20396
|
|
Interview :
เอ๋ Wizard เอกชัย กรายอานนท์ 2/15/2005 Santhasak.K
|
เมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อนตอนที่ผมยังเรียนหนังสืออยู่แถวๆลาดพร้าวมีการจัดการประกวดวงดนตรีของ Nescafe ที่หน้า เซ็นทรัล ลาดพร้าวซึ่งมีคนสนใจชมการประกวดเยอะมากซึ่งในนั้นก็มีผมรวมอยู่ด้วย มีวงหลาย
แนวทั้ง pop jazz rock สร้างความสนุกสนาน ให้กับผู้ชมอย่างมาก เพราะทุกวงต่างก็มีกองเชียร์ที่ขนมาชียร์พรรคพวกเพื่อนพ้องที่เข้าประกวด และที่งานนี้ผมได้เห็น เอ๋ เป็นครั้งแรก เอ๋มากับ วงของเขา WIZARD ที่เขายังใช้ชื่อนี้ถึงในปัจจุบัน ในการประกวดครั้งนั้นเท่าที่ผมจำได้ เอ๋ก็เล่นเพลง Rock ตามที่ตัวเขาถนัดรู้สึกว่า จะใช้เพลง ร็อค
รักร็อค ของวงไมโครและเพลงสากลอีกเพลง ซึงการประกวดครั้งนั้นเอ๋ได้ฉายแววของการเป็นมือกีตาร์ฝีมือดีอีกคนนึงของบ้านเราให้เห็น จนต่อมาเอ๋ได้ออกงานชุดแรกออกมาซึ่งมีกลิ่นของ Funk Rock ชัดมาก คงจะเป็นเพราะอิทธิพลของ Nuno Hero ของเขา ซึ่งต่อมาผมได้มีโอกาส ดูเอ๋เล่นสดอีกหลายครั้งได้เห็นพัฒนาการของเขาขึ้นเรื่อยๆ จนผมกับเอ๋ได้รู้จักกันเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว ถึงวันนี้ผมได้มีโอกาสมาเขียน Column ในกีตาร์ไทยผมจึงไม่พลาดที่จะนำเสนอมือกีตาร์คนนี้
guitarthai : สวัสดีครับ แนะนำตัวกันสักนิดหนึ่ง ให้คุณเอ๋ช่วยเล่าประวัติส่วนตัว อายุ การศึกษา …
เอ๋ Wizard : สวัสดีครับ ผมเอกชัย กรายอานนท์ หรือเอ๋ Wizard เกิดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ครับ ส่วนการศึกษาก็จบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม สาขาดนตรีสากล เอกกีตาร์ แต่ก่อนหน้านั้นผมเคยเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครอยู่ 1 ปีแล้วค่อยย้ายมาเรียนที่จันทรเกษม
guitarthai : ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง ?
เอ๋ Wizard : งานตอนนี้ อย่างแรกเลย … งานหลักเลย … ซึ่งหาเวลาทำยาก ก็คือการทำงานอัลบั้มของตัวเอง ชุดต่อไปก็กำลังทำอยู่ เริ่มไปได้ส่วนหนึ่งแล้วล่ะ นี่คืองานหลักแต่ว่าก็ไม่ค่อยจะมีเวลาทำเท่าไร แล้วก็หาเวลาไปเป็น มือกีตาร์ฟรีแลนซ์อัดเสียง ก็จะมีงานเข้ามาบ้างผมก็จะไปอัดให้ ก็อัดหมดทั้งค่ายใหญ่ค่ายเล็ก เพลงลูกทุ่ง เพลงป็อบ เพลงร็อค อย่างอัลบั้มที่อยากให้ทุกคนหาฟังก็ของ Souls After Six ชุด the Rhythm ครับ ผมก็ได้อัดกีตาร์ในเพลง "ยังไม่พร้อม" ซึ่งเพลงนี้ก็ได้รางวัลสีสันอะวอร์ดในปี 2002 ด้วย ก็เป็นความภูมิใจหนึ่งในงานที่ได้ทำ มีงานทำแมกกาซีน อันนี้ผมก็เขียนให้ Sound & Stage อยู่ 2 คอลัมน์ ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเครื่องดนตรี คอลัมน์หนึ่ง และเป็นการสอนกีตาร์ตั้งแต่เบสิคอีกคอลัมน์หนึ่ง แล้วก็เขียนให้กับ Starpics Music เป็นคอลัมน์เกี่ยวกับการนำมือกีตาร์ที่ผมรู้สึกชื่นชมมาเขียนถึงแล้วเอาแบบฝึกหัดกีตาร์ของเขามาเล่าสู่กันฟัง แล้วก็มีคอลัมน์ Tunesmith ที่อยู่ใน Music Time อันนี้ก็จะเขียนเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของมือกีตาร์ การเล่นต่างๆผสมผสานทั้งในแง่ของทฤษฎีการเล่นและปฏิบัติ รวมถึงประสบการณ์ต่างๆมาเล่าให้ฟังกันครับ นอกจากนี้แล้วก็เพิ่งมีหนังสือคู่มือกีตาร์และเบสไฟฟ้าออกมาจำหน่ายตามร้านหนังสือชั้นนำอยู่ในขณะนี้ อีกงานหนึ่งคืองานสอน ตอนนี้ผมก็สอนที่ปราชญ์มิวสิค แล้วก็เป็นอาจารย์พิเศษอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร สุดท้ายก็สอนตัวต่อตัวเป็น Private Lesson ที่บ้าน อันนี้ก็เป็นงานที่ทำอยู่ในช่วงนี้
guitarthai : สำหรับหนังสือ "คู่มือกีตาร์และเบสไฟฟ้า" นี่เป็นมายังไง ? ทำไมถึงทำออกมา ?
