต่โดยทั่วไปจะพยายามฝึกความแข็งแรงนิ้ว พวกคอร์ดต่างๆ พวกไล่สเกลอะไรนี่มีบ้างครับแต่ไม่มาก ส่วนมากจะพยายามสร้างความแม่นยำเกี่ยวกับเรื่องของ Rhythm หรือส่วนของโน๊ต เพราะรู้สึกว่าเป็นข้อเสียของเรา ในส่วนของพวก Melody หรือ Harmony ผมมักจะทำ Backing Track ขึ้นมาแล้วก็ Improvise ไปเรื่อยๆ บางทีก็ Improvise ไปบนเพลงคนอื่น ซึ่งก็เพลินดีครับ เล่นได้ทั้งคืน แต่จะพยายามบังคับตัวเองไม่ให้เล่นอะไรเดิมๆ หาอะไรใหม่ๆไปเรื่อยๆ วันละนิดละหน่อย พยายามแกะเพลงที่เราชอบหรือที่น่าสนใจให้ได้อย่างน้อยวันละเพลงครับ ปกติไม่ได้กำหนดว่าต้องฝึกหรือเล่นกีต้าร์วันกี่ชั่วโมง แต่จะพยายามให้ได้มากที่สุดอยู่แล้วครับ
ทำไม่ถึงหันมาเล่นกีต้าร์สายไนลอน ทั้งที่คนสวนใหญ่มักจะ เล่นกีต้าร์ไฟฟ้ากัน
แรกเริ่มมันคงเป็นเพราะว่าเรามีกีต้าร์สายไนลอนอยู่แล้ว เมื่อก่อนเวลาใช้แกะเพลงก็ใช้กีต้าร์สายไนลอนนี่แหละ ต่อมาก็หากีต้าร์ไฟฟ้ามาใช้ กีต้าร์โปร่งสายเหล็กก็เล่น ก็เล่นมาเรื่อยๆ แต่ว่าวันที่จะเลือกว่าเราจะไปทางไหนหรือ อะไรที่เป็นเราจริงๆ กลับพบว่าเราชอบเล่นสายไนลอน มากกว่ากีต้าร์ไฟฟ้า ทั้งๆที่ข้อจำกัดมันมีเยอะกว่าพอสมควร ชอบเสียง ชอบ Touching
ปัจจุบันเล่นดนตรีเป็นอาชีพหรือเปล่าครับ
ถ้าเป็นในลักษณะเล่นประจำหรือเล่นกลางคืนนี่ ไม่ได้เล่นมานานแล้วครับ ด้วยปัญหาเรื่องสุขภาพ ปัจจุบันก็รับเป็นมือปืนอัดเสียง ส่วนใหญ่เป็นงานเบส และอาชีพสายดนตรีหลักๆคือเป็น Sound Engineer ครับ แต่ก่อนเป็น Engineer อยู่ในค่ายเพลงแห่งหนึ่ง แต่ตอนนี้เป็นฟรีแลนซ์ครับ
ช่วยจำกัดสไตล์การเล่นของตัวเองครับว่า เป็นสไตล์ไหน
อืม.....มีคนเรียกแนวผมว่า Fusion pop ครับ ซึ่งผมก็ชอบนะ ก็คงแนวนี้แหละครับ มันชัดเจนดีอยู่แล้ว เอาหลายๆแนวมารวมกัน แต่ไม่ยากนะ ผมพยายามให้มันฟังง่ายๆครับ
อะไรเป็นตัวตัดสินใจ ในการออกอัลบั้มชุดนี้
คือก่อนหน้านี้ผมก็เคยทำมาก่อนแล้ว ออกกับทาง Blacksheeprecord ของ Sony BMG ครับ 2 ชุด ดังนั้นงานนี้ไม่ได้เป็นงานที่ตัดสินใจครั้งใหญ่อะไร เพราะตั้งแต่ทำตอนชุดแรก ก็ตั้งใจจะทำไปเรื่อยๆอยู่แล้วครับ จนกว่าจะสังขารไม่อำนวย ชุดนี้เสร็จก็วางครับ ไม่ได้คิดอะไรมาก การได้รับการตอบรับหรือรายได้มากน้อย คงเป็นผลในเรื่องของ Production หรือ ความช้าเร็วในการออกแต่ละอัลบั้ม เท่านั้นเองครับ ยังไงก็คงทำไปเรื่อยๆ
