Main Menu
 Home หน้าแรก
 login / สมาชิก
 BuyerBook
 รายการ TV
  คอร์ด / เนื้อเพลง
  วีดีโอ คลิป
  Webboard
  Classifieds
  ข่าวสารดนตรี
  Review & ทดสอบ
  งานคอนเสิร์ต
  บทความดนตรี
  Cools Links
  Artist Gear
 
  About Us

28403
 Jazz     History of Jazz    11/20/2005    Acid Head
Introduction – บทนำ

แจ็สเป็นดนตรีที่นับว่าสร้างความอิสระให้กับตัวผู้เล่นอย่างยิ่ง ดนตรีชนิดนี้ไม่เคยสร้างกฎตายให้กับตัวของเอง มันสามารถพลิกแพลงและเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา นับว่าเป็นดนตรีที่สามารถสร้างความแปลกประหลาดใจให้ทั้งตัวผู้ที่เล่นร่วมกันรวมไปถึงผู้ฟังด้วย และสิ่งพิเศษและแตกต่างอย่างเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ “ แจ็ส ” สามารถนำสไตล์ของตัวเองเข้าไปรวมกับดนตรีสไตล์อื่นๆที่มีอยู่ในโลกนี้

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ไม่ว่ากระแสดนตรีบนโลกนี้จะเปลี่ยนแปลงไปกี่ยุคกี่สมัย จะมีดนตรีแนวใหม่ๆขึ้นอีกซักกี่แนว และคนฟังเพลงจะเปลี่ยนแปลงความชอบไปอีกซักกี่ร้อยครั้ง จนทำให้สไตล์เพลงหลายๆสไตล์ได้ตกยุคตกสมัยไป แต่แจ็สก็ไม่เคยได้ตายตามไปด้วย กระแสของแจ็สยังคงไปได้อย่างเรื่อยๆนิ่งๆและสามารถแฝงตัวเข้าไปได้ทุกยุคทุกสมัยและทุกสไตล์และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดนิ่งแต่อย่างใด

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับสไตล์นี้และไม่มีทางแยกออกจากกันได้แต่อย่างใดคือ “ Syncopation ” การเล่นแบบขืนจังหวะ และ “ Improvisation ” หรือความหมายในภาษาไทยที่เรียกว่า “ การด้นสด ” หรือจะให้เข้าใจถึงความหมายนี้ให้ชัดเจนก็คือ “ การเล่นที่เกิดขึ้นโดยทันที ไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้ามาก่อน ” สิ่งนี้นับว่าเป็นเสน่ห์ที่เกิดขึ้นมาคู่กับดนตรีแจ็สอย่างหนีไม่พ้น การเล่นแบบนี้นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับนักดนตรี เพราะจะต้องมีความพร้อมในทุกเรื่อง นั่นคือผู้เล่นต้องมีทักษะและความรู้ทางเรื่องทฤษฏีเป็นอย่างมาก

ช่วงเวลาที่เกิดดนตรี แจ็ส ขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจนก็คงต้องย้อนกลับไปซักราวๆปี 1985 ซึ่งเกิดจากคนผิวดำหรือชาวแอฟริกาหรือที่เรียกว่านิโกรนั่นเอง และต้นกำเนิดดนตรีสไตล์นี้ที่แท้จริงนั้นต้องยกให้กับดนตรีสไตล์ “ Blues

 

Blues

เมื่อแรกเริ่มนั้นนับตั้งแต่เหล่าบรรดานักโทษผิวดำชาวแอฟริกันนั้นย่างก้าวเข้ามาสู่ดินแดนเสรีภาพ พวกเข้าก็นำศิลปะ,วัฒนธรรมเข้ามาเผยแพร่ด้วย เดิมทีเดียวดนตรีของพวกคนดำนั้นจะออกเป็นพวกเพลงร้องสวดหรือเพลงที่ใช้ร้องในทางศาสนาซะมากกว่าหรือที่เรียกว่า Gospel

ศิลปะชิ้นงานชิ้นนี้นั้นใช้วิธีสืบทอดต่อกันมาโดยวิธีการที่เล่าหรือว่าร้องให้ฟังแบบปากต่อปากรุ่นต่อรุ่น ดนตรีชนิดนี้นั้นส่วนใหญ่เนื้อหาก็เป็นเรื่องของการบรรยายถึงความลำบากลำบนของชีวิตนักโทษหรือทาสที่โดนกดขี่ข่มเหงอยู่ตลอดเวลา โดยที่พวกคนงานหรือแรงงานในไร่ทั้งหลายมักจะใช้เวลาหลังเลิกงานมานั่งร่วมกันร้องเพลงเพื่อระบายความเครียด โดยเครื่องดนตรีเบื้องต้นที่นำมาเล่นส่วนใหญ่ก็เป็นอะไรก็ได้ที่อยู่ใกล้ตัว หรือโดยมากจะเป็นเครื่องดนตรีราคาถูกซะมากกว่า และด้วยความที่ไม่มีการเรียนรู้ในเรื่องของทฤษฎีดนตรีอย่างถูกต้องและจริงจัง จึงทำให้สิ่งที่เล่นออกมานั้นเสียงและท่วงทำนองมักจะออกทางเพี้ยนๆและมั่วแต่มันกลับสร้างความสุขอย่างมหาศาล