เอ๋ Wizard : ก็หลังจากที่ทำงานด้านหนังสือมาหลายปีน่ะครับ … ตอนแรกสุดเลย … คุณก้อย Wizard หรือวาสนา ศิริชยาพร ปรกติเขาจะเป็นคนดูแลวง Wizard อยู่แล้ว เขามาปรึกษาว่าอยากจะทำหนังสือสักเล่มหนึ่งเกี่ยวกับกีตาร์ ผมก็บอกว่าลองทำดูซิแล้วเดี๋ยวจะช่วยๆดูให้ ลองทำลองช่วยๆกันทำดู ตอนแรกก็ว่าจะทำเป็นพ็อกเก็ตบุคเล่มเล็กๆ คุณก้อยเขาก็ขึ้นงานแล้วก็ทำไปเรื่อยๆ ยิ่งทำมันยิ่งรวบรวมข้อมูลแล้วมันยิ่งเยอะขึ้น ก็เลยมาคุยกันตอนหลังว่า ไหนๆทำแล้วก็ทำให้มันครบถ้วนไปเลยดีกว่า ละเอียดไปเลย ก็เลยยอมทำไปเรื่อยๆเสียเวลามากขึ้น จากตอนแรกว่าจะทำแค่หกเดือนเสร็จก็กลายเป็นว่าสองสามปี ก็ได้ออกมาเป็นหนังสือที่หนามากกว่า 300 หน้า แต่ว่าก็เพื่อให้ข้อมูลทุกอย่างมันอยู่ตรงนั้นเลย คือตั้งใจให้มันรวบรวมเป็นเหมือนเอนไซโคลพีเดียร์ที่เวลาที่คุณพูดถึงกีตาร์ คิดถึงกีตาร์ที่มันไม่ใช่การเล่นเนี่ย คุณต้องการอะไรที่ไม่เกี่ยวกับการเล่นแต่ว่ามันเป็นสิ่งที่นักกีตาร์ต้องรู้ คุณก็สามารถเปิดจากเล่มนี้ได้ ผมก็จะบอกน้องๆที่มาเรียนตลอดว่า การเล่นกีตาร์ นอกจากคุณมาเรียนในคลาสส์เอาความรู้แล้วเนี่ย อีกสิ่งหนึ่งที่คุณต้องขวนขวายหาด้วยตัวเองก็คือเรื่องตรงนี้นี่แหละ ที่มันอยู่ในหนังสือ "คู่มือกีตาร์และเบสไฟฟ้า" นี่ ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็ไม่มีใครสอนกัน เพราะฉะนั้นมันก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกคน จากที่ผ่านๆตาในเว็บไซต์ guitarthai คำถามต่างๆที่เกี่ยวกับกีตาร์ ตู้แอมป์และเอฟเฟกต์ สามารถค้นคว้าได้จากหนังสือเล่มนี้ครับ
แล้วก็อีกอย่างก็คือหนังสือลักษณะนี้ จากประสบการณ์ที่ผมเล่นดนตรีหรือว่าใช้ชีวิตสนใจเรื่องดนตรีมาเกือบๆยี่สิบปีเนี่ย ผมก็ยังไม่เคยเห็นหนังสือว่ามันจะมีหนังสือไทยที่รวบรวมข้อมูลที่มันครบถ้วนละเอียดแบบนี้รวมอยู่ในเล่มเดียวกัน ซึ่งผมเคยเห็นหนังสือลักษณะแบบนี้ แบบคู่มือกีตาร์และเบสของเมืองนอกผมเห็นเป็นสามสิบสี่สิบเล่มที่รวบรวมเนื้อหาอยู่ในเล่มเดียวกัน แต่แปลกที่บ้านเรามันไม่มี ผมก็เลยใช้โอกาสตรงนี้ที่คิดว่าหนังสือแบบนี้มันน่าจะเป็นที่ต้องการของผู้ที่สนใจดนตรีและกีตาร์ ก็เลยทำออกมา เพราะฉะนั้นก็เหมาะกับคนที่รักกีตาร์และต้องการจะรู้เรื่องดนตรีจริงๆ สำหรับบางคนที่อาจจะซื้อไว้ในบ้านนี่ก็เป็นประโยชน์ เพราะมันเป็นหนังสือกึ่งๆวิชาการเลย
guitarthai : คุณเอ๋คิดว่าการศึกษาดนตรีในบ้านเราเป็นอย่างไร ?
เอ๋ Wizard : ก็ก้าวหน้า ไปได้ดี มีสถาบันดีๆ มีอาจารย์ดีๆสอนเยอะแยะไปหมดเลย ก็ดี ดีกว่าสมัยที่ผมเป็นเด็กเยอะมาก แต่ผมก็อยากให้น้องๆที่จะศึกษาดนตรี หมายถึงว่าจะศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างจริงจัง ผมอยากให้เขาเน้นเรื่องเบสิคให้มากขึ้นกว่านี้ ก็คือพยายามสร้างเบสิคในการเล่นดนตรีให้ตัวเองให้ดีๆ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคืออย่าเรียนตามคนอื่น ให้เรียนอย่างที่ตัวเองชอบจริงๆ ถามตัวเอง ค้นตัวเองให้เจอว่า ตัวเองชอบอะไร อยากเล่นแนวไหน เป็นแบบไหน แล้วก็เรียนอย่างที่ตัวเองชอบ อย่าตามเพื่อน เห็นเพื่อนเล่นอย่างนี้เรียนอย่างนี้เยอะ เราก็ไปเรียนอย่างนั้นบ้าง มันไม่ใช่วิธีการที่ถูกนะครับ เพราะว่านักกีตาร์ที่เก่งๆนี่ไม่มีใครเขาเล่นตามกันหรอก เขาจะต้องเล่นตามสไตล์ของตัวเอง หรือไม่ก็เรียนหรือศึกษา ค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ อย่าฟังเพลงหรือว่าอย่าศึกษาดนตรีเพราะว่าคนอื่นเขาทำกันเยอะ แต่เราต้องฟังเพลง หรือศึกษาดนตรี หรือเล่นดนตรีนั้นๆเพราะว่ามันมาจากที่เราต้องการจะเล่นจริงๆ ถามตัวเองให้แน่นอนว่าเราต้องการจะเรียนตรงนี้ เราเรียนเพราะว่าตามคนอื่นหรือว่าเราเรียนเพราะว่าเราอยากจะค้นหาดนตรีนั้นอย่างละเอียดจริงๆ … โอกาสในการศึกษาหรือว่ารูปแบบการสอนหรือคุณภาพมาตรฐานนั้นดีขึ้น แต่ว่าการที่เราจะเข้าไปเรียนตรงนั้นมันจะสัมฤทธิ์ผล มันจะเวิร์คหรือไม่เวิร์คนั้นมันต้องอยู่ที่ตัวเรา เพราะฉะนั้นก็ต้องหาตัวเองให้ อย่าเรียนโดยที่เรายังไม่รู้จักตัวเองจริงๆ
guitarthai : คุณเอ๋เริ่มมีความสนใจดนตรี เริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่เมื่อไร ยังไง ?
เอ๋ Wizard : ก็สมัยที่ผมเป็นเด็ก ผมอยู่ที่กองดุริยางค์ทหารบกครับ คุณพ่อก็เป็นนักร้อง คุณแม่ก็เป็นนักร้อง อย่างคุณพ่อนี่ร้องพวกเพลงสากลเก่าๆ พวก Nat King Cole คุณพ่อมีชื่อเสียงมาก นักฟังรุ่นเก่าๆจะรู้จักพ่อผมดีในฐานะ Nat King Cole เมืองไทย ส่วนคุณแม่นี่จะร้องเพลงสุนทราภรณ์ แล้วรอบข้างผมนี่ก็จะมีแต่นักดนตรีทั้งนั้นเลย เป็นทหารที่เล่นดนตรี ผมก็เลยสนใจดนตรีตั้งแต่จำความได้ คุณพ่อก็ชอบกระเตงไปดูเขาร้องที่ผับ สมัยเด็กๆก็จะรู้สึกง่วงนอนนะครับตามภาษาเด็ก แต่มันก็ซึมซับเข้าไปในตัวเราโดยที่เราไม่รู้ตัว