อัลบั้มชุดนี้เป็นการทำงานคนเดียวทั้งหมดหรือเปล่าครับ
ถ้าเป็นเพลงที่อยู่ในอัลบั้มนี้ใช่ครับ แทบจะทั้งหมดเลย มีเพื่อนมาทำมาสเตอร์ให้ครับ มีหลายๆเพลงมีเพื่อนๆพี่ๆมาเล่นด้วย แต่ด้วยความผิดพลาดของผมเอง ที่พอมารวมกันแล้วมันหลุดไปหน่อย เลยยังไม่ได้อยู่ในชุดนี้ คงได้ฟังกันในโอกาสหน้า
อัลบั้มชุดนี้เป็นการเล่นแบบอิมโพรไวส์ทั้งหมดหรือว่าเป็นการที่เรียมมาอยู่แล้ว
ปนกันครับ ส่วนใหญ่จะเตรียมมาก่อนครับ พวกที่เป็น Melody หลักๆ แต่ว่าในตรงส่วนของ Improvise นี่ก็จะเอามา Improvise เล่นๆสักอาทิตย์ก่อน ให้ทำนองมันซึม แล้วค่อยมาอัดน่ะครับ แต่ตอนอัดก็ Improvise นะ
แล้วระหว่างการเล่นแบบอิมโพรไวส์กับการเล่นที่จะต้องเตรียมตัวมานั้น ชอบแบบไหนครับ
ชอบแบบเตรียมตัวมาก่อนครับ แต่สำหรับผมการจะ Improvise นี่ก็ต้องเตรียมตัวมาก่อนนะ คือ
เตรียมความเข้าใจในสิ่งที่เครื่องดนตรีอื่นจะเล่นรองรับให้เรา ผมว่าสิ่งหนึ่งที่ช่วยในเรื่องของการ Improvise ได้มากคือบรรยากาศ ในการเล่นครับ ถ้าบรรยากาศดี สนุกสนาน มักจะออกมาดีครับ ส่วน Improvise ตอนแจมกันอะไรอย่างงี้ ก็เอาเลยครับ ไม่ได้เตรียมอะไร
การทำงานในอัลบั้มชุดนี้ อัดสดทั้งหมดหรือเปล่า
นอกจากกลองแล้ว ที่เหลืออัดสดหมดครับ พวก Synth อะไรพวกนี้ ก็เล่นสดแล้วอัดเข้าไป ไม่ได้ Program ไว้ก่อน
การทำงานในแบบเพลงบรรเลงทั้งหมดนั้น คิดว่ายากง่ายอย่างไร เพราะมันต้องคอยคุมคอนเซปต์ของแต่ละเพลงไม่ให้หลุดออกไป และมีวิธีเริ่มต้นทำเพลงอย่างไร
ผมว่าทั้งเพลงร้อง เพลงบรรเลง มีความยากง่ายพอๆกัน ส่วนตัวผมว่าเพลงบรรเลงทำงานง่ายกว่าตรงอยากเล่นอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ แต่เพลงร้องบางทีจะติดขัดในเรื่องของการร้อง หรือขีดจำกัดของเสียงคน แต่เพลงบรรเลงจะยากกว่าตรงที่จะสื่อสารเนื้อหาได้ยากกว่าเพราะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ จึงต้องสร้างบรรยากาศ หรืออารมณ์ของเพลงสื่อกับผู้ฟังให้ได้ ส่วนตัวแล้วผมไม่มี Concept ในการทำงานอัลบั้มตัวเองมากมายนัก อย่างในชุด Tears of time นี้ ก็คิดอะไรออกก็ทำครับ มันเหมือนเป็น Diary ว่าช่วงเวลาที่เราทำนั้นเราคิดอย่างนี้ เล่นอย่างนี้ แต่ข้อเสียก็มีครับ อย่างที่บอกในตอนแรก หลายๆเพลงทำแล้วฟังดูดีมาก