และในเวลาต่อมาเมื่อยุคสมัยเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงไป อะไรหลายๆอย่างก็มีการพัฒนาเช่นเดียวกันกับบลูส์ที่พัฒนาไปเป็นดนตรีที่มีคนฟังนิยมไม่แพ้กันเลย อีกทั้งเมื่อเริ่มต้นมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาบลูส์ก็เริ่มเข้าสู่รูปร่างของการค้ามากขึ้น นั่นหมายความว่าเริ่มมีการอัดและบันทึกเสียงเพื่อการค้า และนักดนตรีบลูส์คนแรกที่ต่างก็มีคนเรียกว่าเป็น “ บิดาแห่งบลูส์ ” นั่นก็คือ W.C Handy เขาผู้นี้ได้แต่งเพลงเยี่ยมๆเอาไว้อย่างมากมาย โดยที่ปัจจุบันยังเป็นที่นิยมอยู่ไม่ว่าจะเป็นเพลง Beale Street Blues,Yellow Dog Blues หรือ ST.Louis Blues เป็นต้น

และเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายๆปี 1920 ย่างเข้า 1930 ก็ได้ปรากฏนักดนตรีแนวบลูส์ที่น่าจะเรียกว่าเป็นคนบลูส์ที่หัวก้าวหน้ากว่าคนอื่นๆนั่นคือ Lonnie Johnson ซึ่งเขาเป็นมือกีต้าร์ที่มีแนวทางที่รับเอาไอเดียใหม่ๆมาใช้กับตนเองเสมอ และเขาผู้นี้ก็ได้เป็นแรงบัลดาลใจและมีอิทธิพลต่อมือกีต้าร์คนหนึ่งซึ่งปัจจุบันนั้น แม้ว่าตัวจะตายไปแล้วแต่ชื่อเสียงของเขาก็ยังคงอยู่และเป็นมือกีต้าร์ที่คนต่างยอมรับเข้าขั้นเทพอีกคนนั้นคือ Robert Johnson นั่นเอง และในสายของบูลส์นั้นก็ยังคงพัฒนาสืบต่อมาเรื่อยๆ จากคนผิวดำรุ่นต่อรุ่นจนส่งผลต่อคนผิวขาว ซึ่งดนตรีแนวนี้ก็สร้างนักดนตรีดังๆขึ้นมาหลายคนเช่น T – Bone Walker ,Albert King ,B.B King , Mudy Water ,Jimie Hendrix ,Eric Clapton ,Stevie Ray Vaughn , Robben Ford หรือจะเป็นรุ่นใหม่อย่าง Jonny Lang ,Kenny Wayne Shepherd

ดนตรีบลูส์เองนั้นก็มีการพัฒนาการสืบต่อกันมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังขึ้นชื่อว่าเป็นดนตรีที่นิยมกันในเฉพาะในหมู่คนดำ และในขณะเดียวกันนั้นก็ยังมีอีกมุมหนึ่งที่เป็นนักดนตรีผิวดำก็นำบลูส์ไปพัฒนาในเรื่องของจังหวะ โดยระยะแรกนักดนตรีกลุ่มนี้ต่างเรียกสไตล์ที่พัฒนาขึ้นมานั้นว่า Ragtime

 

Ragtime & Dixieland

เมื่อมีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องของดนตรี ก็เริ่มมีการพัฒนาการของเรื่องจังหวะมากขึ้น ดังนั้นแนวดนตรีที่ถูกเรียกว่าแจ็สเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปี 1985 โดยเริ่มต้นนั้นก็ได้พัฒนาทางเดินคอร์ดมาจากบลูส์ และเริ่มมีการเขียนแบบฟอร์มหรือโครงสร้างของบทเพลง เริ่มแรกนั้นดนตรีสไตล์นี้ถูกเรียกว่า Ragtime โดยสไตล์เพลงแบบนี้จะเล่นโดยวงที่มักใช้คนเล่นจำนวนเยอะอย่างวงมาร์ชหรือวงออเคสตร้า เป็นต้น โดยบทเพลงที่เล่นมักจะมีการเตรียมตัวกันไว้ล่วงหน้า และไม่การอิมโพรไวส์เกิดขึ้นแต่อย่างใด โดยที่เพลงประเภทนี้มักจะมีการเล่นก็ต่อเมื่อมีงานรื่นเริงหรือว่างานศพ

นักดนตรีคนสำคัญๆที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ก็คงจะหนีไม่พ้นชื่อของ Scott Joplin เขาผู้นี้ได้แต่งเพลงที่เป็นมรดกอันล้ำค่าแก่คนรุ่นหลังไว้อย่างมากมาย เพลงดังๆของเขาก็มี Maple Leaf Rag และ The Entertainer เป็นต้น

ดนตรีจังหวะแร็กเริ่มเป็นที่นิยมอย่างสูง โดยเฉพาะทางตอนใต้ของเมริกาที่เรียกว่านิวออร์ลีน ( New Orleans ) เมื่อย่างเข้าสู่ต้นปี 1900 ที่นี่ก็เริ่มมีการพัฒนาการของดนตรีด้วยเช่นกัน เป็นที่รู้กันดีว่านิวออร์ลีนเป็นเมื่องที่รวมคนเอาไว้หลากหลายเชื้อชาติ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนดำและพวกที่มีเชื้อสายผสมมากกว่า อีกทั้งคนดำบางคนก็เคยเป็นนักดนตรีในวงมาร์ชมาก่อน อีกทั้งในเมืองนี้มีสถานเริงรมอย่างมากมายและมีดนตรีให้เลือกฟังอย่างแพร่หลายจึงทำให้นิวออร์ลีนกลายเป็นแหล่งที่รวบรวมเอาวัฒนธรรมทางดนตรีไว้เป็นอย่างมาก หรืออาจจะเรียกเมืองนี้ว่าเป็นแหล่งกำเนิดดนตรีแจ็สอย่างแท้จริงและเป็นทางการเลยก็ได้