มาเริ่มเล่นดนตรีโดยผมก็เริ่มจากการฝึกด้วยตัวเองก่อนนะครับ ฝึกพวกไมโคร ฝึกพี่ป้อม อัสนี อะไรประมาณนี้ครับ ฝึกกับกีตาร์โปร่ง ตอนแรกๆนี่ยังไม่มีกีตาร์เล่น ต้องไปขอยืมกีตาร์เพื่อนมาเล่น แล้วก็มาขอให้พ่อซื้อให้ พ่อก็ไม่ยอมซื้อให้ ผมก็เลยไปฝึกเป่าขลุ่ย ฝึกไปสักพักเขาก็ทนเสียงขลุ่ยไม่ไหวก็เลยซื้อกีตาร์โปร่งให้เล่น ผมก็เลยฝึกด้วยตัวเองจากการแกะจากเทปนี่แหละ หลังจากนั้นคุณพ่อก็ซื้อกีตาร์ไฟฟ้าและแอมป์ให้ จากนั้นคุณแม่ก็ซื้อกีตาร์ Fender ให้ เป็น Stratocaster สีขาวรุ่น Deluxe Strat Plus แล้วก็ตามมาด้วยกีตาร์ Washburn N4 Nuno Bettencourt Model แล้วผมก็ไปเรียนกีตาร์ ผมไปเรียนกับอาจารย์โสภณ จันทรมิตร ( Music House) ท่านก็สอนทั้งคลาสสิค ทั้งอ่านโน้ต ทั้งการเล่นร็อค อะไรต่างๆ ผมก็เรียนกับท่านอยู่สองสามปี ทีนี้อาจารย์ก็บอกว่าให้ไปหาที่อื่นเรียนต่อเพราะไม่รู้จะสอนอะไรแล้ว (หัวเราะ) ผมก็เลยไปตระเวนไปเรียนทั่วประเทศเลย ประเทศไทยมีโรงเรียนดนตรีที่ไหนดังๆนี่ผมก็ไปเรียนหมดเลย อย่างศศิลิยะนี่ผมก็ไป เรียกว่าศึกษาดนตรีไปทั่วเลย
guitarthai : มือกีตาร์ที่มีอิทธิพลต่อคุณเอ๋ ตั้งแต่ช่วงแรกจนถึงปัจจุบัน
เอ๋ Wizard : มือกีตาร์ที่มีอิทธิพลเริ่มจากตอนแรกที่ผมประทับใจการเล่นกีตาร์ของ Eddie Van Halen มาก ผมได้ดูคอนเสิร์ต Live Without A Net ของเขา มันทำให้ผมถึงขนาดเลิกสนใจเพลงไทยไปเลย แล้วก็มุ่งไปที่เพลงสากล จากนั้นผมก็เริ่มออกไปควานหาผลงานของ Van Halen ย้อนหลังแบ็คแคตตาล็อกมาหมดเลย แล้วก็พยายามฝึก พยายามเล่นกีตาร์ให้ได้อย่าง Van Halen
หลังจากนั้นก็มาชอบ Vito Bratta วง White Lion ทุกวันนี้ผมก็ยังคงประทับใจการเล่นของเขาอยู่ เขาเป็นคนที่ชอบ Tapping แต่เขาก็สร้างการ tapping ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ก็น่าสนใจดี จากนั้นก็มาประทับใจมือกีตาร์อีกคนหนึ่งซึ่งคนนี้สำคัญมาก ก็คือ Nuno Bettencourt วง Extreme จำได้ว่าที่ฟังเขาครั้งแรกจากอัลบั้ม Pornograffitti หรือเป็นชุดแรกก่อน … ไม่แน่ใจ … เชื่อไหมครับว่าทุกวันนี้หยิบมาฟังเมื่อไรก็ยังค้นเจอสิ่งดีๆในงานของเขาเสมอๆ หลังจากนั้นผมก็พยายามศึกษาวิธีการเล่นกีตาร์ของ Nuno พยายามศึกษาวิธีการแต่งเพลง พยายามศึกษาวิธีการคิด พยายามรับรูว่าเขาฟังใครและพยายามสร้างสไตล์ให้มันน่าสนใจ โดยเอาเขาเป็นตัวอย่างแต่ว่ามาสร้างสไตล์ให้มันมีสไตล์ในแบบของตัวเอง จะสังเกตว่ามือกีตาร์ฝรั่งทุกคนเนี่ย พวกเขาเก่งเท่ากันหรือเปล่านี่เราไม่รู้ แต่ที่แน่ๆคือทุกคนเขาจะมีสไตล์ที่เป็นเฉพาะตัว ซึ่งตรงนี้นี่ผมเน้นมากเลย … ก็เลยคิดว่าผมโชคดีที่ได้ศึกษาวิธีการเล่นจาก Nuno เพราะว่า Nuno นี่เขาจะมีทุกอย่าง … ความเร็ว เทคนิค การแต่งเพลง สำเนียง การดันสาย หรือจะเป็นรสนิยมในการฟังดนตรี ซึ่งผมก็ได้มาจากตรงนั้น
หลังจากนั้นผมก็ได้มาทำ Wizard ชุดแรก ผมก็มาสนใจมือีกตาร์อีกท่านหนึ่ง ความจริงผมฟังเขามาก่อน Nuno ด้วยซ้ำ แต่ว่าตอนนั้นยังไม่ค่อยเก็ตเท่าไร เขาก็คือ Jimi Hendrix สำหรับ Hendrix นี่ทุกวันนี้ผมก็ยังคงทึ่งในสิ่งที่เขาทำอยู่ แต่ผมต้องใช้เวลาในการฟังเขานานมากกว่าจะเข้าใจในสิ่งที่เขาทำอยู่ ก็ได้เรื่องการอิมโพรไวส์ เรื่องฟีล การเล่นริทึ่มในแบบฟังค์กี้ ซึ่งก็มีความต่อเนื่องใกล้เคียงกับในสิ่งที่ Nuno เล่นอยู่เหมือนกัน
มือกีตาร์อีกคนที่ผมชอบก็คือ Stevie Ray Vaughan คนนี้ก็คงไม่ต้องอธิบายกันมากนะครับ ว่าทำไมถึงชอบ SRV สำหรับคนนี้ผมสามารถดึงบางสิ่งบางอย่างจากเขามาใช้ได้โดยที่ไม่ต้องฝึกเพลงเขาก็ได้ อันนี้เป็นความคิดของผมนะ หลังจากนั้นผมก็มาชอบมือกีตาร์อีกคนชื่อ Carl Verheyen เขาเป็นมือกีตาร์ห้องอัดที่อเมริกาครับ เรียกว่าเป็นมือกีตาร์ระดับ First Call ของที่นั่นเลย เขาเรียกว่า The Best Unknown Guitarist In the World … โดยเฉพาะการเล่น Intevalic การข้ามสาย หรือการเล่นลักษณะซาวด์ที่มันมีขั้นคู่กว้างๆนี่ได้อย่างน่าสนใจมาก
พวกนี้ก็คือบุคคลที่เป็นมือกีตาร์ที่ผมประทับใจมากๆ ความจริงแล้วยังมีอีกมาก ผมเป็นคนที่ชอบนักดนตรี ชอบมือกีตาร์เยอะมากเลย หรือพูดง่ายๆว่านักดนตรีหรือมือกีตาร์คนไหนที่มีสไตล์ของตัวเองและ Play and Create by Heart เป็นอันว่าโดนใจผมทั้งหมด บางคนถามผมว่า "เอ๊ะ … จาก Nuno แล้วมันกระโดดมาชอบ SRV ได้ยังไง ?" ดูมันไม่ค่อยจะไปด้วยกัน … แต่ในความคิดของผมแล้วคือ มือกีตาร์ที่ผมเอ่ยชื่อมาทั้งหมดเนี่ยมันสามารถนำมาเชื่อมโยงถึงกันได้ แล้วเราก็สามารถดึงสิ่งดีๆของเขามาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆได้
หลังจากตรงนี้ก็จะเป็นพวก อาจจะเป็นแจ๊สไปเลย เช่นพวกนักแซ็กโซโฟน อย่าง John Coltrane, Wayne Shorter, Michael Brecker ยังมีนักดนตรีอีกมากมาย รวมถึงมือกีตาร์ในสายแจ๊สด้วย ช่วงนี้จะเริ่มสนใจฟังนักดนตีที่ไม่ใช่มือกีตาร์
guitarthai : มาพูดถึงวง Wizard กันบ้าง Wizard ก่อตั้งขึ้นได้อย่างไร ?