แต่ในเรื่องของ Sound หรือ Image ก็หลุดภาพรวมไปบ้าง เลยไม่ได้ใช้ ก็มี กะว่าชุดหน้าจะหา Concept สนุกๆ มาใช้ครับ ส่วนวิธีเริ่มต้นทำเพลง ถ้ามีกีต้าร์อยู่ในมือ ส่วนใหญ่จะหาคอร์ด หา Rhythm ก่อนว่ามาทางไหนคร่าวๆ แล้วก็ค่อยๆต่อไปเรื่อยๆ แต่เพลงส่วนใหญ่มาจากในรถครับ คือรถติดๆ เราก็คิดอะไรของเราไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็มาครับ ปัญหาคือจะจำมันได้จนถึงบ้านรึเปล่าแค่นั้นครับ ส่วนตัวผมจะไม่ฝืนคิดครับ คิดไม่ออกก็ปล่อยเพลงมันคาไว้อย่างนั้นก่อน วันหลังค่อยมาคิดต่อ พยายามอยากให้ได้เพลงที่ออกมาตอนสมองเรามันสบายๆน่ะครับ เลยทำให้ตอนนี้มีเพลงที่ยังไม่สมประกอบมีนั่นนิดมีนี่หน่อย อยู่เต็มเลยครับ
มีการใช้ทฤษฎีดนตรีเข้ามาช่วยในงานทำงานหรือไม่
มีเหมือนกันครับ แต่ส่วนตัวผมอ่านโน้ตไม่เป็นนะ โดยรวมก็ใช้ทฤษฎีทั่วๆไปนี่แหละครับ ไม่ได้ของยากอะไรมากมาย มีเอาส่วนของ Jazz มาใช้บ้างเป็นระยะครับ
ช่วยบอกถึงวีธีการทำงานต่างๆที่ผ่านมากับอัลบั้มชุดนี้ครับ
ก็เริ่มจากทำเดโมขึ้นมาก่อน โดยในขั้นตอนการทำเดโมนี้ ถึงแม้จะ ” เสร็จแล้ว ” แต่ถ้ายังไมได้เคาะ ผ่าน ก็พร้อมที่จะชำแหละเสมอ ใส่โน่นเปลี่ยนนี่ได้ตลอด เพราะว่าเมื่อเข้าสู่ขั้นตอน Recording แล้วจะพยายามไม่แก้อะไร เพราะจะทำให้ยุ่งยาก ยกเว้นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ หรือในส่วนที่เป็น improvise ซึ่งจะไม่เหมือนใน เดโมอยู่แล้ว หลังจากที่เคาะเพลงผ่านก็จะเริ่มทำ Pre-recording ต่างๆ เช่นเตรียม Session ใหม่ ทำการ Program กลองให้ละเอียดที่สุด เลือก Sampler กลอง Set อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เพลงนี้จะใช้กีต้าร์ตัวไหนบ้าง เพลงนี้ควรใช้สายเบอร์อะไร ถ้าผ่านพวก POD ก็จะหา Sound ที่เหมาะกับเพลงไว้ก่อน จะไม่ไปหา Sound เอาวันที่จะอัดจริง เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นหลายคนเลือก sound ในห้องอัด ซึ่งด้วยเวลาที่จำกัดทำให้บางทีต้องประมาณว่า “ เอาอันนี้ละกัน ” ซึ่งถ้าอัดไปแล้วไม่ดีจะทำให้เสียเวลาในภายหลังได้ แม้กระทั่งหลอด ที่ใช้ใน Pre-amp ก็จะเลือกยี่ห้อที่เหมาะกับกีต้าร์แต่ละตัว กับเรื่องของหลอดนี่ผลอาจจะต่างกันไม่มากในตอนแรก แต่พอทำมาสเตอร์ออกมาจะเห็นถึงความแตกต่าง