ระยะแรกๆนั้นเรียกดนตรีชนิดนี้ว่า New Orleans Jazz ซึ่งเป็นสไตล์ที่ถูกพัฒนาจากนักดนตรีที่มีความรู้และเล่นสไตล์แร็กมาก่อนนั่นเอง แต่เป็นการนำมันมาพัฒนาเป็นสไตล์ที่ชัดเจนมากขึ้น สไตล์ดนตรีชนิดนี้มักจะเน้นไปที่วงที่เน้นเรื่องของริทึ่ม สมาชิกในวงก็จะประกอบด้วยเครื่องดนตรีอย่าง กลองชุด,เปียโน ,กีต้าร์,ดับเบิ้ลเบส และพวกเครื่องดนตรีที่ใช้โซโล่ก็มีพวกเครื่องเป่าอย่าง คาริเน็ต , ทรอมโบนหรือคอร์นเน็ตเป็นต้น โดยที่เหล่าบรรดาเครื่องเป่านั้นมีหน้าที่ในการอิมโพรไวส์แบบทีมเวิร์ค นั้นหมายถึงจะต้องเล่นให้ตรงตามกับโน็ตที่เจ้าของเพลงได้ประพันธ์ขึ้นมา ต่อมาเมื่อมีการแพร่หลายของดนตรีสไตล์นี้มากขึ้นจนเป็นที่นิยมในหมู่คนผิวขาว เหล่าบรรดาคนขาวทั้งหลายจึงได้มีการเรียกชื่อสไตล์นี้ขึ้นมาใหม่จากเดิมคือ New Orleans Jazz เป็น Dixieland อย่างที่รู้จักกันดี

 

Swing Era & Big Band (1920 – 1940)

ต่อมาหลังจากที่สไตล์ New Orleans Jazz ได้รับความนิยมอย่างสูง และช่วงเวลานี้ก็เริ่มมีการพัฒนาสไตล์และจังหวะของดนตรี จังหวะที่เรียกว่าสวิงถูกพัฒนาให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนมากขึ้น เริ่มมีการขืนจังหวะมากขึ้น (Syncopation) และการนับแบบ 2/4 เริ่มเป็นภาพเด่นชัด และวงดนตรีจะเริ่มมีการใช้สมาชิกเพิ่มขึ้น ส่วนมากจะมีคนเล่นประมาณ 10 -12 คน หรือบางครั้งจะมีมากกว่านั้นก็ได้ โดยที่สมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นผู้เล่นเครื่องเป่าซะมากกว่า ในส่วนของกีต้าร์นั้นแทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย นอกจากจะใช้ตีคอร์ดเพียงอย่างเดียว หน้าที่ของวง Big Band นั้นอาจแบ่งได้ดังนี้ ในส่วนของ RHYTHM คือ PIANO, BASS, DRUMS และ GUITAR และส่วนของ BRASS ก็มี TRUMPET กับ TROMBONE ส่วน SAXOPHONE ก็มี ALTO, TENOR และ BARITONE

เสน่ห์ของวง Big Band นั่นอยู่ที่ส่วนของริทึ่มของเหล่าบรรดาเครื่องเป่าทั้งหลาย ที่คอยให้จังหวะรับส่ง เล่นทำนอง ที่เริ่มจากค่อย ๆ แล้วดังขึ้นเรื่อย ๆ สร้างอารมณ์ และจะมีคนโซโล่ออกมาเล่นเดี่ยว ซึ่งบุคคลผู้นั้นจะได้รับเกียรติ์อย่างยิ่งจากหัวหน้าวง ราวกับว่าตำแหน่งของเขาคือ มือโซโล่มือหนึ่งของวง

วง Big Band เริ่มเป็นที่นิยมในวงกว้างขึ้น แต่ละวงเริ่มมีงานมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจในอเมริกากำลังเฟื่องฟู ตามเมืองต่างๆมีสถานท่องเที่ยวในยามค่ำคืนเกิดขึ้นอย่างมากมาย ดังนั้นปี 1917 น่าจะเริ่มต้นเป็นปีทองของแจ็สยุคใหม่ที่เรียกว่า Swing

 

New Orleans To Chicago & New York

ขณะที่ชาวเมืองต่างๆเริ่มมีความสุขอย่างยิ่งกับการท่องเที่ยวและเสพดนตรี ช่วงเวลาในปีเดียวกันนั้น (1917) ก็ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขึ้น จากเหตุการณ์ครั้งนี้เองทำให้อะไรหลายๆอย่างในโลกมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง รวมไปถึงวงดนตรีอย่าง Big Band

เมื่อเมืองสำคัญอย่าง New Orleans กลายเป็นเมืองแห่งจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ทำให้ผู้คนต่างพากันอพยพ โดยแยกย้ายกันไปอยู่ที่ต่างๆ และคนส่วนใหญ่ก็ได้ย้ายมาที่ Chicago และ New York นั้นก็หมายความว่าดนตรีแจ็สเริ่มที่จะผลิดอกและผลอีกครั้ง

 

- Chicago

ในส่วนของ Chicago นั้นก็ได้เป็นเมืองที่มีสถานท่องเที่ยวยามค่ำคืนเกิดขึ้นมา

อย่างมากมาย และครั้งนี้ยังมีวง Big Band เยี่ยมๆที่อพยพตามมาเพื่อมาสร้างชื่อเสียงที่อีกทั้งยังมีนักดนตรีฝีมือดีๆมากมายเกิดขึ้น อีกทั้งยังรวมไปถึงนักร้องอีกด้วย วงดนตรีที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ก็คงจะเป็น วงของ Benny Goodman , King Oliver และนักประพันธ์เพลงที่เป็นหัวหน้าวงอีกคนที่มีชื่อในยุคนี้ก็คงหนีไม่พ้น Ferdinan “ Jelly Roll ” Morton เขาเป็นนักดนตรีอีกท่านหนึ่งที่มาพร้อมกับพรสวรรค์ทางเสียงดนตรี