เอ๋ Wizard : Wizard ก็เป็นวงเพื่อนๆกันเลย อยู่ในกองดุริยางค์ทหารบก บางคนก็เป็นเพื่อนข้างบ้าน เล่นฟุตบอลมาด้วยกัน บางคนก็เป็นนักเรียนดุริยางค์ทหารบก ผมก็ชวนๆทุกคนมาทำวงเล่นดนตรีกัน โดยที่มีผมเป็นตัวตั้งตัวตีตั้งแต่ตอนนั้นเลยล่ะ พวกเราลุยด้วยกันมาตั้งแต่การแข่งขันดนตรี ลุยกันจนไม่มีที่แข่งแล้วในสมัยนั้น พอ Wizard ได้รางวัลเกือบจะทุกเวที ประสบความสำเร็จเยอะแยะ ก็เลยผลันตัวเองมาเล่นผับ หาประสบการณ์เล่นผับในสไตล์ผับที่คนเขามานั่งฟังดนตรีกันจริงๆ เล่นในสไตล์ร็อคแบบร็อคจริงๆ เล่นแต่เพลงสากล อย่างพวก Guns N' Roses, Extreme, White Lion, Joe Satriani ฯลฯ เล่นอยู่ได้สองถึงสามปีหลังจากนั้น Wizard ก็ทำอัลบั้มของตัวเอง
guitarthai : พูดถึงผลงานของ Wizard
เอ๋ Wizard : ก็เริ่มจากปี 1995 Wizard ออกซิงเกิลแรกกับสังกัด BMG พอมาปี 1996 ก็ออกเป็นอัลบั้มเต็ม อัลบั้ม Wizard ชุดแรกชื่อว่า "พ่อมด" จากนั้นผมก็กลับไปเรียนหนังสือต่อและกลับไปเล่นผับต่อ ค้นหาสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ แล้วก็เริ่มทำงานดนตรีในรูปแบบอื่น มาทำงานร่วมกับพี่หมู คาไลฯ ในชุด Fresh ในปี 2002 แล้ว Wizard ก็มาออกอัลบั้มชุดที่ 2 ชื่อ Return of the Wizard ในปี 2003
guitarthai : พูดถึงการทำงานในอัลบั้มชุด " Return of the Wizard" ในชุดนี้แบ่งงานกันทำอย่างไร ?
เอ๋ Wizard : สำหรับ Return of the Wizard… วิธีการทำงานก็คือจะเป็นในลักษณะที่เริ่มจากคอนเส็ปต์ที่ว่าเราจะอัดเบสิคแทร็คไลฟ์พร้อมกัน เบสิคแทร็คนี่ก็คือกีตาร์ริทึ่ม เบส และกลองนี่เราจะอัดสดพร้อมกันในห้องอัด ใน Room เดียวกันเพื่อที่เราจะเก็บอารมณ์ความรู้สึกของการไลฟ์เอาไว้ แล้วที่เหลือผมก็จะตามมาโอเวอร์ดับบ์กีตาร์เพิ่ม โซโล เล่นริทึ่มเพิ่มลงไป หรือว่าจะมาอัดร้องหรือการประสานเสียงหรืออะไรเพิ่มกันตรงนั้น โดยการทำงานทั้งหมดเราจะอัดและเก็บไว้ในเทปรีล 2 นิ้ว หลังจากนั้นก็ ในขั้นตอนการมิกซ์ เราก็จะมิกซ์ลง DAT ก่อนที่จะมาทำมาสเตอริ่งลง CD ก็จะแตกต่างจากวิธีการทำงานในปัจจุบันเล็กน้อย แต่ถ้าทุกคนที่อ่านตรงนี้ถ้ามีโอกาสทำอย่างนี้ก็อยากให้ลองทำดูนะครับ
สำหรับในเรื่องของการที่เราต้องอัดสดนี่ทำให้เราต้องพร้อม ซ้อมกันหนักมาก เรียกว่าซ้อมกันเดือนละเพลงเลย สมมติเราทำกันแปดเพลงเก้าเพลงก็ซ้อมกันไปเลยเก้าเดือน เราพยายามซ้อมกันให้แน่นที่สุดเพื่อที่ว่าเวลาไปเข้าห้องอัดเราจะได้ไม่เสียเวลาในการบันทึกเสียงที่จะต้องเล่นพร้อมๆกันเนี่ยนานเกินไป เพราะว่าการใช้ห้องอัดจริงๆ “ เวลา ” จะเป็นตัวกำหนดเรื่องของค่าใช้จ่าย สรุปแล้วเราต้องใช้เวลาซ้อมนานกว่าจะสำเร็จออกมาให้เราได้ฟังกัน แต่ก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องเอาเนี้ยบอย่างเดียว เรื่องของอารมณ์และฟีลลิ่งต้องมาก่อน
การแบ่งงานก็ไม่มีอะไร คือผมก็จะเขียนทำนองขึ้นมาทุกเพลงอย่างเพลง "เธอจากไปแล้ว" นี่ก็เผอิญว่ามันได้เรื่องเนื้อขึ้นมาด้วยพร้อมๆกัน ผมก็เลยเขียนเนื้อไปเลย และเพลง “ อย่ายอมแพ้ ” นี่เป็นผมและ “ น้อย ” เพื่อนผมเป็นคนเขียนเนื้อ ส่วนเพลงร้องอีกสี่เพลงที่เหลือผมก็ให้คุณหนู นักร้องเขามาเขียนเนื้อไป ผมก็จะทำดนตรีทั้งหมด พาร์ททุกอย่างก็จะถูกเขียนขึ้นมาจากผม จากนั้นมือเบส มือกลองเขาก็จะไปแกะแล้วก็มาลองซ้อมกันดู มีตรงไหนเพิ่มเติมก็จะค่อยๆทำ
guitarthai : ความเป็นมาของแต่ละเพลงในอัลบั้ม Return of the Wizard
เอ๋ Wizard : เพลง "หนี" ก็เป็นลักษณะของฟังค์กี้ร็อคนะครับ ในพาร์ทกลองจะเป็นลักษณะวิธีการแบบเซิ้งๆ แล้วก็ใช้ Pentatonic Minor เป็นริฟฟ์ เป็นเพลงที่สนุกๆ ท่อนโซโลก็จะมีการใช้ Dorian Mode อะไรต่างๆด้วย ลองฟังดูจะรู้ว่ามันเป็นเพลงในสไตล์ Wizard
" เธอจากไปแล้ว" นี่เป็นเพลงบัลลาดร็อค เพลงนี้ผมแต่ง จำได้ว่าแต่งตอนนั่งอยู่ในรถ ขับรถไปเรื่อยๆ ก็ได้คำร้องกับทำนองมาก่อนแล้วก็ค่อยทำดนตรีเพิ่มเข้าไป ท่อนโซโลนี่ ผมว่ามันมีท่อนโซโลที่น่าสนใจดี มีเมโลดี้และฟีลลิ่งในแบบบลูส์ เสียงกีตาร์ถ้าตั้งใจฟังให้ดีๆก็จะได้ยินเสียงของดอกลำโพงที่มันถูกขับดันโดยดิสทอร์ชั่นหรือพลังของการดีดลงไป ก็อยากให้ลองฟังที่การโซโลด้วย
" ว่าไง" นี่ก็เป็นเพลงที่บีทเร็วที่สุดในอัลบั้ม เพลงนี้จะเป็นลักษณะสนุกสนานหน่อย ก็เป็นฟังค์กี้ร็อคเร็วๆแบบ Wizard แต่ก็มีผู้สันทัดกรณี ผู้ใกล้ชิดบางคนบอกว่ามันเป็นคล้ายๆสกา ผมก็ไม่รู้ว่ามันคล้ายหรือไม่คล้ายก็ลองฟังดู ส่วนท่อนโซโลก็จะมีการเล่นข้ามสายแล้วก็มีการเล่น unison ของเครื่องดนตรีทุกชิ้น