ระหว่างนั้นก็ต้องซ้อมการเล่นของเราด้วย หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอน Recording ซึ่งจะพยายามอัดในวันที่อารมณ์ดี บรรยากาศดีๆ และใช้เวลาไม่ให้มากเกินไป แต่ละ line พยายามจะไม่เจาะเลย หรือถ้ามีก็จะให้มีน้อยที่สุด เพื่อความเป็นธรรมชาติ หลังจากอัด line ต่างๆเสร็จ ก็จะนำไป ทำการ edit ต่างๆ แล้วค่อยนำไป mix ส่วนตัวแล้วผมจะทำแบบนี้ทีละเพลง จะไม่ทำ Recording session ทีละหลายๆเพลง หรือหมดทุกเพลง เพราะรู้สึกมันไม่ค่อยผ่อนคลายสักเท่าไหร่ หลังจากนั้นเมื่อมีเพลงที่ mix ครบแล้วค่อยนำมาทำ Master เป็นขั้นตอนสุดท้าย
การทำงานที่ทำทุกหน้าที่คนเดียวเช่นนี้ มีการตัดสินใจและกลั่นกลองเพลงแต่ละเพลงนานหรือไม่ และอะไรที่เป็นตัวกำหนดว่าพอใจแล้วและไม่มีการแก้ไขมันอีก
ผมใช้วิธีทำ Demo ให้เสร็จอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่ทำได้ แล้วก็จะหยุดฟังเพลงนั้นไปพักใหญ่เลยครับ หลังจากนั้นก็จะกลับมาฟังอีกที จะเห็นครับว่าดีไม่ดี ความเมามันส์และดูดีในวันนั้นบางทีพอเราห่างๆมันแล้วกลับมาฟังใหม่ มันไม่ค่อยเข้าท่าก็มีเยอะ ผมคัดออกไปเยอะมากครับ ที่เหลือก็ให้เพื่อนๆพี่ๆนักดนตรี นักฟังเพลงฟัง แล้วก็วิจารณ์ครับ เราก็เก็บมาตัดสินใจ หรือเอามาแก้บ้าง ครับ บางเพลงก็ชอบเลย เอาเลย ไม่แก้แล้วก็มีครับ ถ้าถามว่าเอาอะไรเป็นตัวกำหนด ก็คงต้องคงความชอบของวันที่ตัดสินใจเป็นหลัก เหตุผลอื่นเป็นรองครับ
อุปกรณ์ที่ใช้ มีอะไรบ้าง
กีต้าร์ไนลอน นี่ที่ใช้หลักกๆเป็น Yamaha ครับ CG-100A ไม่ใช่รุ่นใหญ่อะไร แต่ว่าแก่แล้วครับ เสียงดี อีกตัวก็เป็น Yamaha เช่นกันครับแต่รุ่นอะไรไม่รู้ เพราะตอนที่ได้มาป้ายข้างในโดนเอาออกไปแล้ว อายุประมาณ 30 ปี เสียงดีมากเช่นกัน ทั้งสองตัวใช้ I-beam Active ของ L.R.bagg ครับ ส่วนตัวแล้วชอบ I-beam มาก ตอนอัดก็ใช้ร่วมกับไมค์ Rode Nt2
กีต้าร์ไฟฟ้า ที่ใช้ก็เป็น Washburn wi-64dl, Fender American tele , Gibson Lespual Custom, Es-335
เบส ก็ Fender precision, Bc rich warlock nj series, Music man sterling
Keyboard ก็ Roland Rs-5, Korg triton
Percussion เป็น LP. กับ ของเล็กๆน้อยๆที่ซื้อมาจากสวนจตุจักร สวนลุมไนท์บาซาร์
ในภาคของ Recording หลักๆใช้ Protool โดย interface เป็น digidesign 002