นักดนตรีที่เรียกว่าเป็นนักปฎิวัติการเล่นอีกคนคงจะต้องให้เครดิตกับเขาผู้นี้ Louis Armstorng เดิมทีเดียวเขาเป็นลูกวงของ King Oliver และเขาก็เป็นมือโซโล่ด้วยเช่นกัน และเมื่อความหน้าเบื่อของการโซโล่ที่ไม่เคยได้สร้างความอิสระให้กับเขา เพราะทุกครั้งจะต้องโซโล่ไปพร้อมกันกับเครื่องดนตรีชิ้นอื่น Louis จึงเปลี่ยนระบบใหม่เมื่อถึงท่อนกลางเขาจึงยืนขึ้นเพื่อโซโล่เดี่ยวแทน เมื่อเป็นเช่นนี้การอิมโพรไวส์จึงน่าจะเป็นการอิมโพรไวส์อย่างแท้จริง Louis Armstorng นับว่าเป็นบิดาคนสำคัญอีกหนึ่งท่านสำหรับคนแจ็ส

 

- New York New York

ย้อนกลับมาอีกทีหนึ่งที่เป็นแหล่งบ่มเพาะดนตรีแจ็สที่สำคัญ คนบางส่วนก็ได้ย้ายไปอยู่ Chicago บ้างก็ไป L.A ( Los Angeles ) แต่บางส่วนก็ขอสมัครใจที่มาสร้างเนื้อสร้างตัวปักหลักที่ New York เช่นกัน

จุดเริ่มต้นของกระแสดนตรีแจ็สที่นี่ก็ไม่ได้ต่างอะไรนักกับที่ Chicago แจ็สที่นี้ก็เริ่มต้นในสถานบันเทิงและตามย่านฮาร์เร็มทั้งหลาย นักดนตรีและเจ้าของวงชื่อดังใน New York คือ Duke Ellington นั่นเอง

ดนตรีทั้งสองฝั่งไม่ว่าจะเป็นทั้ง New York หรือ Chicago ก็ดีต่างก็กระจายรากฐานของดนตรีแจ็สออกไปในวงกว้าง แต่หากสถานที่ที่แจ็สเริ่มตั้งรากฐานได้อย่างมั่นคงก็คงจะต้องนกให้เป็น New York อย่างแน่นอน เพราะที่นี่เริ่มที่จะเป็นเมืองหลวงของอเมริกาไปเรียบร้อยแล้ว และช่วงเวลาที่เด่นชัดในการพัฒนาของสวิงนั่นคือปี 1930 – 1940 นั่นเอง

 

Be – Bop (1940 -1950)

เมื่อเวลาแห่งความสนุกและรื่นรมย์แห่งดนตรี Big Band กำลังดำเนินมาเรื่อยๆ และเป็นกระแสหลักแห่งดนตรีในยุคนั้น ปัญหาหนึ่งที่ค้างคามานานท่ามกลางในวงดนตรี Big Band ต่างๆ นั้นคือปัญหาเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันของคนดำและคนขาวที่ต้องเล่นร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเงินค่าจ้างที่คนดำได้น้อยกว่าหรือการบริการที่ให้กับคนขาวมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นก็มีนักดนตรีกลุ่มหนึ่งที่เริ่มเบื่อระบบการทำงานในกลุ่มคนหมู่มากเช่นนี้ มันจึงเป็นเหมือนกับปัญหาที่สะสมมานานเพื่อรอวันระเบิด

และเมื่อวันเวลาที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดอีกอย่างที่เริ่มแสดงให้เห็นถึงนัยยะว่าแนวดนตรี Big Band กำลังถึงจุดตกต่ำนั่นคือ สไตล์ของดนตรีนั่นเองที่เริ่มเป็นตัวทำลายตัวเอง เพราะทุกครั้งที่วง Big Band ขึ้นเล่นก็จะเล่นในรูปแบบและมีฟอร์มที่เตรียมตัวมาเป็นอย่างดีและเป็นประจำทุกครั้ง ก็เลยเป็นเรื่องที่ไม่น่าตื่นตาตื่นใจเท่าไหร่สำหรับคนที่ดูมาเป็นประจำ ดังนั้นเมื่อย่างเข้าสู่ช่วงกลางปี 1940 ดนตรี Big Band ก็ก้าวมาถึงทางตัน

ในขณะเดียวกันนั้นมีคลับยามค่ำคืนหลายแห่งก็มักจะเปิดช่วงเวลาพิเศษที่เรียกว่า After Hours ขึ้นมา ช่วงเวลานี้จะเป็นที่รู้กันในระหว่างนักดนตรีที่หัวก้าวหน้าทั้งหลาย ที่เบื่อกับดนตรีแจ็สในยุคปัจจุบัน ทุกคนมักจะมารวมตัวพูดคุยถึงดนตรีแจ็สและมักจะหาแนวทางใหม่ๆในการเล่น จนกระทั้งมีการปรากฎตัวของชายหนุ่มไฟแรงทั้งคู่ นั่นคือ Charlie Parker และ Dizzy Gillespie ที่มาร่วมเล่นด้วย

และคลับหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือ Milton 's Playhouse ซึ่งได้มีการจัด jam session ทุก ๆ วันจันทร์โดยจัดให้มีการแจมกันกับวงประจำของทางร้านซึ่งมีนักเปียโนประจำคือ Thelonious Monk และ มือกลองคือ Kenny Clarke นักดนตรีที่มาร่วมแจมเป็นประจำก็เป็นนักทรัมเป็ต Dizzy Gillespie และ มือแซ็ก Charlie Parker

ลีลาและสำเนียงของทั้งคู่นั้นต่างจากนักแซ็กโซโฟนหรือมือทรัมเป็ตทั้งหลาย ทั้งคู้เต็มไปด้วยสำเนียงที่เกรียวกราดและรวดเร็ว มีโน็ตหลายๆโน็ตที่เล่นออกมามีท่วงทำนองที่เเปร่งหู เรียกว่าหากใครได้ฟังต้องหันมองอย่างทึ่งทีเดียว