"Lazy" เป็นเพลงบรรเลง เพลงนี้ได้เข้าชิงรางวัลสีสันอะวอร์ดสาขาเพลงบรรเลงยอดเยี่ยมปี 2003 ผมก็ค่อนข้างโอ.เค. ถือว่าเพลงนี้ก็ทำได้ตามที่ต้องการคือเป็นเพลงที่มีเมโลดี้ มีอารมณ์ มีความรู้สึก มีการอิมโพรไวส์ในโซโลท่อนกลางหรือโซโลตอนท้าย แล้วก็มีลักษณะของ … ที่มัน Lazy นี่ถ้าสังเกตดีๆจะเห็นว่าวิธีการเล่นของผมจะดันสายแบบยืดเยื้อ ยืดยาดตลอดเวลาเลย ก็ค่อนข้างเป็นเพลงที่ดำเนินเรื่องราวไปเรื่อยๆ ลองฟังดูแล้วคุณจะคิดถึงว่ามันน่าจะเข้ากับอารมณ์เพลงที่เขียนไว้ แต่ว่าบางคนอาจจะคิดถึงเรื่องอื่นก็ได้ ก็เป็นเพลงที่มีสไตล์ฟิวชั่นเล็กน้อย มีความเป็นบลูส์ มี swing 16th ใช้เป็นสัดส่วนในการโซโลแล้วก็ริทึ่มด้วย ผมอยากทำเพลงบรรเลงอย่างที่ Satriani ทำ และอีกอย่างเพลงนี้ใช้โหมด 3-4 โหมดในการแต่ง แต่ละท่อนจะมีโหมดที่ใช้แตกต่างกันไป
" อย่ายอมแพ้" นี่เป็นเพลงที่ให้กำลังใจ ให้กำลังใจต่อทั้งตัวผมเองด้วยแล้วก็ทั้งคนที่ฟังด้วย ท่อนกลางก่อนเข้าโซโลก็จะมี interlude ซึ่งผมจะใช้ในเพลงของ Wizard อยู่ตลอดเวลา และท่อนโซโลก็จะดันสายเป็นลักษณะแบบ double stop ค่อยๆไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ slow hand ไล่ขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงโน้ตพาร์ทสูงแล้วค่อยเล่น legato run ต่อกลับมา ส่วนท่อนท้ายๆนี่จะมี tapping เป็นเพลงที่ผมว่าสนุกสนานดี เล่นสดก็สนุกดี
"Not Yet Guru" เพลงนี้เป็นเพลงบรรเลงเพลงแรกเลยครับที่ผมทำ เป็นเพลงบรรเลงในสไตล์ฟังค์กี้แบบ Jimi Hendrix แล้วก็มีริฟฟ์ มีเมโลดี้ มีฟังค์พาร์ทด้วย แล้วก็มีท่อนหลัง outro solo นี่ก็จะเป็นการเล่นข้ามสายโดยใช้ลักษณะของ cycle of fourth ครับ ก็เป็นเพลงบรรเลงในแบบเฉพาะตัวที่ผมว่าผมชอบทำเพลงบรรเลงในลักษณะแบบนี้
" ฝ่าฝัน" นี่เป็นเพลงความรัก แต่เป็นลักษณะผู้ใหญ่หน่อย พูดถึงคนสองคนที่ต้องฝ่าความลำบาก อุปสรรคต่างๆ ก็เป็นความรักไม่ใช่กุ๊กกิ๊กครับ เป็นอะไรที่ซีเรียสจริงจัง แล้วก็เพลงนี้ท่อนโซโลตอนท้ายนี่จะเป็นการอิมโพรไวส์ ผมก็จะนั่งเล่นไปเรื่อยๆในห้องอัด จนกว่าจะพอใจ ก็เป็นเพลงที่ฟังแล้วน่าจะอบอุ่นดี
" อยากรู้" นี่ก็จะเป็นแบบลักษณะฟังค์เข้มข้นเลย คล้ายๆเพลงฟังค์กันเถอะฟังค์ในชุดแรก แต่ว่าเพลงนี้เนื้อเพลง เมโลดี้อาจจะหม่นๆหน่อย เป็นเพลงที่ค่อนข้างยาว ตอนหัวก็จะมีซาวด์เอฟเฟกต์ที่ทำด้วยกีตาร์อย่างเดียวนี่แหละขึ้นมา แล้วก็มีโซโลที่ค่อนข้างกระชับ กัดๆหน่อย แล้วก็มีการเล่น unison ของเบส กีตาร์ กลอง น่าสนใจครับ
guitarthai : คิดว่าจากวันแรกถึงวันนี้ Wizard มีพัฒนาการเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ?
เอ๋ Wizard : ก็ … โตขึ้นนะครับ อย่างในชุดแรกนี่ผมก็ทำงานเองทั้งหมด ก็จะมีเพลงที่โปรดิวเซอร์ช่วยแต่งประมาณ 4 เพลง ที่เหลือผมก็จะแต่งเองหมด แล้วก็เรียบเรียงดนตรีหมด กำหนดทิศทางของ Wizard ว่ารูปแบบดนตรีน่าจะเป็นแบบไหน แต่ว่าสิ่งที่ผมยังไม่สามารถทำในชุดแรกได้ซึ่งในตอนนั้นผมยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการบันทึกเสียงก็คือใน Wizard ชุดแรกผมไม่ได้เล่นเบสิคแทร็คไลฟ์พร้อมกัน แล้วก็ในบางเพลงก็ยังมีการใช้ดรัมแมชชีนมาช่วย ก็เป็นในเรื่องของเวลานะครับ ต่อมาในชุดที่ 2 ผมก็มาโปรดิวซ์งานเอง … อันนี้ก็เป็นข้อแตกต่างล่ะ ผมแต่งและเรียบเรียงเพลงเองทั้งหมด อย่างในชุดที่ 2 นี่เป้าหมายของผมเลยก็คือ เบสิคแทร็คเราจะต้องเล่นพร้อมกัน เพื่อจะให้มันได้ความรู้สึกแบบ Live Recording เหล่านี้ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ผมคิดว่าในชีวิตหนึ่งของการเป็นนักดนตรี ผมอยากจะทำงานอย่างนี้สักชุดหนึ่ง ซึ่งมันก็คงเป็นโอกาสที่ทำได้ยากในปัจจุบัน เพราะเดี๋ยวนี้เรามีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการอัดเสียงเยอะขึ้น แล้วก็คนที่เขาเป็นนายทุน เขาก็ไม่อยากมาเสียเงินกับการบันทึกเสียงที่มันต้องทำงานยุ่งยากขนาดนี้ แต่ว่าผมก็โชคดีที่ได้มีโอกาสทำไปแล้ว … อ้อ … แล้วความแตกต่างอีกอย่างก็คือใน Wizard ชุดที่ 2 ยังมีเพลงบรรเลงเพิ่มเข้ามา มันก็เป็นทิศทางที่กว้างขึ้นของ Wizard แต่โดยส่วนหลักๆของ Wizard แล้วจะเป็นดนตรีในแบบฟังค์กี้ร็อค ผมก็คิดว่ามันเป็นฟังค์กี้ร็อคในแบบของ Wizard และการเติบโตของ Wizard ก็คือเรามีดนตรีในแบบอื่นๆเข้ามาผสมด้วย
guitarthai : งานชุดใหม่เป็นยังไงบ้าง ทำอะไรไปถึงไหนแล้ว ?