Preamp TL-audio ivory, Focusrite red, Custom tube preamp ,Joe meek pre-amp
Monitor Yamaha msp-10 ครับ
ในฐานะที่เป็นมือกีต้าร์ อยากทราบว่ามองความเป็นไปอย่างไรกับวงการดนตรี และคนดนตรีโดยคนที่เล่นกีต้าร์รุ่นต่อๆมา
เดี๋ยวนี้นักดนตรีบ้านเราฝีมือดีขึ้นมากกว่าแต่ก่อนมากครับ ไม่เฉพาะมือกีต้าร์ บางทีเห็นน้องๆนักศึกษาบางคนเล่นเก่งมาก ก็อดทึ่งไม่ได้ครับ ผมเชื่อว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา พัฒนาการทางดนตรีด้านต่างๆของไทยดีขึ้นมาก เนื่องด้วยสื่อต่างๆมีมากขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งค่อนข้างที่จะสวนทางกับวงการเพลงในบ้านเรา ที่ค่อนข้างจะเป็นขาลง ผลตอบแทนน้อย แต่ตามความเห็นผมคนรุ่นหลังหรือรุ่นต่อๆมานี่แหละครับ ที่จะช่วยให้วงการดนตรีบ้านเราดีขึ้น งานเพลงก็เริ่มมีการโชว์ความสามารถของมือกีต้าร์ หรือนักดนตรีมากขึ้น งานประกวดดนตรีต่างๆ อย่างของ Ovedrive ที่ผ่านมาก็ทำให้เราได้เห็น ได้รู้จักมือกีต้าร์ฝีมือดี หลายคน ซึ่งคนเล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดมือกีต้าร์ฝีมือดีตามมา ในอนาคตแน่นอนครับ
คิดอย่างไรกับคำพูดที่ว่า “ เพลงบรรเลง เป็นเพลงที่ฟังยาก เลยไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจซักเท่าไหร่ ”
ก็เป็นอย่างนี้ทั่วโลก เพลงร้องเป็นเพลงที่ได้รับนิยมในวงกว้างมากกว่า มันสื่อสารได้ง่ายกว่า สำหรับคนที่ชอบฟังเพลงร้องแล้วเพลงบรรเลงก็เหมือนทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับการฟังเพลงครับ เป็นอีกอารมณ์ ส่วนเรื่องฟังยากนี่คงแล้วแต่เพลงรวมถึงแล้วแต่คนครับ เพลงบรรเลงบางเพลงผมฟังแล้ว ก็ว่ามันฟังยากนะ เพลงร้องบางเพลงผมก็ว่าฟังยากเช่นกัน อันนี้แล้วแต่คนครับ
ด้วยความที่เป็นอัลบั้มบรรเลง มีการวางแผนทางการตลาดหรือไม่ ถ้ามีจะแตกต่างจากอัลบั้มเพลงที่มีอยู่ตามท้องตลาดหรือไม่
แผนการตลาดนั้นไม่ได้มีอะไรมากครับ เนื่องจากไม่ได้มีงบโปรโมตมากมายอะไร คงจะมุ่งเน้นไปในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ ให้เป็นที่รู้จัก พยายามจะเน้นการแสดงสดให้มากเท่าที่จะทำได้ ซึ่งในรูปแบบของเพลงแบบนี้ การเล่นสดน่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ได้ดีที่สุดครับ คงไม่ได้ไปทำการตลาดแบบเพลงที่เพลงทั่วไปทำกันครับ