พวกเขาทั้งคู่มักจะชอบตั้งวงในขนาดเล็กที่ต่างจากวงอย่าง Big Band ราวฟ้ากับดิน วงดนตรีของทั้งคู่นั้นมักจะมีสมาชิกเพียง 5 คนเท่านั้น โดยที่ตำแหน่งผู้เล่นจะมี แซ็กโซโฟน , ทรัมเป็ต ,เปียโน ,เบส และกลองเป็นเครื่องดนตรีหลัก ในส่วนของทางคอร์ดที่รองรับเพลงเหล่านี้ก็มักที่จะเป็นทางคอร์ดที่ซับซ้อนพอสมควรจนบางครั้งอาจจะมีการเปลี่ยนคีย์เพลงหลายคีย์ในเพลงเดียว และมักจะมีการเปลี่ยนคอร์ดที่ถี่มากๆ เช่นในหนึ่งหองมักจะมีคอร์ดที่เปลี่ยนอย่างน้อยสองคอร์ด อีกทั้งเมื่อถูกนำไปเล่นในสปีดที่ไม่ต่ำกว่า 180 – 200 ขึ้นไป (บางเพลงอาจจะถึง 240 -260 หรือมากกว่านั้นก็เป็นได้) จึงเป็นความยากที่น่าท้าทายอย่างยิ่งสำหรับนักดนตรีหัวก้าวหน้าทั้งหลาย แต่สำหรับนักดนตรีหัวโบราณต่างมองว่าเป็นดนตรีที่ไรสาระและแหกขนบธรรมเนียมอย่างยิ่ง แม้กระทั่ง Louis Armstrong เองก็เคยพูดถึงบีบ็อบว่าบีบ็อบนั้น “It had no melody to remember and no beat to dance to”

แต่ดนตรีสไตล์นี้กลับได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะนักดนตรีหัวก้าวหน้าทั้งหลายและพวกนักศึกษาที่เรียนดนตรีอย่างจริงจัง และชื่อเสียงของ Thelonious Monk ,Dizzy Gillespie และ Charlie Parker จึงเป็นที่รู้กันว่าพวกเขาทั้งสามได้ปฎิวัติแนวดนตรีขึ้นมาใหม่ขึ้นมาบนโลกแล้ว ซึ่งได้ถูกขนานนามว่า Be – Bop นั้นเอง

Cool & Hard Bop & Modal Jazz (1940 -1960)

- Cool Jazz 1947

เมื่อยุคที่ Be Bop กำลังเจริญงอกงาม ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นของกลางปีทศวรรษที่ 40 – 50 ก็มีนักดนตรีกลุ่มหนึ่งที่เคยผ่านการเล่นฺ Bop มาแล้วและอยากหาแนวทางการเล่นใหม่ๆให้กับตนเอง ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นแนวที่ต่างจาก Be Bop อย่างสิ้นเชิง ขณะที่ Bop เล่นกันอย่างรวดเร็วราวกับไฟที่กำลังโหมขึ้นอย่างรุนแรง ดนตรีแนวใหม่นี้กลับเหมือนน้ำแข็งที่เย็นสุดขั่ว ดนตรีแนวใหม่นี้ถูกเรียกว่า Cool Jazz

Cool Jazz เป็นสไตล์ที่เปิดช่องว่างให้กับนักดนตรีได้เล่นอย่างอิสระ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องรีบร้อนหรือดุดันอย่าง Be Bop ทางเดินของคอร์ดนั้นใช้คอร์ดได้น้อยมากและลดสปีดให้ช้าลง มีช่องว่างให้ผู้เล่นได้หายใจและมีเวลาคิดมากขึ้นในการอิมโพรไวส์ เป็นเพลงที่มีการเรียบเรียงเสียงประสานไว้ก่อน และมักใช้เครื่องดนตรีที่เข้ามาเสริมแตกต่างไปจากแจ๊สยุคก่อน ๆ เช่น ฟูเกิลฮอร์น ฟลุ๊ต และเชลโล ดนตรีแนวนี้นิยมเล่นกันในหมู่กว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบ West Coast และกลุ่มคนผิวขาวทั้งหลาย ศิลปินในยุคนี้ศิลปินก็มี LesterYoung, Stan Getz , Gerry Mulligan,Dave Brubeck,Chet Baker เป็นต้น และหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงที่พัฒนาสไตล์นี้ที่เห็นภาพเด่นชัดมากที่สุดก็คือ Miles Davis และเขาได้สร้างอัลบัมชุดประวัติศาสตร์ของดนตรีแนวนี้ขึ้นมาก็คือชุด Birth Of Cool นั้นเอง

 

Hard Bop (1955)

แม้ว่ากระแสของ Cool Jazz จะเข้ามาปกคลุมและเป็นที่นิยมเล่นสำหรับชาว West Cost ทั้งหลาย แต่ช่วงเวลาที่ไม่ทิ้งห่างกันมากนักก็ยังคงมีนักดนตรีใน New York ที่เป็นพวกอนุรักษ์นิยมและศรัทธาในแนว Bop อยู่ ส่วนใหญ่มักจะเป็นเหล่าคนดำ พวกเขาไม่ได้ละทิ้งแต่อย่างใด แต่กลับนำมันไปพัฒนาขึ้นมาเป็นสไตล์ใหม่ พวกเขานำเอาสไตล์ของจังหวะที่แตกต่างกันม่ว่าจะเป็น R&B,Soul,Funky รวมไปถึง Gospel เป็นต้นมาผสมกับการเล่นแบบ Bop