เอ๋ Wizard : งานชุดใหม่นี่ผมก็ยังไม่ได้คอนเฟิร์มว่ามันจะเป็นงาน Wizard ชุดที่ 3 คือจริงๆแล้วอยากจะทำโซโลอัลบั้มสักชุดหนึ่ง แต่ก็จะทำ Wizard ชุดที่ 3 ต่อไปด้วย แต่ว่ายังไม่ได้ตัดสินใจว่านี่จะเป็น Wizard ชุด 3 หรือจะเป็นโซโลอัลบั้ม และในงานชุดนี้ก็จะมีเพลงบรรเลงมากขึ้น อาจจะมีเพลงบรรเลงครึ่งหนึ่ง เป็นเพลงร้องอีกครึ่งหนึ่ง คือจริงๆแล้วยังไงผมก็ยังชอบที่จะเล่นเพลงร้องมากกว่า แต่ว่าอย่าง Wizard ชุดที่ 2 นี่เพลงบรรเลงในชุดนั้นถือว่าได้รับเสียงตอบรับที่ดี ดีมากๆ ซึ่งผมก็เลยคิดว่าถ้าทำโซโลอัลบั้ม ก็น่าจะทำเป็นเพลงบรรเลงให้เยอะขึ้น
สำหรับการทำงานตอนนี้ เรื่องเพลงตอนนี้คิดว่ามีเกือบครบทั้งอัลบั้มแล้ว ก็เหลือแต่เรื่องการบันทึกเสียงที่ยังขลุกๆขลักๆ ก็ต้องใช้เวลานิดหนึ่ง คิดว่าน่าจะเสร็จไปแล้ว 60% แต่อย่างที่บอกไปว่าไม่ค่อยมีเวลามาทำ บางวันมีไอเดีย มีฟีลแล้ว แต่ว่าวันนั้นบางทีก็สอนอยู่บ้าง บางทีไปซ้อม ก็หมดเวลาไม่สามารถทำได้ พออีกวัน เป็นวันที่ว่างทั้งวัน ตั้งใจว่าจะลงมือทำ แต่ก็คิดไม่ออก ไม่มีฟีลบ้าง หรืออะไรต่างๆ ก็เลยค่อนข้างยังขลุกขลักอยู่ แต่คิดว่ายังไงปีนี้ต้องได้ฟังแน่ๆ คนที่ยังรอฟังอยู่ก็ขอให้อดใจรอนิดหนึ่ง ยังไงก็เข้ามาติดต่อกันในเว็บไซต์เพื่อจะได้ติดตามข่าวกันต่อไป หรือไม่ก็รอเจอกันตามงานเวิร์คช็อพดนตรี หรือไม่ก็ตามงานที่ Wizard ไปเล่นตามที่ต่างๆ ก็คงได้เจอกัน
guitarthai : คุณเอ๋นี่ถนัดแต่ร็อคอย่างเดียวหรือเปล่า ? หรือว่ามีสไตล์อย่างอื่นด้วย ?
เอ๋ Wizard : คือจริงๆแล้วผมก็ไม่แน่ใจว่าผมถนัดแนวไหน แต่ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายถึงว่าผมเล่นได้ทุกสไตล์นะครับ เอาเป็นว่า พยายามเล่นกีตาร์ อย่างเมื่อก่อนเคยแบบว่าจะฝึกแบบนั้นแบบนี้ แต่ทุกวันนี้จะพยายามคิดว่า "ไม่รู้ล่ะ ไม่ว่ามันจะเป็นแบบไหนไม่สนใจล่ะ" คือผมจะเล่นให้มันเป็นอย่างที่ผมต้องการได้ยินในหัวผม เล่นให้มันเป็นแบบที่เอ๋ Wizard อยากได้ยิน แล้วก็คิดว่าอาจจะมีคนอื่นอยากฟังอะไรในแบบนี้ เพราะฉะนั้นไอ้เรื่องความถนัดนี่ผมไม่แน่ใจว่าผมเป็นมือกีตาร์ที่ถนัดร็อคจริงไหม ? ถ้าถามว่า "ถนัด" นี่ผมไม่แน่ใจ! แต่ว่าถ้าถามว่า "สนใจ" นี่แน่นอนว่ารากของผมเป็นร็อค ผมเริ่มมาจากร็อค ผมก็สนใจในดนตรีร็อค สนใจในดนตรีบลูส์ สนใจดนตรีฟังค์ ซึ่งพวกนี้นี่ผมสนใจและพยายามเอามาใช้กับงาน อย่างดนตรีแจ๊สนี่ผมก็สนใจ แต่ผมไม่เคยศึกษา แต่อาศัยการฟัง ผมฟังแจ๊สมาสามสี่ปีแล้วก็สนใจมาก … ก็เอาเป็นว่าฟังอย่างเดียว ผมพยายามฟังเพลง ฟังเพลงให้เยอะๆ แต่ว่าไม่ได้จำแนก ไม่ได้จำกัดว่าตัวเองต้องเล่นหรือถนัดแบบนี้ ผมก็แค่เล่นในแบบที่ตัวเองต้องการได้ยิน
guitarthai : ทุกวันนี้คุณเอ๋ยังซ้อมกีตาร์อยู่ไหม ?
เอ๋ Wizard : ซ้อมไหม ? ก็ซ้อมบ้างครับ
guitarthai : แล้วมีตารางการซ้อมอย่างไร ? ฝึกกีตาร์อย่างไรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ?
เอ๋ Wizard : อันนี้ตอบยาก … ในสมัยก่อนอยากจะเล่นอะไรก็เล่น อยากแกะเพลงของใครเราก็แกะ อยากจะฝึกอะไรเราก็ฝึก ค่อนข้างจะสะเปะสะปะหน่อย สมัยเรียนดนตรีนี่ก็ไม่ค่อยมีอาจารย์มาบอกว่าควรจะแบ่งเวลาซ้อมยังไง ผมก็คิดเอาเอง บางทีก็อ่านจากนิตยสารต่างประเทศ สังเกตดูจากนักกีตาร์เมืองนอกว่าเขาซ้อมกันยังไง ก็มีอยู่ช่วงหนึ่งหลังจากที่ทำอัลบั้ม Wizard ชุด "พ่อมด" ไปแล้วเนี่ย ผมก็พยายามเริ่มสร้างวิธีการซ้อมของตัวเอง สร้างรูปแบบการซ้อม ก็เหมือนทั่วๆไปคือเช่น วอร์มอัพ ในการวอร์มอัพก็อาจจะแบ่งเป็นมือซ้าย มือขวา หรือการเล่นประสานงานของมือทั้งสองข้าง หลังจากวอร์มอัพก็อาจจะมีการซ้อมเรื่องสเกล ซึ่งสเกลก็อาจจะแบ่งเป็นเรื่องของสเกลแพทเทิร์น แบ่งเป็นเรื่องของการเล่นแบบซีเควนซ์ บางทีก็มาซ้อมเรื่องคอร์ด ก็จะมีเรื่องของการจับคอร์ด หรือบางทีก็จะเป็นเรื่องของการเล่นริทึ่ม บางทีก็ … สิ่งที่ขาดไม่ได้และเป็นสิ่งที่ควรทำมากๆซึ่งผมเองเดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยได้ทำก็คือเรื่องของ Sight Reading หรือการอ่านโน้ต รวมถึงเรื่องการอิมโพรไวส์ ก็ควรจะทำ รวมถึงถ้าคุณสนใจในเรื่องของเทคนิคต่างๆ คุณก็อาจจะแบ่งออกมาเป็นอีกเซ็คชั่นหนึ่งแล้วก็ฝึกไป บางทีถ้าต้องการแกะเพลง ก็จะรวมอยู่ในเซ็คชั่นการซ้อมด้วย
การซ้อมสำคัญนะครับ แต่ทุกวันนี้ผมต้องทำงานหลายอย่าง บางครั้งก็ทำให้เวลาต้องถดถอยลงไป บางทีถ้าเดี๋ยวนี้ผมไม่ได้ซ้อมกีตาร์ ผมก็จะแต่งเพลง อัดเพลง อัดเสียงที่กำลังทำในงานของตัวเอง ซึ่งผมก็ถือเป็นการซ้อมตัวเองไปในตัว รวมถึงบางทีการที่เราสอนก็เป็นการซ้อมตัวเองอย่างหนึ่ง
guitarthai : แล้วเคยเบื่อการซ้อมบ้างไหม ?