ดังนั้น Hard Bop จึงมีจังหวะที่หนักหน่วงและร้อนแรงแบบบ็อบผสมกับจังหวะที่แปลกใหม่ของดนตรีสไตล์ต่างๆ ทั้งผู้เล่นและผู้ฟังต่างก็มีความสุขและสนุกกับมันเป็นอย่างมาก นักดนตรีที่เล่นในสไตล์นี้ก็มี Art Blakey , Cannonball Adderley , Horace Silver, Wayne Shorter, Lee Morgan, Freddie Hubbard, Hank Mobley, Cedar Walton หรือแม้กระทั่งตัวของ Miles Davis เองก็มีงานชั้นยอดในแนวนี้ออกมาอย่างมากมายด้วย

 

Modal Jazz

เมื่อย่างเข้าสู่ช่วงปลายของทศวรรษ 50 นักดนตรีทั้งหลายก็เริ่มต้นค้นหาเส้นทางใหม่ๆของแจ็ส เพราะด้วยแนวทางเดิมๆที่ได้มีอยู่นั้นเริ่มเป็นเรื่องที่ออกจะน่าเบื่อเกินไปซะแล้ว ดนตรีที่เคยอิมโพรไวส์กันเร็วจี๋อย่างบีบ็อบก็เป็นแค่การไล่ตามคอร์ดที่คอยเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาให้ทันเท่านั้น แม้จะดร็อปจังหวะลงมาเป็นคูลแล้วก็เป็นเพียงแค่การเล่นที่ให้ความรู้สึกสบายไม่ต้องรีบร้อนอะไรมาก เมื่อเห็นดังนั้นแล้วบุคคลที่เรียกว่าเป็นผู้บุกเบิกดนตรีแจ็สก็คงจะหนีไม่พ้น Miles Davis อย่างแน่นอน เขาและ John Coltrane ได้รวมทีมในยุคใหม่ขึ้นมาซึ่งได้แกนนำตัวสำคัญที่เป็นฟันเฟืองที่ทำให้เกิดเป็นสไตล์ Modal Jazz ขึ้นมาได้ก็คือยอดนักเปียโนอย่าง Bill Evans

Bill เป็นคนแจ็สที่ไม่ได้เล่นรวดเร็วหรือหวือหวาแต่อย่างใด แต่เขาเป็นคนที่เล่นรองรับและหนุ่นให้เครื่องดนตรีอื่นๆมีความโดดเด่นได้เป็นอย่างดี เมื่อเห็นเป็นดังนี้ Miles จึงได้ทำการทดลองโดยการที่ลดและตัดทอนคอร์ดที่เยอะเพื่อให้เกิดช่องงว่างสำหรับนักดนตรีที่อิมโพรไวส์และที่สำคัญเขาเล่มใช้เสียงประสานจากโหมดหรือบันไดเสียงจากเสกลต่างๆมาใช้ในงานเพลงเพื่อให้เกิดเสียงใหม่ๆขึ้นมาและเกิดความอิสระกับความคิดของผู้เล่นมากขึ้น ดังนั้นจึงเกิดมาเป็นผลลัพธ์ในอัลบัม Kind Of Blues ซึ่งจากวันนั้นจนวันนี้อัลบัมชุดนี้ยังคงเป็นอัลบัมที่นักดนตรีทั่วโลกยังคงศึกษากันเป็นอย่างมาก

 

Bossa Nova

ดนตรีในแนวบอสวาโนว่านั้นอาจจะผิดแปลกจากแจ็สที่เกิดขึ้นในอเมริกาที่มีมาทั้งหมด นั้นเพราะบอสวาโนไม่ได้เกิดขึ้นในอเมริกานั้นเอง แต่บอสวาโนเป็นดนตรีทางพื้นเมืองของชาว บลาซิล และบอสวาโนเป็นดนตรีที่มีอายุเก่าแก่มาก

ในช่วงต้นๆของยุค 60 นั้น ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาต้องการที่จะส่งนักดนตรีในประเทศไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะแถบละตินอเมริกา เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน และนักดนตรีที่ได้ชักนำเอาบอสซาโนว่าเข้ามาก็คือ Stan Getz นั้นเอง เพราะเขาได้ไปพบนักดนตรีชื่อดังอย่าง Joao Gilberto ,Antonio Carlos Jobim สองแกนนำที่คิดค้นดนตรีบอสซาโนว่าขึ้น ต่อทั้งในอเมริกาและตามแถบละตินอเมริกาต่างก็นิยมเล่นดนตรีแนวนี้เป็นอย่างมาก

 

Third Stream

ย้อนกลับมาช่วงยุค 50 อีกครั้ง ขณะที่แนวทางของแจ็สกำลังรุดหน้าออกไปหลายๆสาย ก็ยังมีนักดนตรีที่เติบโตมาจากการได้รับอิทธิพลและการฝึกฝนบทเพลงมาอย่างโชกโชน แต่ก็มีใจรักในดนตรีแจ็สเช่นกัน นักดนตรีกลุ่มนี้ต่างก็ได้ทำงานทดลองออกมาในแนวที่มีการผสมผสานดนตรีคลาสสิกและแจ็สเข้าไป ทำให้โลกของดนตรีแจ็สยิ่งเพิ่มสไตล์ที่หลากหลายมากขึ้นไปอีก นักดนตรีคนสำคัญของสไตล์นี้และอีกทั้งยังเป็นบุคลที่ชาวอเมริกันให้เกียรติ์ และยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของชาติอเมริกาไปแล้วนั่นคือ George Gershwin

งานเพลงที่แต่งโดยเขานั้นสื่อให้เห็นถึงความตั้งใจอย่างชัดเจนว่าแจ็สและคลาสสิกสามารถเข้ากันได้ จะเห็นได้จากเพลง Rhapsody in Blue ที่มีความหมายโดยนัยยะว่ามาจากคลาสสิกและแจ็ส และอีกคนที่ขาดไม่ได้เลยก็เห็นจะเป็น Miles Davis เช่นกัน

Miles เองก็ได้ทำงานเพลงรวมกับนักแต่งเพลงและนักเรียบเรียงเพลงรวมไปถึงเป็นคอนดักเตอร์ในวงออเคสตร้าอย่าง Gil Evans อีกด้วย ผลงานที่ Miles ร่วมกับ Gil นั้นส่วนใหญ่จะเป็นงานที่มีวงออเคสตร้าขนาดใหญ่รองรับอยู่ของหลัง และยังถูกเรียบเรียงเสียงประสานเป็นอย่างดี

Avant Garde – Free Jazz ( 1960 )

หลังจากที่เกิดสไตล์ Modal Jazz ขึ้นมาแล้ว จากเดิมที่ดนตรีจะต้องให้ความสนใจในเรื่องของ Tonal หรือว่าโทนรวมของเพลงที่ยังต้องยึดคีย์เพลงเป็นหลักแม้จะมีการเปลี่ยนคอร์ดที่พิสดารเพียงใดก็ตาม ก็ยังคงต้องอยู่ในกรอบและโครงสร้างของเพลงอยู่ แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็ยังมีนักดนตรีอีกกลุ่มหนึ่งที่ผ่านพ้นจุดเหล่านี้มาอย่างโชกโชนก็เริ่มหาเส้นทางใหม่ๆให้กับตนเอง คนดนตรีเหล่านี้ไม่สนเรื่องของ Tonal แต่อย่างใดเพราะพวกเขาพุ่งความสนใจไปที่ Atonal หมายความว่า ดนตรีที่ไม่สนเรื่องของคีย์เพลงหรือเสียงที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของดนตรีแต่อย่างใด สิ่งที่เป็นความสนใจใหม่ที่เข้ามาก็คือเรื่องของ “ จังหวะ ” และ “ อารมณ์ ”

อะไรก็ตามที่ขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวะ ไม่ว่าจะเป็นจังหวะที่มาจากทางตะวันออกหรือว่าจังหวะจากแอฟริกันหรือพวกเวิล์ดมิวสิก พวกเขาต่างก็นำมันมาเป็นสัดส่วนในการทดลองสไตล์เพลงแนวใหม่นี้ด้วย และสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขาเลยก็คือการเล่นที่ออกมาจากอารมณ์หรือจากจิตใต้สำนึกล้วนๆ หรือจะกล่าวว่าเป็นดนตรีเปิดทุกอย่างให้เป็นอิสระก็ได้เช่นกัน

แจ็สในรูปแบบใหม่นี้อาจเป็นเรื่องยากมากในการที่จะเข้าถึงมัน หลายๆคนก็ต่อต้านมันแต่อีกหลายคนก็ซึมซับมันอย่างอิ่มเอมราวกับเป็นงานศิลปะในแนว Abstract ชั้นเยี่ยม ทั้งนี้ทั้งนั้นแจ็สในแบบ Avant Garde – Free Jazz ผู้ฟังต้องอาจมีพื้นฐานทางดนตรีแจ็สหรือผ่านการฟังแจ็สมาพอสมควร เพื่อจะได้รับรู้กับอารมณ์ของผู้เล่น

นักดนตรีที่โดเด่นในยุคนี้ก็คือ Ornette Coleman , John Coltrane , Albert Ayler ,Cecil Taylor เป็นต้น

 

Fusion (1970)

เมื่อย่างเข้าช่วงปลายยุค 60 กระแสดนตรีหลักที่มาแรงเป็นอย่างยิ่งเลยก็คือแนวเพลงร็อก ดนตรีร็อกถูกแพร่กระจายไปอย่างแพร่หลายหนุ่มสาวยุคบุปผาชนต้องการการแสดงออกถึงความอิสระเสรีทางความคิดของปัจเฉกบุคคล ทุกคนต่างใช้การแสดงออกผ่านเสียงเพลง นักดนตรีอย่าง Jimi Hendrix , The Who , The Beatles , Bob Dylan ต่างก้าวขึ้นมาเป็นแรงบัลดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ๆอย่างมากมาย แม้กระทั้งนักดนตรีแจ็สหัวก้าวหน้าอย่าง Miles Davis ที่กำลังต้องการหาแนวทางใหม่ๆให้กับดนตรีของเขา ซึ่งขณะนั้นเขากำลังสนใจดนตรีของ James Brown และดนตรีจังหวะร็อกต่างๆ

ณ ช่วงเวลานั้นดูเหมือนว่า Miles กำลังสนใจในเสน่ห์ของเครื่องดนตรีไฟฟ้าเป็นอย่างมากและอีกทั้งเขายังได้มีโอกาสที่สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางดนตรีกับ Jimi Hendrix เลยทำให้เขาสนใจในดนตรีร็อกเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเห็นโอกาสที่จะทดลองเช่นนี้ Miles ไม่รอช้าแต่อย่างใด เขาตัดสินใจทิ้งเครื่องดนตรีอย่างดับเบิ้ลเบสหรือเปียโน เพื่อนำเอาเครื่องดนตรีอย่างเบสไฟฟ้าหรือคีย์บอร์ดและเขายังนำเอากีต้าร์ไฟฟ้าเข้ามาใช้ในงานด้วย