เอ๋ Wizard : โอ้ … เป็นประจำครับ ( หัวเราะ)
guitarthai : แล้วคุณเอ๋ทำยังไง ?
เอ๋ Wizard : ก็คิดว่าคือ … จากที่สอนดนตรีมาประมาณ 8-9 ปีนี่นะครับ ผมว่านักดนตรีบ้านเราเนี่ยหาความพอดีไม่ค่อยเจอกัน เด็กๆบางคนที่มาเรียนบางคนซ้อมหนักมาก บางคนก็ไม่ค่อยซ้อมเลย ผมคิดว่าอยากจะให้หาความพอดีให้เจอ อย่างสมมติว่าผมเบื่อ ผมก็จะต้องค้นหาความพอดีให้ตัวเองละ ความพอดีในที่นี้ก็คือว่าต้องถามตัวเองก่อนว่าเราอยากจะซ้อมอะไร ? เราต้องการซ้อมอะไร ? แล้วเราก็ซ้อมในสิ่งที่เราต้องการซ้อม … แต่สิ่งที่สำคัญเลยคือเราต้องให้เวลากับตัวเองด้วย อาจจะออกไปดูหนังกับแฟน ออกไปกินข้าวกับที่บ้าน อาจจะพักผ่อน อาจจะหาเวลามาออกกำลังกาย คือต้องแบ่งการใช้ชีวิตให้มันสมดุลนะครับ … บางทีถ้าเราซ้อมกีตาร์หนักวันละ 8-9 หรือ 10 ชั่วโมง เราอาจจะเป็นมือกีตาร์ที่เล่นเก่ง แต่ว่าสุขภาพเราอาจจะไม่แข็งแรง แต่ผมคิดในมุมกลับกันว่าเราซ้อมกีตาร์ด้วยแต่เราก็ต้องดูแลสุขภาพด้วย ดูแลความสุขของตัวเอง ถ้าเราทำแล้วมันไม่มีความสุข ก็หยุดทำซะ แล้วก็เอาเวลานั้นไปทำอย่างอื่นแล้วค่อยกลับมาทำใหม่ เพราะบางทีการที่เราหยุดทำแล้วกลับมาทำใหม่เนี่ยมันเหมือนกับเราได้ไปรีชาร์จตัวเอง มันจะทำให้เกิดความอยากขึ้น ความเบื่อมันก็จะหายไป เพราะฉะนั้น ถ้าเบื่อก็หยุดเลย ใช้ชีวิตบ้างนะครับ ต้องหัดใช้ชีวิตบ้าง ไม่ใช่ว่าซ้อมแต่กีตาร์อย่างเดียว
guitarthai : การแสดงสดบนเวทีนี่คุณเอ๋คิดว่าอะไรมีส่วนประกอบอะไรบ้างที่สำคัญ ?
เอ๋ Wizard : ส่วนประกอบที่สำคัญของการแสดงสดบนเวทีก็คือ "ความพร้อมของนักดนตรี" ที่จะขึ้นไปเล่นนะครับ จากการที่ผมเคยมีประสบการณ์จากการแข่งดนตรี ไปทัวร์คอนเสิร์ตทั้งในแบบที่เป็นงานของตัวเองหรือจะเป็นงานที่ไปเล่นแบ็คอัพให้เค้าหรือการเล่นในผับ หรือการที่มีโอกาสเป็นกรรมการตัดสินน้องๆในการแข่ง ผมคิดว่า "ความพร้อม" ก่อนที่เราจะเล่นนี่สำคัญมาก มันเป็นการที่เราจะ "ไม่ดูถูก" ทั้งตัวเองและดูถูกทั้งผู้ฟัง เพราะฉะนั้นนักดนตรีต้องเตรียมความพร้อมของตัวเอง นั่นเป็นขั้นแรก
พอหลังจากคุณขึ้นไปเล่นบนเวทีแล้วเนี่ย อุปกรณ์ต่างๆก็ถือว่าต้องเตรียมพร้อมควบมากับการซ้อมของวงด้วย เราก็ต้องเตรียมความพร้อมอุปกรณ์เราให้ดีที่สุด เพราะว่าอุบัติเหตุทุกอย่างเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อย่างเช่น สายขาด ไม้กลองหัก อะไรอย่างนี้ และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือนักดนตรีทุกคนควรจะเล่นกันเต็มที่ ผมมักจะบอกกับตัวเองและบอกกับทุกคนในวงเสมอว่าให้คิดว่าการเล่นในวันนี้เป็นการเล่นครั้งสุดท้ายของคุณ เหมือนกับว่าคุณเล่นวันนี้เสร็จแล้วคุณจะเลิกเล่นดนตรีแล้ว คุณอาจจะไปเป็นนักธุรกิจ อาจจะไปเป็นคนขายเต้าฮวยแล้ว เพราะฉะนั้นโชว์ครั้งสุดท้ายของคุณ คุณต้องเล่นมันเต็มที่สุดชีวิต แล้วการที่เราเล่นเต็มที่สุดชีวิตนี่มันก็จะมีอารม์ ความรู้สึกลงไปในเสียงดนตรีที่เราเล่น แล้วเวลาที่เราเล่นระหว่างคนที่เล่นเก่งมาก โน้ตเยอะมาก แล้วก็ยืนปักหลักเป็นเสาเข็ม กับอีกคนหนึ่งอาจจะเล่นเก่งน้อยลงมาหน่อย โน้ตน้อยลงมานิด แต่ว่าเล่นแล้วสนุกสนาน มีเรื่องราว เล่นแล้วน่าติดตาม มี movement ที่เป็นธรรมชาติออกมาจากความรู้สึกจริงๆ ผมชอบคนที่เล่นแบบหลังนี่มากกว่า คุณก็ลองนึกภาพดู ศิลปินที่คุณชอบทั้งหลายแหล่นี่ไม่มีใครหรอกครับที่เขายืนเป็นมนุษย์ไร้วิญญาณแล้วก็เล่นดนตรีให้คุณฟังแล้วคุณชอบ นึกภาพ Yngwie นึกภาพ Nuno Bettencourt นึกภาพ Eddie Van Halen นึกภาพ Dimebag Darrell นะครับ … ทุกคนล้วนแต่สนุกกับดนตรีที่เขาเล่นแล้วเขาก็สนุกแบบไม่ได้เสแสร้งด้วย ออกมาจากข้างใน เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือคุณต้องหัดที่จะเล่นจากหัวใจของคุณบนเวทีคอนเสิร์ต
guitarthai : ตอนนี้คุณเอ๋มีกีตาร์กี่ตัว มีแอมป์ เอฟเฟกต์อะไรบ้าง ?