ผลงานของ Miles ในครั้งนี้เขากลับมาพร้อมกลับการทิ้งจังหวะสวิงหรือเพลงที่ต้องมีคอร์ดที่เปลี่ยนอย่างมากมาย เขามาใช้คอร์ดเพียงไม่กี่คอร์ดและเปิดอิสระให้กับนักดนตรีอย่างเต็มที่โดยไม่ปิดกั้นแต่อย่างใด และเขาได้นำเอาจังหวะของร็อกมาใช้อย่างเต็มตัวจนทำให้เกิดอัลบัมชุดประวัติศาสตร์ขึ้นมาไม่ว่าจะเป็น In The Silent Way , Britches Brew เป็นต้น สองชุดนี้อาจเรียกว่าเป็นอัลบัมที่กำเนิดแนว Fusion Jazz อย่างแท้จริงก็ว่าได้ โดยครั้งนี้ Miles ได้รวบรวมลูกทีมขึ้นมาใหม่ไม่ว่าจะเป็น Wayne Shorter , Joe Zawinul , Chick Corea ,John McLaughlin ,Herbie Hancock และ Michael Brecker และอีกมากมาย (ภายหลังนักดนตรีเหล่านี้เป็นผู้นำความคิดของ Miles ไปต่อยอดในแนวทางของตนอย่างมากมาย)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่ Miles ทำเช่นนี้ก็เกิดความไม่พอใจให้กับนักดนตรีหัวโบราณอีกมากมาย พวกเขาเหล่านั้นสาปแช่งและดูถูก Miles อย่างรังเกียจ ทุกคนต่างประณาม Miles ว่าเขาเป็นตัวทำลายความสวยงามของดนตรีแจ็สที่เคยมีอยู่ลงอย่างสิ้นเชิง แต่ทุกคนหารู้ไม่ว่ากระแสแนวเพลงหลักอีกหนึ่งสไตล์ของแจ็สกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว และแม้ว่าจะมีคนเกลียดมากเท่าไหร่ในทางกลับกันก็มีคนชอบมากขึ้นเท่านั้นเช่นกัน Fusion Jazz ของ Miles เป็นที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่นักศึกษาและเหล่าคนฟังเพลงร็อกและยังมีแฟนเพลงเก่าๆยังคงติดตามผลงานของเขาอย่างไม่ขาดสาย

 

Smooth & Contemporary Jazz (1980)

ในขณะที่ Miles กำลังประดิษฐ์คิดค้นเส้นทางเดินทางดนตรีในชั้นเชิงศิลปะของเขาอย่างไม่มีมีวันจบสิ้น ในมุมหนึ่งก็ยังมีนัดนตรีที่คิดว่าดนตรีแจ็สน่าจะถูกขยายฐานลงมาในวงกว้างขึ้นและแจ็สน่าจะเข้าไปถึงคนที่ฟังดนตรีป็อปต่างๆอีกด้วย

โดยแจ็สในรูปแบบนี้ออกจะทำรายได้ในการขายทางการตลาดได้เป็นอย่างดี แจ็สแบบนี้เป็นดนตรีที่ฟังง่ายสบายๆมีการเรียบเรียงเพลงมาเป็นอย่างดี มีริทึ่มที่ไม่ซับซ้อนจนเกินไป บางครั้งมีการนำจังหวะของโซลและฟั้งกี้มาผสมและเมโลดีแบบเพลงป็อป แต่แจ็สในรูปแบบนี้ก็ยังคงได้รับแรงบัลดาลใจจากแนว Fusion Jazz อยู่

โดยความดีความชอบในครั้งนี้น่าจะยกผลประโยชน์ให้กับ Dave Grusin ผู้ซึ่งเป็นมือเปียโนฝีมือดีอีกคน เขาได้ร่วมกับ Larry Rosen ผู้ซึ่งมีความสนใจในด้านการบันทึกเสียงหรืออาจเรียกว่าซาวด์เอนจิเนียร์ก็ได้ โดยทั้งคู่ได้ก่อตั้งค่ายเพลงในแนว Smooth & Contemporary Jazz ขึ้น โดยตั้งชื่อว่า GRP นั่นเอง และยังมีค่ายเพลงในสไตล์นี้เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย

แนวเพลงในสไตล์นี้เป็นที่นิยมกันนอย่างมากใน L.A และนักดนตรีที่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลานี้ก็มี Chuck Mangione, John Klemmer, Earl Klugh, Spyro Gyra , George Benson , Lee Ritenour ,Larry Carlton , Bob James เป็นต้น

Jazz In Present Day

หากมองย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่าแจ็สเป็นดนตรีที่มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับและต่อเนื่องและถูกแยกออกเป็นหลากหลายแขนง ปัจจุบันดนตรีแจ็สในแต่ละแนวก็ยังคงมีการพัฒนาการต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อนอีกทั้งยังมีนักดนตรีแจ็สหน้าใหม่ฝีมือดีเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย โดยแต่ละคนต่างก็กำลังคนหาแนวทางใหม่ๆของตนอยู่ แจ็สในแต่ละสไตล์ที่มีมาทั้งหมดในอดีตนั้น ในปัจจุบันก็มีนักดนตรีรุ่นใหม่ๆอนุรักษ์ไว้

และไม่ว่าในอนาคตจะผ่านไปอีกกี่สิบปีดนตรีแจ็สก็ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท้าจะสูญสิ้นผู้สืบต่อแต่อย่างใดและแจ็สยังคงที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองกับดนตรีแนวต่างๆได้ตลอดเวลา อย่างดนตรีในแนวดรัมแอนด์เบสหรือชิลเอาด์ที่ฮิตในปัจจุบันก็มีนักดนตรีอย่าง Miles เคยทำมาแล้วในยุค 80 ตอนปลายย่างเข้า 90 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าแจ็สสามารถเข้าไปอยู่ได้ทุกที่

อย่างไรก็ตามไม่ว่าแจ็สจะมีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ก็คงไม่อาจมีผลต่อคนที่รักและชอบแจ็สแต่อย่างใดแน่นอน และไม่ว่าแจ็สในอนาคตจะออกมาเป็นอย่างใดเราก็คงต้องรอดูกันต่อไป


any comments, please e-mail   guitarthai@gmail.com (นายดู๋ดี๋)
© All rights reserved 1999 - 2015. All contents in this web site are the properties of www.guitarthai.com and Saratoon Suttaket