เอ๋ Wizard : ผมมีกีตาร์ Washburn N4 ตอนนี้มีอยู่ 3 ตัว Washburn N4 ตัวแรกใช้มาตั้งแต่ปี 1991 แล้ว อีกตัวก็เป็น N4 Paduak อีกตัวเป็น N4 Relic แล้วก็มีกีตาร์ Fender ผมก็จะมี Fender Strat ปี '77 แล้วก็มี Fender Roadhouse แล้วก็ Fender American Fat Strat Texas Special มี Fender Tele แล้วก็มี Fender Deluxe Strat Plus ที่ตอนนี้กลายเป็นกีตาร์ลายเซ็นไปแล้วนะครับ ตัว Deluxe Strat Plus นี่รู้สึกจะเป็นปี '88-89 นี่แหละ
นอกจากนี้ก็มี Gibson Les Paul Standard มี Ovation Legend 1867 แล้วก็มีกีตาร์โปร่ง Yamaha ตัวนี้เก่าแล้วอายุเกือบสามสิบปี กีตาร์ที่ใช้ๆอยู่ก็มีประมาณนี้ครับ
สำหรับแอมป์ก็มี Fender Twin Reverb รุ่นเก่าเลย ก็ค่อนข้างจะ … ก็ตามอายุน่ะนะครับ แล้วก็มีแอมป์ Montarbo นี่ก็เก่าละ แล้วก็มี Fender Hot Rod Deluxe แล้วก็มีพวก Fender ตู้เล็กๆเอาไว้ซ้อม
ส่วนเอฟเฟกต์ก็จะมี Mesa/Boogie V-Twin, SansAmp รุ่นแรกเลย ซื้อมาสิบกว่าปีได้แล้ว มี RAT 2, Phase-90 สีส้ม , Boss Delay, Boss Line Selector, Boss Flanger, Boss Chorus Ensemble, Ibanez Tubescreamer TS9 DX, Reverb ของ ART MR-1, MXR Phaser มี Vox Wah แล้วก็มีวอลลุ่มเท้าของ Ernie Ball/Musicman รวมถึง E-Bow ด้วย E-Bow นี่ใช้ในงานชุดสองเยอะเหมือนกันและในงานชุดใหม่ที่กำลังทำอยู่ก็ใช้ด้วย … อ้อ … แล้วก็มีเครื่องตั้งสายของ Boss TU-12 แล้วก็มีเครื่องตั้งสาย Korg DT-7 Buzz Feiten Tuning System แล้วก็ใช้เอฟเฟกต์บอร์ดของ SKB รุ่น PS25 ครับ
นอกจากนี้ก็มีเอฟเฟกต็แร็คของ Alesis Quaderverb แล้วก็มีปรีแอมป์แร็คของ Marshall JMP-1 แล้วก็มี Toneworks AX-1500G เป็นมัลติเอฟเฟกต์ รวมถึง Pandora ของ Toneworks เป็นอุปกรณ์ไว้ซ้อมและสอน
เท่าที่นึกออกก็มีประมาณนี่แหละครับ
guitarthai : พูดถึงอุปกรณ์ Home Studio ของคุณเอ๋หน่อย
เอ๋ Wizard : ก็มีไม่มากครับ มี Interface ซาวด์การ์ดนี่ผมใช้ M-Audio Delta 66 มีลำโพงมอนิเตอร์แบบเพาเวอร์แอมป์ในตัวของ Yamaha รุ่น MSP5 แล้วก็มีไมก์ Shure SM58 ผมก็จะใช้ปรีแอมป์ของ Marshall และปรีแอมป์ของ Mesa/Boogie V-Twin และใช้ SansAmp เป็นตัวช่วยในการบันทึกเสียงด้วย … ก็ประมาณนี้
guitarthai : วงดนตรีรุ่นใหม่หรือนักดนตรีรุ่นใหม่ที่คุณเอ๋คิดว่าน่าสนใจมีใครบ้าง ? เพราะอะไร ?
เอ๋ Wizard : John Mayer นี่เป็นงานแบบฟังง่ายๆ แต่เป็นงานฟังง่ายๆที่ต่างจากศิลปินทั่วไปหรือเพลงไทยทั่วไปตรงที่ว่า John Mayer เป็นงานป็อบ easy listening ที่ฟังง่ายแต่ว่าแฝงไปด้วยทักษะในการเล่น เป็นเพลงที่ดีและมีการเล่นที่ดี ตรงนี้น่าสนใจมาก ลองดูหรือลองฟังในคอนเสิร์ตก็จะเห็นว่าเขามีการเล่นกีตาร์อคูสติกหรือกีตาร์ไฟฟ้าในสไตล์บลูส์ที่เยี่ยมมาก แถมยังร้องได้ดีด้วย
Alter Bridge ก็ดีครับ คือผมไม่ได้เป็นแฟนวง Creed เท่าไรแต่ว่า Mark Tremoni เขาก็มาแสดงฝีมือใน Alter Bridge แบบเต็มที่เลย ผมฟังแล้วก็ไม่คิดว่าเพลงในแบบ Creed ที่อยู่ในวง Alter Bridge เนี่ยมันจะสูญเสียความเป็นป็อบตรงไหนลงไปในขณะที่เขาโซโลกีตาร์ด้วย ก็ไม่เกี่ยวอะไรเลย ก็ยังคงมีความเป็นป็อบอยู่หรือจะเป็น Incubus นี่ก็ดี ดีมากๆเลย แต่งได้ดี เล่นได้ดี สมเหตุสมผล มือกีตาร์ฝีมือดีนะครับ แต่เขาก็ไม่ได้เล่นออกมาซะจนเพลงเขากลายเป็นแบบฝึกหัด
อีกคนก็ Derek Truck จากวง the Allman Brothers และ Derek Truck Band ถ้าคุณเบื่อการเล่นกีตาร์ที่ซ้ำซากจำเจ ให้ลองหางานของ Truck นี้มาฟัง อาจจะเป็นงานชุด Allman Brothers Live At Beacon Theatre คุณจะได้เห็นและได้ยินการเล่นสไลด์ในสไตล์บลูส์ร็อค นำมาอิมโพรไวส์กันกระจาย แต่ไม่ได้หมายถึงว่าตัวโน้ตเยอะแยะนะครับ ตรงกันข้ามกันคือเป็นตัวโน้ตที่สมเหตุสมผล และยังได้ดู Warren Haynes มือกีตาร์อีกคนเป็นของแถมด้วย Truck ยังเชี่ยวชาญการนำสไลด์มาใช้ในเพลงแจ๊สในงานเดี่ยวของเขาด้วย
guitarthai : สุดท้ายนี้ มีอะไรจะฝากถึงพี่ๆน้องๆกีตาร์ไทยกันบ้าง ?
เอ๋ Wizard : สำหรับกีตาร์ไทยก็ถือว่าเป็นเว็บไซต์ที่มีเรื่องราว มีกิจกรรม มีอะไรที่เคลื่อนไหวที่ค่อนข้างจะละเอียดน่าสนใจ เป็นเว็บไซต์ที่ให้ความรู้กับผู้ที่เข้ามาเที่ยวชม แล้วก็มีสมาชิกเข้ามาเที่ยวชมเยอะ ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องดี ทำให้วงการของบ้านเรามันมีข้อมูล มีการสื่อสารพูดคุยกัน เว็บไซต์นี้และคนที่เข้ามาร่วมกันในการปฏิสัมพันธ์กันตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้วงการดนตรีไทยเรามันก้าวหน้าต่อไปนะครับ ก็อยากจะให้ทุกคนรักษาสิ่งดีๆที่อยู่ในเว็บไซต์นี้ไปเรื่อยๆ แล้วก็ให้ประโยชน์แก่คนที่เข้ามาติดตามต่อไป
ขอขอบพระคุณ พี่เล็ก ศิริพันธ์ เจริญรัถ์ แห่ง 35 Studio ที่เอื้อเฟื้อสถานที่
|
|
|
|